มารยาททางสังคม คือแนวทางพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนและปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะจะช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี
นอกจากนั้น มารยาททางสังคมของลูกยังแสดงถึงการเป็นคนที่รู้จักเคารพและให้เกียรติคนอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของทักษะการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยที่จะสอนมารยาททางสังคมให้กับลูกน้อย โดยอาจเริ่มจากพฤติกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำก่อน เช่น การพูด การทักทาย และการรับประทานอาหาร
ลองมาเริ่มไปด้วยกันนะคะ
1. สอนให้ลูกไม่พูดแทรก
เด็กๆ ไม่รู้ว่า การพูดแทรกระหว่างที่คนอื่นกำลังพูดอยู่เป็นเรื่องที่ไม่น่ารัก และอาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนตำหนิได้ว่าเป็นเด็กไม่มีมารยาท ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกให้รู้จักฟังและรอให้คนอื่นพูดจบก่อน แล้วค่อยพูดสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือถ้าลูกมีเรื่องด่วน เช่น คุณแม่กำลังคุยธุระ แต่ลูกอยากให้คุณแม่พาไปห้องน้ำเดี๋ยวนี้ ก็ควรสอนวิธีให้ลูกส่งสัญญาณหรือขออนุญาตพูดแทรกในเวลาคับขัน
แต่ถ้าบางครั้งลูกลืมตัวและไม่ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่เคยสอน วิธีการตอบสนองเมื่อลูกพยายามพูดแทรกหรือขัดจังหวะคนอื่น คือการหันมาทำความเข้าใจกับลูกว่าต้องรอก่อน หรือเพิกเฉย เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าการพูดแทรกไม่ได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่หันมาตอบสนองเสมอไป
2. สอนให้ลูกเคาะประตูก่อนเข้าห้องคนอื่นทุกครั้ง
สำหรับเด็กๆ ที่โตพอจะแยกห้องนอนกับคุณพ่อคุณแม่แล้ว การเคาะประตูถือเป็นมารยาทที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนและทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างเสมอ โดยเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่เคาะประตูก่อนที่จะเปิดเข้าไปหาลูก เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เคารพในพื้นที่ส่วนตัวของลูกเสมอ และสอนให้ลูกเคาะประตูก่อนจะเปิดเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
มารยาทการเคาะประตูจะช่วยสอนให้ลูกรู้จักเคารพพื้นที่ของคนอื่น รู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะเข้าไปใช้พื้นที่ส่วนรวมหรือที่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเองก็ควรทำการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อนเสมอ
3. รู้จักเสียสละให้คนอื่นก่อน
การเสียสละอาจจะฟังดูเหมือนลูกน้อยจะต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ความจริงแล้ว การเสียสละ เป็นหนึ่งในมารยาททางสังคมที่แสดงออกถึงความใส่ใจ และมีน้ำใจให้ผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น เปิดประตูให้คนอื่นเข้าก่อน ตักอาหารให้เพื่อนก่อน หยิบจานชามและช้อนส้อมให้คนอื่นก่อน การสอนให้ลูกเสียสละเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รู้จักให้คนอื่นก่อนให้ตัวเอง จะเป็นพื้นฐานทำให้ลูกเป็นเด็กมีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้ด้วยค่ะ
4. สอนให้ลูกพูดขอบคุณและขอโทษ
นอกจากการสวัสดีและทักทายอย่างมีมารยาทแล้ว สิ่งสำคัญในการเข้าสังคมหรืออยู่ร่วมกับคนอื่นก็คือ การพูดขอบคุณและขอโทษ ในสถานการณ์ที่เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่ลูกควรเรียนรู้ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น เมื่อลูกช่วยหยิบของมาให้ คุณแม่ก็ควรพูดขอบคุณ หรือเมื่อคุณพ่อทำของเล่นลูกหาย ก็ควรกล่าวขอโทษและแสดงความรับผิดชอบให้ลูกเห็น เพราะการขอโทษควรมาพร้อมการแก้ไข ไม่ทำผิดซ้ำๆ อีกนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST