READING

ลอยกระทงอย่างไร ให้ลูกสนุกและพ่อแม่สบายใจ เรื่อง...

ลอยกระทงอย่างไร ให้ลูกสนุกและพ่อแม่สบายใจ เรื่องความปลอดภัยของลูก

ลอยกระทงเป็นเทศกาลที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเจ้าตัวเล็กของคุณไม่น้อย แสงสีเสียงของพลุที่สร้างความครึกครื้นให้คืนวันลอยกระทงไม่เงียบเหงา และการได้เห็นกระทงลอยไปตามสายน้ำ คงเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เด็กๆ ประทับใจไปได้อีกนาน

 

แต่ในขณะเดียวกัน งานลอยกระทงที่จัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ก็จัดเป็นงานรื่นเริงที่เต็มไปด้วยผู้คน สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งต้องระวัง และดูแลลูกของเรามากเป็นพิเศษ

ลอยกระทงปีนี้ ถ้าอยากให้ลูกสนุก พ่อแม่สบายใจหายห่วงลูก ลองปฏิบัติตามข้อแนะนำที่เรานำมาฝากกันค่ะ

1. เตรียมความพร้อม และอย่าปล่อยลูกคลาดสายตา

Loykratong_web_1

ยิ่งคนเยอะ ยิ่งเสี่ยงต่อการพลัดหลง ก่อนออกจากบ้าน พ่อแม่ควรพูดคุยทำข้อตกลงกันก่อน ว่าห้ามลูกเดินไปไหนโดยไม่มีพ่อหรือแม่ไปด้วย และเขียนชื่อพ่อแม่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อใส่กระดาษใบเล็กๆ พับใส่กระเป๋าลูกไว้

คุณพ่อคุณแม่อาจทำการซักซ้อม ว่าถ้าเกิดการพลัดหลงกันจริงๆ ลูกจะต้องเดินไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหาจุดประชาสัมพันธ์ในงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยติดต่อผู้ปกครองให้

2. ยิ่งลูกอยู่ใกล้แม่น้ำ ยิ่งต้องจับไว้แน่นๆ

Loykratong_web_2

ช่วงลอยกระทงทีไร มักจะมีข่าวอุบัติเหตุทางน้ำเกิดขึ้นกับเด็กๆ เสมอ ดังนั้น พ่อแม่ควรเลือกสถานที่ที่จะอนุญาตให้ลูกเข้าไปลอยกระทงให้ดี หากเป็นท่าน้ำหรือโป๊ะเรือ ก็ควรมีความแข็งแรง มีที่กั้นป้องกันการพลัดตกน้ำแน่นหนา มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน

3. สวมเสื้อแขนยาวกันสะเก็ดประทัด

Loykratong_web_3

ก่อนออกจากบ้าน ให้เอาเสื้อแขนยาวลูกติดตัวไปสักตัวนึง เอาไว้ให้ลูกใส่เผื่ออากาศเย็นจะได้ไม่เป็นหวัด และป้องกันลูกจากสะเก็ดประทัด ไอระเหยของสารเคมีอันตรายจากประทัด ที่อาจทำลูกระคายเคืองผิวหนังได้

4. พกหน้ากากอนามัยไปด้วย

Loykratong_web_4

ผู้ใหญ่ที่เคยไปงานลอยกระทงคงรู้ดี ว่ากลิ่นบรรยากาศงานลอยกระทงไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็น มันอบอวลไปด้วยกลิ่นเผาไหม้ของประทัด กลิ่นเหม็นฉุนเหล่านี้มาจากสารเคมีอันตราย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของประทัดและดอกไม้ไฟ เช่น ผงกำมะถัน สารประกอบไนเตรต เชลแล็ก (Shellac) หากสูดดมเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

5. เอาที่อุดหูติดไปเผื่อ

Loykratong_web_5

เด็กเล็กอาจไม่สนุกกับเสียงของพลุหรือประทัดที่ดังเกินไป เพราะระดับเสียงดังที่เด็กรับไหวคือช่วง 80 เดซิเบล แต่เสียงพลุและประทัดมีระดับเสียงดังถึง 140 เดซิเบล ซึ่งส่งผลให้เด็กหูอื้อหรือหูดับได้ ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมที่อุดหูให้ลูกไปด้วยจะดีกว่า

 

 

 

อ้างอิง
Parents One
Kapook
TCIJ
PPTV HD
ไทยรัฐ

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST