READING

สอนลูกพูดขอบคุณ: เทคนิคสอนลูกรักให้รู้จักขอบคุณ ตา...

สอนลูกพูดขอบคุณ: เทคนิคสอนลูกรักให้รู้จักขอบคุณ ตามช่วงวัย

สอนลูกพูดขอบคุณ

พอลูกเริ่มพูดจาสื่อสาร และบอกความต้องการของตัวเองได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลืมก็คือ สอนลูกพูดขอบคุณ เมื่อได้รับสิ่งของหรือความช่วยเหลือจากคนอื่น

Dr. Terrie Rose นักจิตวิทยาเด็กและผู้ก่อตั้ง Baby’s Space ระบุว่า การสอนลูกให้รู้จักพูด ขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพราะแต่ละช่วงวัยของลูก มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนาการและความคิดอยู่เสมอ

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักพูดขอบคุณได้ ตั้งแต่ช่วงวัยหัดเดินหรือหัดพูดเป็นต้นไป และสิ่งสำคัญก็คือการสอนให้ลูกเรียนรู้การขอบคุณจากใจจริง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีฝึกและสอนให้เหมาะสมตามช่วงวัยของลูก ดังนี้

1. วัยหัดเดินและหัดพูด: เรียนรู้ผ่านแบบอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่

สอนลูกพูดขอบคุณ

#ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกพูด ‘ขอบคุณ’ ได้ด้วยการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น เมื่อลูกยื่นของให้ คุณพ่อคุณแม่จะรับของและพูดขอบคุณลูกทุกครั้ง

รวมทั้งการพูดขอบคุณในสถานการณ์อื่นๆ ให้ลูกได้เห็นและได้ยินอยู่เสมอ ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะทำตามคุณพ่อคุณแม่ และสามารถเลือกพูดขอบคุณในสถานการณ์ที่เหมาะสมได้

2. วัยก่อนเข้าเรียน: ชื่นชมและกระตุ้นให้ลูกพูดขอบคุณเสมอ

สอนลูกพูดขอบคุณ

#กระตุ้นลูกด้วยคำชื่นชม เมื่อลูกเริ่มสื่อสารได้ บอกความต้องการของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกพูดขอบคุณได้ด้วยคำพูดเชิงบวก เช่น ลูกช่วยหยิบจานให้คุณแม่ได้ไหมคะ แล้วตามด้วยการขอบคุณลูก หรือจะลองใช้การขอบคุณและคำชม เพื่อบอกให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ประทับใจสิ่งที่ลูกทำ เช่น วันนี้แม่ขอบคุณที่ลูกช่วยทำงานบ้านมากเลยนะคะ

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้วิธี #ตักเตือนอย่างนุ่มนวล เมื่อลูกปฏิเสธที่จะขอบคุณคนอื่น เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกอับอาย และต่อต้านที่จะขอบคุณคนอื่นต่อไป

3. วัยอนุบาล: ชวนลูกแสดงคำว่าขอบคุณอย่างสร้างสรรค์

สอนลูกพูดขอบคุณ

เมื่อพูดถึงมารยาทและการขอบคุณอย่างจริงใจ หลายคนอาจนึกถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ที่เริ่มปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก

เช่นเดียวกับการสอนเรื่องการขอบคุณ ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นมักจะสอนให้ลูกรู้จัก #ขอบคุณด้วยความจริงใจ ด้วยการสอนว่า เวลาที่ลูกจะพูดขอบคุณ ลูกต้องสบตา พูดด้วยเสียงดังฟังชัด และมีรอยยิ้ม รอยยิ้มที่มาจากหัวใจของลูกและลูกจะต้องรู้สึกอย่างนั้นด้วย เมื่อลูกรู้สึกจากใจ ผู้รับก็จะรู้สึกเช่นกัน’

นอกจากขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งดีๆ หรือการช่วยเหลือในชีวิตประจำวันแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมการขอบคุณอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อแสดงการขอบคุณทุกคนและทุกอย่างที่มีส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดอาหารมื้อนี้ ตั้งแต่ชาวนา เกษตรกร ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ รวมถึงขอบคุณวัตถุดิบต่างๆ ที่สำคัญเป็นการขอบคุณคนปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแม่ครัวหรือคุณแม่ก็ตามการปลูกฝังนิสัยให้ลูกรู้จักขอบคุณ นอกจากจะช่วยสร้างมารยาทที่ดีให้กับลูกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน และเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกด้วย

นอกจากพูดขอบคุณแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำให้ลูก #ขอบคุณด้วยวิธีสร้างสรรค์ อื่นๆ เช่น ชวนลูกประดิษฐ์การ์ดทำมือ หรือทำขนมโฮมเมด ให้เพื่อนและคุณครูที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกอยู่เสมอ

4. วัยประถมขึ้นไป: แนะนำให้ลูกเห็นคุณค่าของคำว่าขอบคุณ

สอนลูกพูดขอบคุณ

#สมุดบันทึกการขอบคุณ Dr. Martin Seligman บิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก มีคำแนะนำและหลักปฏิบัติง่ายๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และลูกได้เรียนรู้คำว่าขอบคุณอย่างมีคุณค่าต่อตัวเองได้มากขึ้น ด้วย ‘สมุดบันทึกก่อนนอน’ ฝึกให้ลูกเขียนคำสั้นๆ สามสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยดี หรือสิ่งที่รู้สึกขอบคุณลงไปในแต่ละวัน

ในช่วงแรก ลูกอาจจะยังเขียนไม่คล่อง คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นผู้ฟังและช่วยลูกเขียนได้ ด้วยการกระตุ้นให้ลูกตอบ ผ่านคำถามสนุกๆ เช่น เมื่อมีคนใจดีทำบางอย่างให้เป็นพิเศษ ให้ถามว่า ตอนนี้หัวใจของลูกพูดว่าอะไรเมื่อลูกเริ่มเขียน หรือเรียบเรียงประโยคได้ดีขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกได้บันทึกความรู้สึกเหล่านั้นด้วยตัวเอง เพื่อสร้างแบบฝึกหัดการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองนอกจากนี้การแสดงความขอบคุณเป็นประจำ จะยิ่งส่งเสริมให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจคนอื่นได้ดี มองโลกในแง่ดีมากขึ้น รู้จักปล่อยวาง และยังส่งผลที่ดีต่อการใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป

อ้างอิง
medium.com
krua
Thai PBS

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST