READING

การสะท้อนตัวตน (self-reflection) : 4 เทคนิคสอนลูกส...

การสะท้อนตัวตน (self-reflection) : 4 เทคนิคสอนลูกสำรวจตัวเอง โตขึ้นลูกอยากเป็นคนอย่างไร?

การสะท้อนตัวตน

คำถามที่คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก มักหยิบยกขึ้นมาถามหรือชวนเด็กๆ คุยก็คือถามว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า แค่ลองเปลี่ยนคำถามเป็น ‘โตขึ้นลูกอยากเป็นคนแบบไหน’ คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้คำตอบน่ารักๆ ที่คาดไม่ถึง การตั้งคำถามที่ชวนขบคิด จะช่วยให้ลูกได้คิดและทบทวนถึงตัวเอง และเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนทักษะ การสะท้อนตัวตน (self-reflection) ให้กับลูกได้

การสอนให้ลูกรู้จัก การสะท้อนตัวตน นอกจากจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกเข้าใจได้ว่า อารมณ์ของตัวเองจะส่งผลต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร ส่งผลให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง มีทักษะการสื่อสารและการฟังที่ดีขึ้น เกิดกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และมีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้น

และเพื่อช่วยให้ลูกตอบคำถาม ‘โตขึ้นลูกอยากเป็นคนแบบไหน’ ได้ดียิ่งขึ้น นี่คือ 4 เทคนิคสอนลูกสำรวจตัวเองและสะท้อนตัวตน ที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

1. ชวนลูกทำแบบฝึกหัด I Message สะท้อนความรู้สึกของตัวลูกเอง

selfreflection_web_1

ฝึกลูกให้บอกความรู้สึกของตัวเอง ด้วยการขึ้นต้นประโยคว่า “หนูรู้สึก… (บอกอารมณ์) เวลาที่… (บอกสาเหตุ)” เช่น “หนูรู้สึกไม่พอใจเลย เวลาที่เพื่อนมาหยิบของเล่นไปโดยไม่ขออนุญาต” หรือ I feel… about… วิธีนี้จะทำให้ลูกต้องพยายามทบทวนตัวเองจากด้านในสู่ด้านนอก เพื่อสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงให้ตัวเองเข้าใจ และบอกให้คนอื่นรับรู้

Joy Marchese ผู้ฝึกสอนด้านวินัยเชิงบวก แนะนำแบบฝึกหัดอีกอย่างคือการพูดต่อด้วยประโยค “หนูหวังว่า… (ตามด้วยวิธีแก้ปัญหา)” หรือ I feel… about… and I wish “หนูหวังว่า … (วิธีแก้ปัญหา)” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการแสดงความรู้สึกของตัวเอง วิธีสื่อสารที่เหมาะสม และยังฝึกฝนการคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไปอีกด้วย

2. ส่องกระจกบานใหญ่ แล้วถามลูกว่า “ลองมองดูในนั้นสิ หนูเห็นอะไร”

selfreflection_web_2

เวลาส่องกระจก คุณพ่อคุณแม่ลองถามลูกว่า ลูกเห็นอะไรในตัวเอง และตามด้วยคำถามที่สะท้อนให้เห็นตัวเอง เช่น ลูกชอบอะไรในตัวเองมากที่สุด มีอะไรในตัวเองที่ลูกชอบแม้มันจะไม่เหมือนใครและลูกรักตัวเองมากที่สุดตอนไหน ลูกเคยโกรธเด็กที่อยู่ในกระจกคนนั้นหรือเปล่า หรือลูกมีอะไรอยากบอกกับคนในกระจกหรือไม่

คำถามเหล่านี้ จะไปกระตุ้นการตระหนักรู้ภายในตัวของลูก บางครั้งคำตอบของลูกอาจเป็นเพียงรอยยิ้มกว้างๆ ให้ตัวเองในกระจก หรือคำตอบแปลกประหลาดชวนหัวเราะ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะได้เห็นว่าลูกสามารถเรียนรู้และทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นทุกวัน

3. กล่องมหัศจรรย์ เมื่อฉัน (อยาก) รู้จักตัวเอง

selfreflection_web_3

Sarah Kristenson นักเขียนบทความจากเว็บไซต์ Happier Human แนะนำกิจกรรม เปลี่ยนกล่องธรรมดาให้เป็นกล่องมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้ลูกรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น เพียงคุณพ่อคุณแม่เตรียมกระดาษโน้ตสีสันสดใส ให้ลูกเขียนคำตอบเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ลูกชอบตัวเองที่สุดตอนไหน ไม่ชอบที่สุดตอนไหน หรือลูกรู้สึกไม่ดีเพราะอะไร โดยระบุวันที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ เอาไว้ แล้วม้วนกระดาษที่เขียนไว้หย่อนลงกล่อง จากนั้นกำหนดช่วงเวลาที่จะเปิดกล่องร่วมกันกับลูก เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีตามช่วงอายุของลูก

เมื่อได้เวลาเปิดกล่อง ให้หยิบกระดาษโน้ตออกมาอ่านทีละแผ่น และชวนลูกคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในข้อความนั้น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และทบทวนตัวเองในเรื่องที่ผ่านมา

4. กิจกรรมสร้างตุ๊กตากระดาษ นี่คือตัวแทนของฉัน

selfreflection_web_4

การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมศิลปะ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่นตุ๊กตากระดาษ หรือดึงทักษะทางศิลปะออกมา ด้วยการวาดรูปคนที่มีคาแรกเตอร์ ลักษณะท่าทางและสีหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ รวมถึงเสื้อผ้าโทนสีต่างๆ ทรงผมที่หลากหลาย สิ่งของที่ชอบ และคำที่เป็นนิยามหรือใช้อธิบายลักษณะนิสัยที่ลูกอยากเป็น แล้วให้ลูกเลือกประกอบ ตกแต่งตุ๊กตากระดาษให้เป็นไปตามภาพตัวเองในอนาคตที่อยากเป็น

วิธีนี้จะทำให้ลูกได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากแต่งตัวอย่างไร มีบุคลิกอย่างไร และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาความสามารถ หรือค้นคว้าอาชีพของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย

 

5 เหตุผลที่เราไม่ควรถามเด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”
อ้างอิง
thepathway2success
raising kids with purpose
ssmhealth.com
happier human

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST