READING

ภาษาลับของลูกน้อย เด็กอยากสื่อความหมายอะไรกับเรา...

ภาษาลับของลูกน้อย เด็กอยากสื่อความหมายอะไรกับเรา

เด็กน้อยในวัยเริ่มเดินเตาะแตะ จะเริ่มมีท่าทางและพฤติกรรมเข้าใจยากหลายอย่าง ชวนให้คุณพ่อคุณแม่ต้องมาไขรหัสลับกันอยู่เสมอ ลองมาสังเกตภาษากายของเด็กๆ ดูว่าที่หนูทำอย่างนี้ มันแปลว่าอะไรกันนะ…

1 .

ลูกหลบตา: แปลว่า หนูเขิน

kids_language_1

เมื่อเด็กหลีกเลี่ยงการมองสบตา แปลว่าพวกเขาอยากพักผ่อนและไม่อยากเป็นจุดสนใจ แต่หลังจากสองขวบขึ้นไป เป็นไปได้ว่าเด็กๆ เริ่มมีอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เช่น ความเขินอาย กระอักกระอ่วน หรือลำบากใจ

“สมมติ เด็กรู้ว่าคุณโกรธ เพราะเธอไปแย่งตุ๊กตาของน้องชายมาอีกแล้ว ถ้าเด็กน้อยหลบตาคุณ แปลว่าเขารู้ว่าการกระทำของเขาทำให้คุณผิดหวัง” Dr. Kristin Lagattuta นักจิตวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำศูนย์จิตใจและสมอง แห่ง California University กล่าวไว้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

บอกให้เขารู้ถึงความผิดของตัวเองด้วยประโยคสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ เช่น “เราไม่ควรทำอย่างนั้น” และสอนวิธีแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำลงไป

2 .

ลูกอยากจะหยิบของเล่นทุกชิ้นไปนอนบนเตียงด้วย:
แปลว่า หนูกลัว

kids_language_2

วันดีคืนดี เจ้าตัวน้อยก็เกิดอยากจะหอบของเล่นต่างๆ ขึ้นไปนอนด้วยกันบนเตียง พฤติกรรมนี้ Kerstin Potter ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาปฐมวัยแห่ง Harcum University ในรัฐเพนซิลวาเนีย บอกไว้ว่า “นี่คือวัยที่เด็กเริ่มมีจินตนาการ พวกเขาจะเริ่มฝันร้าย หรือคิดว่าในตู้เสื้อผ้ามีสัตว์ประหลาดซ่อนอยู่ ดังนั้น ข้าวของที่ตัวเองคุ้นเคยจะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยในช่วงที่กำลังจะหลับหรือตื่นในยามเช้า”

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

เมื่อเด็กจินตนาการว่าโลกนี้มีสัตว์ประหลาดอยู่จริง การที่ผู้ใหญ่พยายามทำให้เห็นว่าในตู้เสื้อผ้าไม่มีสัตว์ประหลาดอยู่นั้น ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเด็กๆ จะคิดว่า พวกเรามองไม่เห็นสัตว์ประหลาดอย่างเขาหรอก… ดังนั้น ปล่อยให้สิ่งของที่ลูกคุ้นเคยอยู่เป็นเพื่อนเขาไปเถอะ แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้เขาเลือกของชิ้นที่สำคัญจริงๆ สัก 2-3 ชิ้นก็พอ

3 .

ลูกยกเสื้อขึ้นมาคลุมศีรษะเมื่อเจอคนแปลกหน้า:
แปลว่า หนูเริ่มกังวลแล้วล่ะ

kids_language_3

ลองนึกถึงตัวเองเวลาที่ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่ไม่คุ้นเคย เด็กๆ ก็มีสถานการณ์แบบนี้ แต่พวกเขาไม่รู้จะกลบเกลื่อนความรู้สึกนั้นได้ยังไง

Lisa Nalven กุมารแพทย์พัฒนาการประจำ Valley Center ในรัฐนิวเจอร์ซีย์บอกไว้ว่า “เด็กบางคนอาจจะกัดเสื้อหรือดึงกางเกงของตัวเอง ขณะที่บางคนก็อาจจะกอดขาคุณพ่อคุณแม่ ดูดนิ้วโป้ง ลงไปนั่งอยู่กับพื้น หรือซุกหน้าหนีทุกอย่าง”

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

คุณพ่อคุณแม่ควรจะจับมือลูกเอาไว้ ในเวลาที่ยิ้มและพูดทักทายคนแปลกหน้าด้วยความเป็นกันเอง เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมของเขายังปลอดภัยดี

4 .

ลูกเข้าไปแอบเวลาต้องการอึ๊แม้ว่าจะใส่ผ้าอ้อมอยู่ก็เถอะ:
แปลว่า หนูต้องการความเป็นส่วนตัว

kids_language_4

พฤติกรรมนี้ตีความได้สองอย่าง อย่างแรกคือ เด็กๆ รู้ตัวว่าเดี๋ยวจะมีชุดใหญ่ และสองคือเด็กๆ สังเกตได้ว่าผู้ใหญ่ก็มีการเข้าไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ดังนั้น พฤติกรรมนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่าเด็กๆ โตพอที่จะฝึกนั่งโถส้วมแล้ว

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

เชียร์ให้ลูกน้อยเข้าไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ยังไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขานั่งโถก็ได้ เพราะแค่สอนให้เขารู้จักพื้นที่ที่เอาไว้ขับถ่ายก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว

5 .

ลูกกลายร่างเป็นวายร้าย โยนของกิน และทำลายของเล่น:
แปลว่า หนูรู้สึกไม่โอเค

kids_language_5

พฤติกรรมพาลๆ เหล่านี้ เป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่ได้แปลว่านิสัยของลูกจะเปลี่ยนไป เพราะโดยปกติแล้ว การที่เด็กเล็กตีโพยตีพาย หรือทำลายข้าวของนั้น เป็นเพียงการแสดงว่าเขากำลังเบื่อ เหนื่อย หรืออยากให้มีคนมาสนใจตัวเองบ้าง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

เปลี่ยนของเล่นหรือสิ่งแวดล้อม เช่น พาออกไปเดินเล่น แต่เด็กๆ ก็ควรได้เรียนรู้ว่ามีวิธีอื่นๆ ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ ถ้าเขามีพฤติกรรมดังกล่าว อาจทำโทษด้วยการให้เขานั่งเข้ามุมเพื่อสงบสติอารมณ์ (time out) เพื่อให้เขารู้ว่าวิธีร้ายๆ แบบนี้ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

6.

ลูกตีโพยตีพาย ตอนที่คุณหยิบขนมให้:
แปลว่า หนูต้องการเดี๋ยวนี้!

kids_language_6

เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับความใจร้อนที่จะมีชีวิตรอด ต้องกินตอนนี้! เปลี่ยนผ้าอ้อมเดี๋ยวนี้! มาอุ้มตอนนี้! แม้ว่าจะเริ่มโตแต่สมองส่วนหน้าที่ควบคุมการยับยั้งชั่งใจใดๆ ก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่อยู่ดี พวกเขาจึงรอคอยไม่ค่อยเป็น แต่ไม่ต้องห่วง เพราะเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนามันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงวัย 2-7 ปี

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

อย่าเร่งความเร็วในการทำอะไรเพื่อให้ทันกับความต้องการของเด็ก แต่ให้บอกเขาว่าเรากำลังทำทุกอย่างไปตามขั้นตอน เช่น “แม่ทำอาหารใกล้จะเสร็จแล้ว เดี๋ยวแม่ต้องไปล้างมือและเช็ดมือก่อน จึงจะหยิบน้ำส้มให้ลูกได้” เพื่อให้เด็กรู้จักการอดทนรอบ้าง

7.

ลูกร้องโวยวายว่า นี่แม่ของฉันนะ! ตอนที่เด็กคนอื่นเข้าใกล้แม่ของเขา
แปลว่า: สนใจหนูหน่อย!!!

kids_language_7

เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้จักการเรียกร้องและแสดงออกว่า “นี่ของหนู” แม้มันจะดูไม่ค่อยน่ารัก แต่ก็เป็นเรื่องดี เพราะมันแปลว่าเด็กเริ่มรู้จักตัวเอง และรู้ว่าตัวตนของเขาขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเขา ซึ่งก็คือคุณแม่นั่นเอง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ:

กอดลูกและทำให้เขามั่นใจว่าแม่รักหนูเสมอ แม้ว่าแม่จะทักทายหรือเล่นกับเด็กคนอื่นบ้างก็ตาม

ที่มา
Parents

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST