READING

ความเหลื่อมล้ำ : 5 ทริกสอนลูกรับมือกับ ความเหลื่อม...

ความเหลื่อมล้ำ : 5 ทริกสอนลูกรับมือกับ ความเหลื่อมล้ำในสังคม

ความเหลื่อมล้ำ

เมื่อลูกเริ่มตั้งคำถาม “ทำไมหนูไม่มีเหมือนเพื่อน” หรือ “ทำไมบ้านเราไม่มีเหมือนบ้านอื่น”ไม่ว่าจะเป็นคำถามทีเล่นทีจริง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าลูกเริ่มรู้จักการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่คนอื่นมีและสิ่งที่ตัวเองไม่มี

ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่และเห็นได้ชัดเจนขึ้นคือ ความเหลื่อมล้ำ ที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่อย่างเราต่างรับรู้กันเป็นอย่างดี แต่สำหรับเด็กๆ ที่ไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจความซับซ้อนของโครงสร้างสังคม เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ลูกได้พบเจอเพื่อนหรือเด็กที่มาจากครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น จึงมักเกิดคำถามที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มสอนให้ลูกเข้าใจและรับมือกับ ความเหลื่อมล้ำ ในสังคม เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานและสามารถเติบโตในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมได้อย่างเข้มแข็ง

1. อธิบายลูกด้วยภาษาง่ายๆ

SocialClass_web_1

เรื่องความเหลื่อมล้ำและการเงินเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง คุณพ่อคุณแม่จึงควรย่อยเรื่องยากๆ นี้ให้ง่ายขึ้นด้วยการสมมติจากสิ่งใกล้ตัว เช่น ในโรงเรียนมีทั้งคนที่ตัวสูงและตัวเตี้ย หากต้องแข่งกีฬาที่ใช้ความสูงเป็นหลัก คนตัวสูงอาจได้เปรียบทางร่างกายเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ว่าลูกจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถลงแข่งกับคนตัวสูงได้ หรือคุณพ่อคุณแม่จะหยิบยกนิทานมาเล่าให้ลูกเข้าใจง่ายขึ้นก็ยังได้

2. อธิบายเรื่องสถานะและข้อตกลงของครอบครัว

SocialClass_web_2

บางครั้งลูกไม่เข้าใจว่า การที่ตัวเองไม่มีสิ่งของที่อยากได้เหมือนคนอื่น อาจเป็นเพราะความจำเป็นหรือการตัดสินใจของครอบครัว แต่คิดว่าเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมตามใจ ไม่ใจดีเหมือนพ่อแม่ของคนอื่น นั่นคือสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มสอนให้ลูกเข้าใจสถานะ ข้อจำกัด วิถีชีวิต รวมถึงแนวทางการเลี้ยงดูของครอบครัว เช่น ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือหากลูกอยากได้ของที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักเก็บเงินมาซื้อเองบ้าง

3.  ใช้สื่อสอนลูกให้ถูกต้อง

SocialClass_web_3

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเรื่องการเสพสื่อของลูกอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกดูสื่อที่เกี่ยวกับการเรียกร้องความเท่าเทียม และอาจมีภาพของความขัดแย้งหรือความรุนแรง ให้พูดคุยกับลูกด้วยเหตุและผลว่าทำไมผู้คนถึงเรียกร้องความเท่าเทียม ความเท่าเทียมมีผลอย่างไรต่อชีวิตของคนในสังคม

4. ความรวยไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าของลูก

SocialClass_web_4

ย้ำกับลูกเสมอว่าความร่ำรวยไม่ใช่สิ่งกำหนดคุณค่าในตัวลูก ความร่ำรวยอาจช่วยให้ลูกได้สิ่งของที่อยากได้ แต่ไม่ใช่คุณค่าทางใจและคุณค่าทางการกระทำ ยกตัวอย่างให้ลูกฟังอย่างง่าย เช่น หากลูกอยากเรียนให้ได้เกรด 4 แม้เงินจะช่วยให้ลูกได้เรียนพิเศษ แต่ถ้าลูกไม่ตั้งใจเรียนและไม่ตั้งใจสอบ เงินเหล่านั้นก็สูญเปล่า แต่ถ้าลูกตั้งใจเรียนในห้องเรียน ก็สามารถทำข้อสอบได้ดี ส่วนคุณค่าของคนเราอาจอยู่ที่การทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น รวมถึงการเป็นคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จได้

5. พ่อแม่คือต้นแบบของลูก

SocialClass_web_5

คำพูดของคุณพ่อคุณแม่มักแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกันด้วยคำพูดเชิงลบ หรืออับอายในสถานะของครอบครัว ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่พอใจกับสถานะของครอบครัวตัวเองมากขึ้น และ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีการให้กำลังใจกัน มองโลกในแง่ดี สร้างความภูมิใจ และเปิดใจพูดคุยกับลูกเสมอ ลูกก็จะกล้ายอมรับ กล้าเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อไป

อ้างอิง
Parents
SaveTheChildren

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST