READING

เลี้ยงลูกแบบซาเทียร์ (Satir’s Model) : 5 รูป...

เลี้ยงลูกแบบซาเทียร์ (Satir’s Model) : 5 รูปแบบการเลี้ยงลูกฉบับนักจิตบำบัด ที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

เลี้ยงลูกแบบซาเทียร์

เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักจิตบำบัดและนักพัฒนาครอบครัวชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการบำบัดครอบครัว (Family Therapy) และการพัฒนาแนวทางการสื่อสารในครอบครัว เธอเชื่อว่าปัญหาทางจิตใจหลายอย่างมาจากรูปแบบความสัมพันธ์และการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมภายในครอบครัว

เลี้ยงลูกแบบซาเทียร์ เกิดจากการที่ซาเทียร์มองว่าการเติบโตของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง การเลี้ยงดูแบบเข้าใจและเคารพในตัวตนของแต่ละคนจะช่วยให้คนในครอบครัวเติบโตอย่างสมดุล แนวคิดสำคัญของเธอคือการสร้างความสัมพันธ์ที่เปิดกว้าง อบอุ่น และปลอดภัย ซึ่งช่วยให้แต่ละคนมีพื้นที่ในการแสดงความรู้สึกและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

Satir’s Model หรือ การ เลี้ยงลูกแบบซาเทียร์ จึงเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การยอมรับตัวตน และการส่งเสริมความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ซึ่งเชื่อว่าความอบอุ่นและความเข้าใจภายในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก

แนวทางนี้เหมาะกับการเลี้ยงลูกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความกดดัน และการแข่งขันในสังคม เพราะเป็นการเลี้ยงที่เน้นให้ลูกเติบโตด้วยพื้นฐานอารมณ์มั่นคง มีทักษะการสื่อสารที่ดี และรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร เราสรุปหลักการและแนวคิดที่สนใจมาให้ ดังนี้

1. การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์

SatirModel_web_1

• คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกอย่างเปิดเผยและจริงใจ: หมายถึงการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ไม่ซ่อนความรู้สึก เช่น แทนที่จะพูดว่า “ทำไมลูกไม่ช่วยแม่บ้าง” ลองเปลี่ยนเป็น “วันนี้แม่เหนื่อยมากถ้าลูกช่วยแม่สักหน่อยก็จะดีมาก”

• คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบ: ไม่ควรใช้คำที่ดูถูกหรือประชดประชัน เช่น “ลูกทำอะไรช้าแบบนี้ จะไปสู้คนอื่นได้ยังไง” เพราะนั่นเป็นการทำลายความมั่นใจในตัวลูกมากเลยทีเดียว

• คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น: เพื่อฝึกให้ลูกกล้าพูดและแสดงความคิดของตัวเองโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินตลอดเวลา

2. การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem)

SatirModel_web_2

• คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมในความพยายามของลูก: ให้ลูกเห็นว่าความพยายามมีค่า แม้ผลลัพธ์จะไม่สมบูรณ์ เช่น “แม่ภูมิใจตั้งแต่ที่เห็นว่าลูกตั้งใจอ่านหนังสือแล้วค่ะ”

• ยอมรับความผิดพลาดของลูกอย่างเข้าใจ: คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้ว่าความผิดพลาดคือโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ และคุณพ่อคุณแม่พร้อมจะเข้าใจในความผิดพลาดของลูกเสมอ

• สอนให้ลูกเห็นว่าตัวเองมีคุณค่า: หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับผู้อื่น และแสดงให้ลูกเห็นว่าไม่ว่าจะอย่างไร ลูกก็เป็นคนสำคัญของครอบครัวเสมอ

3. การยอมรับและเคารพตัวตนของลูก

SatirModel_web_3

• เข้าใจความแตกต่างของลูกทุกคน: เด็กแต่ละคนมีความชอบ ความถนัด และบุคลิกส่วนตัวที่ต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจและปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูให้เหมาะกับลูกแต่ละคน เช่น ถ้าลูกชอบศิลปะ ให้ส่งเสริมความสนใจด้านศิลปะ แม้ว่าลูกจะเล่นกีฬาไม่เก่งเท่าคนอื่น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ต้องบีบบังคับลูกเลยค่ะ

• หลีกเลี่ยงการคาดหวังเกินจริง: อย่าคาดหวังหรือกดดันให้ลูกต้องเป็นในแบบที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ

• สนับสนุนการแสดงความเป็นตัวเอง: ให้ลูกมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เช่น เลือกเสื้อผ้าหรือกิจกรรมที่อยากทำด้วยตัวเอง

4. การแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือ

SatirModel_web_4

• มองปัญหาเป็นโอกาสเรียนรู้: เมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว ให้ทุกคนช่วยกันพูดคุยและเสนอวิธีแก้ไข แทนการหาคนผิด เช่น หากลูกทำของพัง ลองถามว่า “เราควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก”

• เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ: สร้างบรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกว่าความเห็นของตนมีความหมาย เช่น หากจะไปเที่ยว ให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผน

• ส่งเสริมการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง: แทนที่จะบอกวิธีหรือเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งคำถามชวนให้ลูกคิด เช่น “ลูกคิดว่าวิธีไหนดีที่สุดในสถานการณ์นี้”

5. การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย

SatirModel_web_5

• สร้างความไว้วางใจในครอบครัว: ลูกต้องรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังและเข้าใจเสมอ ไม่ว่าเขาจะเจอปัญหาอะไร

• ให้พื้นที่ในการแสดงความรู้สึก: สอนลูกให้บอกความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ โดยไม่ต้องกลัวการถูกตำหนิ เช่น “ลูกบอกแม่ได้นะว่ารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้”

• จัดเวลาให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน: เช่น กินข้าวพร้อมหน้าหรือทำกิจกรรมเล็กๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และความรู้สึกปลอดภัยทางใจ

อ่านบทความ: 4 วิธีซ่อมแซมและดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว
อ้างอิง
psychologytoday

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST