READING

ให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนได้เมื่อไหร่? : และ 3 สัญญาณที่...

ให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนได้เมื่อไหร่? : และ 3 สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกยังไม่พร้อมเข้าสู่โลกโซเชียลฯ

ให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนได้เมื่อไหร่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ สมาร์ตโฟนแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิต เพราะสมาร์ตโฟนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น

 

แต่คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้ดีว่า โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน รวมทั้งอุปกรณ์ที่มีหน้าจอและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ กลับไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อเด็กเล็ก เพราะนอกจากส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกแล้ว สมาร์ตโฟนยังเป็นสะพานเชื่อมต่อลูกกับอินเทอร์เน็ต ทำให้ลูกเข้าถึงสื่อและโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้โดยง่าย

แล้วควร ให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนได้เมื่อไหร่ กันแน่… เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกันดูอีกครั้งนะคะ

ให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนได้เมื่อไหร่

smartphone_web_1

สถาบันจิตวิทยาเด็ก (Child Mind Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความเหมาะสมของช่วงวัยในการใช้สมาร์ตโฟน และพบว่าช่วงวัยเรียน หรือ 7-15 ปี เป็นช่วงวัยที่สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำตลอดเวลา เพราะเด็กในช่วงวัยนี้สามารถวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลเบื้องต้นเองได้ แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีกฎเล็กๆ น้อยๆ เพื่อควบคุมไม่ให้ลูกติดสมาร์ตโฟนมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น กำหนดระยะเวลาในการเล่น แนะนำท่าทางการใช้สมาร์ตโฟนที่ถูกต้อง หรือแม้แต่การจำกัดเนื้อหาที่ลูกจะเข้าถึงได้

แม้ว่าจะมีงานวิจัยมารองรับถึงช่วงวัยที่เหมาะสมต่อการใช้สมาร์ตโฟน แต่เด็กแต่ละคนก็ย่อมมีความแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในช่วงวัยเดียวกันก็ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สไตล์การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้าน หรือลักษณะนิสัยส่วนตัวของเด็กแต่ละคน ซึ่งเด็กบางคนแม้จะเข้าสู่วัยเรียนแล้วก็อาจจะยังไม่พร้อมต่อการใช้สมาร์ตโฟน และการเข้าถึงโซเชียลมีเดียตามลำพัง

เราจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกต 3 สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกยังไม่พร้อมเข้าสู่โลกโซเชียลฯ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกจากอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างเหมาะสม

1. ลูกยังไม่มีความรับผิดชอบ

smartphone_web_2

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกมักจะละเลยหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายให้ เช่น รดน้ำต้นไม้ เก็บของเล่นให้เข้าที่หรือช่วยคุณแม่จัดโต๊ะอาหาร หรือแม้แต่หน้าที่รับผิดชอบของตัวเองโดยตรง เช่น ไม่ยอมทำการบ้าน ไม่เตรียมตัวไปโรงเรียน นั่นแสดงให้เห็นว่าลูกยังไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ดีเท่าที่ควร นั่นหมายความว่า หากลูกมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองก็มีโอกาสที่ลูกจะไม่สามารถแบ่งเวลาให้เหมาะสมได้

ดังนั้น ก่อนจะหยิบยื่นอุปกรณ์เทคโนโลยีให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักมีความรับผิดชอบ จัดการตัวเอง เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน แล้วค่อยพิจารณาการเรื่องการใช้สมาร์ตโฟนให้ลูกต่อไปค่ะ

2. ลูกไม่ชอบเข้าสังคม

smartphone_web_3

คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามลูกเกี่ยวกับสังคมที่โรงเรียนเป็นประจำ เช่น วันนี้ลูกกินข้าวกับใคร ลูกนั่งเรียนข้างใคร หรือลูกคุยกับใครบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าลูกมีปัญหาการเข้าสังคมหรือไม่ กล้าทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะหลังจากเริ่มไปโรงเรียนได้สักพัก หากลูกยังมีปัญหาเรื่องการไม่มีเพื่อนเล่นหรือไม่มีเพื่อนคุยด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกเป็นเด็กเข้าสังคมไม่เก่งหรือไม่ชอบการเข้าสังคม

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและสร้างความมั่นใจให้ลูกปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และโรงเรียนให้ได้ ส่วนการอนุญาตให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟนเพราะคิดว่าจะทำให้ลูกคลายเหงา หรือติดต่อสื้อสารกับคนอื่นทางโซเชียลมีเดียได้ นอกจากจะทำให้ลูกหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พัฒนาการด้านการสื่อสารและการเข้าสังคมของลูกแย่ลง และส่งผลเสียในอนาคตต่อไปได้

3. ลูกมีนิสัยชอบเลียนแบบ

smartphone_web_4

โดยปกติแล้วเด็กที่อยู่ในช่วง 2-6 ปี จะมีพฤติกรรมชอบเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบตัว หรือจากตัวละครในโทรทัศน์ แต่เมื่อลูกโตขึ้นพฤติกรรมเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะลูกจะเริ่มเรียนรู้การสร้างบุคลิกและตัวตนของตัวเองได้

แต่ถึงอย่างนั้น ลูกอาจถูกกระตุ้นหรือส่งเสริมให้มีพฤติกรรมชอบเลียนมากขึ้นจากการเสพโซเชียลมีเดีย และมีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อคุณแม่ ก็อาจทำให้ลูกจดจำพฤติกรรมเหล่านั้นติดตัวมาใช้ต่อไปได้

อ้างอิง
Child Mind Institute
All Pro Dad

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST