สมองของเด็กในช่วงสามปีแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของลูกได้ดีที่สุด
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ให้เวลาและเห็นความสำคัญของการปลูกฝังให้ลูกได้เรียนรู้ในช่วงวัยนี้ สมองของลูกก็จะสามารถทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกเติบโตอย่างมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัยของตัวเอง
M.O.M จะพาไปรู้จักกับสมองของลูกน้อย เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่หาวิธีให้ลูกรักเติบโตไปพร้อมกับสมองที่มีประสิทธิภาพ
1. สมองเด็ก เริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
สมองของเบบี๋เริ่มพัฒนาหรือมีการสร้างเซลล์สมอง ตั้งแต่สองเดือนแรกในท้องคุณแม่ช่วงอายุครรภ์เข้าเดือนที่ 2-3 ลูกก็สามารถรับรู้รสชาติของน้ำคร่ำได้ พอเดือนที่ 4-6 สมองของลูกก็เริ่มควบคุมการขยับของร่างกายได้เล็กน้อย ซึ่งออกมาในรูปแบบการดิ้นนั่นเอง และช่วงเดือนที่ 7-9 สมองของลูกก็จะเริ่มมีรอยหยัก และสามารถจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้อีกด้วย
2. การสัมผัสช่วยพัฒนาสมองของลูกได้
การสัมผัส การกอด การให้ลูกดูดนม การทำให้ลูกหัวเราะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นให้เซลล์สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการสัมผัสจะไปกระตุ้นให้สมองส่วนไซแนปส์ (Synapse) หรือจุดประสานประสาท ช่วยให้เซลล์ในช่องว่างที่มีอยู่ในสมอง ทำให้เส้นใยประสาทในสมองแตกแขนงเพิ่มมากขึ้น
การเชื่อมต่อของไซแนปส์ (Synapse) สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก เพราะฉะนั้นช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ และสมองสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
3. สมองลูกพัฒนาตามการให้นมแม่
จากการวิจัยของ Lucas A และคณะ (1992) พบว่าการให้นมแม่กับทารกมีผลต่อสมอง โดยเฉพาะในด้านของภาษา ยิ่งให้นมแม่มากเท่าใดสมองของลูกก็จะยิ่งมีพัฒนาการมากขึ้นเท่านั้น
ในน้ำนมแม่อุดมไปด้วยน้ำตาลแล็กโทส (lactose) สูงกว่า เมื่อเทียบกับนมทั่วไป ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสจะไปย่อยไปเป็นน้ำตาลกาแล็กโทส ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองนั่นเอง
4. ความเครียดจะขัดขวางการใช้สมองในการเรียนรู้
เวลาที่เด็กเครียด หรือได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจจนรู้สึกหวาดกลัว อาจแสดงออกด้วยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความฉลาด อารมณ์ และความจำ
เมื่อลูกมีภาวะเครียด ร่างกายจะผลิตสารเคมีที่ชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ซึ่งสารนี้จะทำลายสมองส่วนคอร์เท็กซ์ (cortex) หรือเปลือกสมอง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความฉลาด กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ
ความเครียดเหล่านี้จะส่งผลให้สมองส่วนนี้เล็กลง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกน้อยได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST