READING

ลูกไม่กล้าพูดหรือเป็นภาวะไม่ยอมพูด (Selective Muti...

ลูกไม่กล้าพูดหรือเป็นภาวะไม่ยอมพูด (Selective Mutism) กันแน่!?

ภาวะ Selective Mutism (SM) เป็นภาวะที่อยู่ในกลุ่มของโรควิตกกังวลที่พบได้ในเด็ก อาการคือเด็กที่ปกติพูดได้ แต่จะไม่ยอมพูดในบางสถานการณ์หรือบางสถานที่ เช่น ลูกไม่ยอมพูดกับใครที่โรงเรียน หรือไม่ยอมพูดเมื่ออยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่และคนที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่ออยู่ที่บ้านก็สามารถพูดกับคนในครอบครัวได้ปกติ

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนและการเข้าสังคมของเด็กได้โดยส่วนมาก อาการนี้มักเกิดกับเด็กที่มีลักษณะนิสัยขี้อาย มีพฤติกรรมเก็บกด (Behavioral Inhibition) และอาจมีความบกพร่องในการสื่อสารอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด มีปัญหาเรื่องการเข้าใจภาษา และอาจพบได้มากในเด็กช่วงอายุ 3-8 ปี และมักเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย

สาเหตุของภาวะไม่ยอมพูด (Selective Mutism)

SelectiveMutism_web_1

พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้ 2 สาเหตุคือปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้า และปัญหาด้านจิตใจ เช่น เด็กอยู่ในครอบครัวที่แตกแยก มีเรื่องสะเทือนใจอย่างรุนแรง การเกิดความบอบช้ำทางใจตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งภาวะไม่ยอมพูดในเด็กอาจจะมีลักษณะคล้ายอาการกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ในผู้ใหญ่ และจะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กเป็นอย่างมาก

เพราะฉะนั้น เราจึงมีวิธีรับมือกับภาวะไม่ยอมพูดของลูก ด้วยการแสดงออกถึงความเข้าใจให้คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้กันค่ะ

1. เปิดโอกาสให้ลูกได้อยู่กับสังคมที่หลากหลาย

SelectiveMutism_web_2

การให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ เช่น ไปงานวันเกิดเพื่อน ไปงานรวมญาติ เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน จะช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้สึกอยากพูดและสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเร่งรีบและผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ๆ ยากๆ เช่น การเข้าประกวด และการแข่งขันต่างๆ เพราะการพาลูกไปอยู่ในสถานการณ์กดดันในเวลาที่ลูกยังไม่พร้อม อาจทำให้ลูกได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี และกลัวที่จะต้องพูดกับคนอื่นมากขึ้นค่ะ

2. ไม่ควรทำท่าทางผิดหวังหรือโมโหเมื่อลูกไม่สามารถแสดงออกได้อย่างที่ต้องการ

SelectiveMutism_web_3

เมื่อลูกมีท่าทีพูดจาอึกอัก ไม่กล้าพูด หรือพูดเสียงเบาเหมือนคนขาดความมั่นใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิต่อว่า หรือแสดงท่าทางผิดหวังและโมโหลูกเพราะพฤติกรรมเหล่านี้ของคุณพ่อคุณแม่จะยิ่งเป็นการสร้างความกดดัน และความเครียด ส่งผลให้ลูกไม่กล้าพูดมากขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะพูดจาอึกอัก หรือเสียงเบาไปบ้าง แต่ถ้าลูกเริ่มพยายามที่จะพูดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชื่นชมและให้กำลังลูกต่อไปค่ะ

3. ไม่ควรบังคับและเร่งเร้าให้ลูกพูด

SelectiveMutism_web_4

สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือและแก้ไขภาวะไม่ยอมพูด คือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่บังคับหรือเร่งเร้าให้ลูกพูด แต่ควรทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจที่จะพูดออกมา โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ หรือจะไม่มีใครเข้าใจ

ดังนั้น เมื่อลูกไม่กล้าพูดหรือมีท่าทางพูดอึกอัก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรบังคับให้ลูกพูดใหม่ หรือเร่งเร้าให้ลูกพูดอีกครั้งในทันที แต่ควรใจเย็นและให้เวลาลูกค่อยๆ ได้รวบรวมความกล้าและพูดออกมาเองอีกครั้ง เมื่อลูกรู้สึกสบายใจที่จะพูด ครั้งต่อๆ ไปก็จะง่ายขึ้นค่ะ

ทั้งนี้ หากสังเกตว่าลูกมีภาวะไม่ยอมพูด คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำจากคุณหมอแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ลูกได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยให้ลูกสามารถเรียนรู้และเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

อ้างอิง
childmind
nhs.uk
phyathai
med.mahidol

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST