ลูกขี้แย หมายถึงการที่ลูกเป็นเด็กร้องไห้ง่าย บอบบาง และอ่อนไหว แม้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องร้องไห้ แต่ลูกก็เบะปาก น้ำตาตก ร้องไห้งอแง และพยายามใช้น้ำตาอ้อนวอนเพื่อเอาชนะหรือเรียกร้องอะไรบางอย่างจากคนรอบข้าง
และน้ำตาของลูกนี่แหละที่ทำให้พ่อแม่หลายคนแพ้ทาง ลูกขี้แย เสมอ เพราะการร้องไห้ของเด็กขี้แยมักจะให้ความรู้สึกอ่อนแอ น่าสงสาร และเรียกร้องความเห็นใจจากคุณพ่อคุณแม่ได้มาก แตกต่างจากเด็กที่ร้องไห้โวยวายอาละวาดโดยสิ้นเชิง ดังนั้น พฤติกรรมขี้แยที่ลูกแสดงออก จึงมักได้ผลและกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่กล้าขัดใจหรือใช้ความเด็ดขาดกับลูก ผลก็คือลูกอาจจะกลายเป็นคนขี้แยและชอบใช้น้ำตาแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต
แต่ในเมื่อใช้วิธีเด็ดขาดกับลูกขี้แยไม่ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะปรับพฤติกรรมนี้ของลูกได้อย่างไร เรามีวิธีมาบอกค่ะ
1. ไม่ต่อว่าเมื่อลูกร้องไห้
เด็กขี้แย มักจะเป็นเด็กที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ เช่น ตกใจง่าย หวาดกลัวง่าย จึงแสดงออกเป็นการร้องไห้เพราะต้องการการดูแลและปกป้อง ดังนั้น เวลาที่ลูกร้องไห้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือไม่แสดงพฤติกรรมเชิงลบและรุนแรงใส่ลูก เช่น ไม่ตำหนิ ต่อว่า ประชดประชัน หรือลงโทษเมื่อลูกร้องไห้ เพราะจะยิ่งตอกย้ำให้ลูกตกใจกลัวมากยิ่งขึ้นไปอีก
2. สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกลูก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจแล้วว่านิสัยขี้แย เกิดจากการที่ลูกมีความรู้สึกอ่อนไหวมากกว่าคนอื่น ดังนั้น ลูกก็อาจไม่ได้ตั้งใจหรือพอใจให้ตัวเองร้องไห้ง่ายหรือเป็นเด็กขี้แยในสายตาคนอื่น แต่ที่ลูกต้องร้องไห้ออกมา เป็นเพราะลูกไม่รู้จะรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองอย่างไร
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำจึงไม่ได้การโอ๋เพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ (ว่ากันว่า ยิ่งโอ๋ ลูกกลับยิ่งร้องไห้ด้วยซ้ำ) แต่คือการเข้าหา และพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่เข้าอกเข้าใจ ช่วยให้ลูกทบทวนและสะท้อนสภาพอารมณ์ของตัวเองด้วยคำพูด เช่น ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่คุณครูว่า หรือลูกร้องไห้เพราะตกใจที่คุณครูเสียงดัง, ลูกร้องไห้เพราะอยากให้คุณแม่ช่วยใช่ไหมคะ การช่วยให้ลูกสะท้อนอารมณ์ของตัวเองออกมา จะทำให้ลูกรู้จักคิดทบทวน เข้าใจความรู้สึกตัวเอง และรู้ว่าการร้องไห้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ตัวเองได้เสมอไป
3. ให้เวลาลูกระบายอารมณ์และสงบลงด้วยตัวเอง
หากพูดคุยสะท้อนอารมณ์กันแล้ว ลูกยังไม่หยุดร้องไห้สะอึกสะอื้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องรีบร้อน ลองให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองและร้องไห้ต่อไป จนกว่าลูกจะเหนื่อยและสงบลงด้วยตัวเอง แล้วคุณพ่อคุณแม่ค่อยเข้าไปให้กำลังใจลูกอีกครั้ง ก็ยังไม่สายค่ะ
4. สอนให้ลูกลองคิดวิธีแก้ปัญหา
นอกจากความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษแล้ว เด็กขี้แยมักร้องไห้เพราะต้องการให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบข้างเข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถจัดการได้
คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความช่วยเหลือลูกด้วยการสอนและแนะนำวิธีให้ลูกลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เช่น บอกให้ลูกค่อยๆ คิดว่าควรทำอย่างไร หรือเตรียมความพร้อมด้วยการสร้างสถานการณ์สมมติ แล้วลองให้ลูกคิดว่าเขาอยากแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เช่น ถ้าลูกลืมเอาของสำคัญไปโรงเรียน ลูกจะร้องไห้ หรือจะลองให้คุณครูช่วยโทร.หาคุณแม่ดีนะ…
และเมื่อลูกเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมขี้แยของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมที่จะชมเชยลูกด้วยนะคะ
5. อ่อนไหวไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ
หลายคนอาจเหมารวมว่าเด็กขี้แย ร้องไห้ง่าย หรือมีอารมณ์อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ หมายถึงการเป็นคนอ่อนแอ
Elaine Aron นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The High Sensitive Child กล่าวว่า เด็กที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ เพราะมีระบบประสาทสัมผัสที่ตื่นตัวและตอบสนองรวดเร็วและมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสด้านแสง สี เสียง และกลิ่น ซึ่งคนลักษณะนี้ มักจะร้องไห้หรือวิตกกังวลง่าย และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ไม่ดีเท่าไรนัก
ดังนั้น การที่ลูกเป็นคนอ่อนไหว ไม่ได้หมายความว่าลูกต้องเป็นคนอ่อนแอเสมอไป แต่การเป็นคนที่รับรู้สิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว ก็มีข้อดีคือทำให้ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน รู้จักสังเกตคนรอบข้าง จึงมีแนวโน้มที่คนอ่อนไหวจะสามารถเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ดีด้วยเช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST