การเลี้ยงลูกน้อยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกจากต้องอาศัยแรงกายแรงใจของคุณพ่อคุณแม่แล้ว สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพ่อแม่ ก็เป็นข้อจำกัดใหญ่ที่มีผลต่อการเลี้ยงดูและพัฒนาการของลูกน้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status หรือ SES) เป็นคำที่กำหนดโดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ให้ความหมายของเอาไว้ว่าเป็นคำที่แสดงถึงความแตกต่างของอาชีพ รายได้ และการศึกษาที่ทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรของประเทศได้ไม่เท่าเทียมกัน
แล้วข้อจำกัดเหล่านี้จะส่งผลอะไรกับพัฒนาการและการเลี้ยงดูลูกน้อยบ้าง เรามีคำตอบ
1. พัฒนาการทางการเรียนรู้ของลูก

พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูก เริ่มต้นตั้งแต่ในท้อง และจะยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลูกคลอด และเติบโตถึงช่วงวัยที่เริ่มฝึกการพูดอ่านเขียนกับคุณพ่อคุณแม่ และเข้าโรงเรียนเพื่อรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีมาตรฐานและคุณภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของผู้ปกครอง ดังนั้นจึงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจของคุณพ่อคุณแม่ ย่อมมีผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของลูกโดยตรงได้

นอกจากนั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพ่อแม่ ยังเป็นปัจจัยที่กำหนดคุณภาพอาหาร ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและกระตุ้นทักษะการเรียนรู้ของลูก อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจะสร้างทั้งภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกได้
และในเด็กเล็ก การได้รับอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการเติบโต ความแข็งแรงของร่างกายจิตใจ พัฒนาการการเรียนรู้ เช่นทำให้ลูกไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ และอาจทำให้สมองสั่งการช้าได้
2. พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ

จากงานวิจัยของ PLOS ONE พบว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่เข้าถึงทรัพยากรของประเทศได้น้อย มักมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และมีความเครียดสะสม อันเกิดจากพ่อแม่ที่ติดขัดปัญหาทั้งเรื่องเงิน หรือเรื่องสภาพแวดล้อมอันตึงเครียดที่พ่อแม่ต้องเผชิญ จนเผลอระบายหรือแสดงออกในท่าทีที่ไม่ดีกับลูก สิ่งเหล่านี้ เพิ่มแนวโน้มการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเด็กที่พ่อแม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู
ยิ่งไปกว่านั้น หลายบ้านเมื่อเห็นว่าลูกมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่ดี พ่อแม่มักดุและลงโทษลูกมากกว่าการพาไปพบแพทย์ ซึ่งอาจส่งผลให้พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของลูกมีปัญหา มองโลกในแง่ลบ ทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง จนไปถึงทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ด้วย
3. พัฒนาการด้านการเข้าสังคม

อาชีพของคุณพ่อคุณแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เลือกสังคมและสภาพแวดล้อมให้ลูก เพราะลูกจะซึมซับพฤติกรรมการทำงาน ซึมซับการเข้าสังคมของคุณพ่อคุณแม่ และซึมซับสิ่งแวดล้อมรอบตัวคุณพ่อคุณแม่มาด้วย
หาก สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ลูกพบเจอไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของลูก อาจทำให้ลูกเสียโอกาสและเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นได้
ยิ่งไปกว่านั้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดสังคมแห่งการบูลลี่ เด็กที่ได้รับโอกาสน้อยหรือด้อยกว่าคนอื่น มีแนวโน้มที่จะโดนบูลลี่ในโรงเรียน ทำให้ทักษะเกิดปัญหาต่ออารมณ์และสภาพจิตใจของลูกได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST