อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเวลา โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังไม่รู้จักวิธีระวังตัวและป้องกันตัวเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจมน้ำ อุบัติเหตุเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ การถูกลักพาตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักสิ่งที่อาจเป็นอันตราย และรู้วิธีที่จะป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ
เด็กอายุระหว่าง 4-6 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกเข้าใจอันตรายที่เกิดจากคนแปลกหน้า ควรสอนให้ลูกปฏิเสธการสัมผัสหรือแตะต้องตัวลูกอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงสามารถสอนให้ลูกระมัดระวังอันตรายและรู้จักวิธีใช้ของใช้ในบ้าน เช่น ของมีคม ของร้อน และอุปกรณ์ไฟฟ้า
ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-7 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ยกตัวอย่างเช่น วิธีการเอาตัวรอดเบื้องต้นเมื่อตกน้ำ การสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งเมื่อเดินทางด้วยยานพาหนะทางน้ำ และไม่ลงน้ำหากไม่อยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำเป็น
ในขณะที่เด็กที่มีอายุระหว่าง 10-12 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกดูแลตัวเองเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียว การติดต่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจและเพื่อนบ้าน
M.O.M รวบรวมเทคนิคการสอนลูกให้เข้าใจ และใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท แต่ทั้งหมดคุณพ่อคุณแม่สามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมและพร้อมของลูกได้ ดังนี้
1. สอนให้ลูกเข้าใจความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและรอบบ้านให้ปลอดภัย อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านป้องกันภัยอะไรได้บ้าง เช่น รั้วบ้านมีไว้ทำไม ทำไมจึงต้องติดเครื่องดับเพลิงไว้ในบ้าน
รวมถึงสอนให้ลูกดูป้ายสัญลักษณ์ที่บอกความปลอดภัยและอันตราย เช่น ป้ายทางหนีไฟ ป้ายเขตห้ามเข้า ป้ายระวังไฟฟ้าแรงสูง ป้ายของวัตถุไวไฟ ป้ายกะโหลกไขว้ ป้ายบอกพื้นที่อันตราย ป้ายระวังลื่น รวมทั้งอันตรายจากไฟฟ้า เช่น เมื่อมือเปียกไม่ควรจับปลั๊กไฟ ไม่ควรนำโลหะหรือลวดไปเสียบรูปลั๊กไฟ เป็นต้น
2. ตั้งกติกา เพื่อความปลอดภัยของลูก
ยกตัวอย่างเช่น กติกาในการเดินทาง คือลูกต้องนั่งคาร์ซีตทุกครั้งเมื่อขึ้นรถ ไม่ให้ยื่นมือหรือส่วนของร่างกายออกนอกรถ ไม่รบกวนคนขับรถ และไม่ลงจากรถก่อนรถจอดสนิท รวมถึงสอนลูกให้มองซ้าย มองขวา แล้วมองซ้ายอีกที และต้องจับมือผู้ใหญ่ทุกครั้งที่ข้ามถนน รวมถึงไม่เล่นกับเพื่อน เมื่อเดินหรือยืนอยู่ริมถนนที่มีรถวิ่งผ่าน
3. สอนลูกให้แก้ไขปัญหาเมื่อพลัดหลงกับคุณพ่อคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกจำเบอร์โทรศัพท์มือถือของคุณหรือญาติสนิทที่ติดต่อได้ มีป้ายชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ใส่ไว้ในกระเป๋าหรือให้ลูกพกติกตัว และสอนลูกว่าเมื่อพลัดหลงกัน ลูกควรขอความช่วยเหลือจากใคร เช่น เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงพูดคุยกับลูกว่าจะทำอย่างไรเมื่อเจอเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น ไฟไหม้ หรือมีคนทะเลาะวิวาท
และที่สำคัญคือสอนลูกให้ระวังและเอาตัวรอดจากคนแปลกหน้าที่ไม่หวังดี ด้วยการทดลองสร้างสถานการณ์สมมติ ชวนให้ลูกคิดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ลูกจะทำอย่างไร และทางที่ดีลูกควรทำอย่างไร
4. สอนลูกให้รู้จักประเภทของสัตว์
สอนให้ลูกรู้จักสัตว์แต่ละประเภท ทั้งวิธีการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง และการปฏิบัติต่อสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่อาจเป็นอันตรายต่อลูก เช่น สุนัขจรจัด หรือแมลงต่างๆ
5. สอนลูกให้รู้จักความปลอดภัย ระหว่างการอยู่กับพ่อแม่และการอยู่กับคนอื่นแตกต่างกัน
ให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่ออยู่กับคนอื่น ที่ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น แม้จะเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม
6. สอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเองในภาวะฉุกเฉิน
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกฝึกทักษะการป้องกันตัว โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงสอนให้รู้จักจุดสำคัญ หรือจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น จุดอ่อนที่ของผู้ชายที่จะเข้ามาล่วงเกิน
นอกจากนี้ควรวางแผนให้ลูกขอความช่วยเหลือ อาจสมมติสถานการณ์ หรือยกตัวอย่างสถานการณ์เพื่อฝึกให้ลูกหัดคิดและวางแผนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง สอนให้ลูกใช้เสียงขอความช่วยเหรือ หรือสร้างความสนใจจากคนรอบข้าง แทนที่จะนิ่งเงียบเมื่อเกิดอันตรายกับตัว
7. คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกคลาดสายตา
เพราะอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง มีสาเหตุมาจากความประมาทของคุณพ่อคุณแม่ ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่มัวแต่ดูโทรทัศน์และปล่อยให้ลูกคลานคลาดสายตา
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการป้องกันอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูก ด้วยการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำรวจทุกพื้นที่ในบ้านว่ามีบริเวณใดในบ้านที่ยังไม่ปลอดภัยสำหรับลูกหรือไม่ รวมทั้งสื่อสารกับลูกถึงความปลอดภัยในโรงเรียน สนามเด็กเล่นเป็นอย่างไร มีมุมอันตรายอะไรบ้าง โรงเรียนมีซ้อมวิธีหนีไฟหรือไม่ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขได้
8. สอนลูกให้ดูแลตนเองและไม่ประมาท
อันตรายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น จากคนแปลกหน้า สถานที่อันตราย ภัยธรรมชาติ การใช้ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย เช่น ไม่ไปไหนกับคนแปลกหน้า ไม่เล่นริมน้ำ ไม่เล่นไม้ขีดไฟ สอนลูกให้ใช้บันไดฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ เมื่อเกิดไฟไหม้ รวมทั้งสอนให้ลูกรู้วิธีการปลดล็อกรถยนต์ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ลูกติดอยู่ในรถ
ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าลูกจะเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน แต่ในที่สุดลูกจะสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น และตื่นตัวกับภัยอันตรายใกล้ตัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST