READING

ลงรูปลูกในโซเชียลอย่างไรให้ปลอดภัย...

ลงรูปลูกในโซเชียลอย่างไรให้ปลอดภัย

โซเชียล

ในยุคที่เราต่างอยากแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตตัวเองให้คนอื่นรับรู้ และอยากรวบรวมรูปภาพเก็บไว้ความทรงจำให้กลับมาสืบค้นเรื่องราวของตัวเองได้ ซึ่ง โซเชียล มีเดียก็เป็นเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้

หลายครอบครัว พอมีลูก ก็อดไม่ได้ที่จะบันทึกช่วงเวลาดีๆ ของลูกเอาไว้ใน โซเชียล ฯ ลูกยิ้มครั้งแรก เดินครั้งแรก ลูกไปโรงเรียนวันแรก ยังไม่รวมภาพและคลิปวิดีโอเวลาที่ลูกทำอะไรน่ารัก เราก็อยากที่จะบันทึกและแบ่งปันให้คนอื่นได้เห็น แต่ความเป็นจริงแล้ว โซเชียลมีเดียก็ไม่ได้ใจดีกับเราขนาดนั้น

ปัจจุบันมีเด็กและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการโพสต์รูปและเรื่องราวของลูกลงในโซเชียลมีเดียไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจมีผลต่อความปลอดภัยของลูก ถูกนำรูปไปใช้เป็นสื่อลามกอนาจาร และล่วงละเมิด รวมถึงอาจกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อลูกโตพอที่จะรู้สึกอับอาย เมื่อเห็นภาพตัวเองที่คุณพ่อคุณแม่เคยเผยแพร่ในอดีต

แล้วขอบเขตความเหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถโพสต์รูปน่ารักๆ ของลูกลงโซเชียลมีเดียคืออะไร และโพสต์อย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกน้อย เรามีวิธีมาบอกค่ะ

1. ตั้งค่าความส่วนตัวมากที่สุด

ตั้งค่าส่วนตัว

หากต้องการโพสต์รูปลูกเพื่อแบ่งปันความทรงจำระหว่างญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะตั้งค่าความส่วนตัวให้รูปหรือคลิปวิดีโอนั้นๆ เช่น อนุญาตให้กลุ่มญาติเท่านั้นที่มองเห็น และไม่สามารถแชร์ต่อได้ หรือตั้งค่าตรวจสอบการแท็กรูปภาพจากคนอื่น รวมถึงบอกญาติ พี่น้องคนรู้จัก ว่าหากถ่ายรูปลูกของตน ต้องขออนุญาตก่อนนำไปเผยแพร่เสมอ

2. ปิดข้อมูลที่สืบค้นได้จากรูปถ่าย

ปิดข้อมูล

ปัจจุบันแอปลิเคชันถ่ายรูปสามารถบันทึกทั้งสถานที่ วันที่ และเวลาที่ถ่ายภาพได้ หากไม่ระวัง รูปเหล่านั้นก็จะเป็นเครื่องมือที่ใช้บอกตัวตนและที่อยู่ของลูกได้เป็นอย่างดี

ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรปิดการบันทึกข้อมูลจากรูปถ่าย และไม่โพสต์รูปลูกในเวลาที่ลูกยังอยู่ในสถานที่นั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงตัวลูกได้

3. ตรวจสอบภาพที่จะลงหลายๆ ครั้ง

ตรวจสอบ

ก่อนจะโพสต์ภาพอะไรก็ตามทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจสอบรูปภาพให้ดีก่อนเสมอ ว่าเหมาะสมที่จะโพสต์หรือไม่ มีความเสี่ยงหรือจะส่งผลต่อลูกในอนาคตหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น เช่น รูปชุดนักเรียน หรือ สมุด หนังสือเรียนที่มีชื่อ นามสกุล และชื่อโรงเรียนของลูก และรูปที่อาจทำให้ลูกอับอายในอนาคต เช่น รูปตอนอาบน้ำ รูปร้องไห้งอแง หรือแม้แต่รูปลูกตอนเล่น ตอนเผลอ ก็ควรตรวจสอบให้รอบคอบก่อนทุกครั้ง

4. ขออนุญาตลูกก่อนโพสต์ทุกครั้ง

ขออนุญาต

เมื่อลูกโตพอที่จะพูดคุยและตัดสินใจเองได้แล้ว ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะนำรูปถ่ายของลูกมาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ควรขออนุญาตลูกและถามความสมัครใจจากลูก เช่น ให้ลูกช่วยเลือกรูปที่ตัวเองพอใจให้เผยแพร่ หรือช่วยคิด แคปชั่นก็ยังได้ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เคารพในตัวเขา และตัวเองย่อมต้องมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องตัวเองอีกด้วย

อ้างอิง
verywellfamily
kaspersky
vox

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST