READING

ลูกโดนแกล้ง: ชวนลูกออกกำลังกาย สร้างความแข็งแรงทาง...

ลูกโดนแกล้ง: ชวนลูกออกกำลังกาย สร้างความแข็งแรงทางจิตใจและร่างกาย ไม่ให้ลูกถูกรังแก

ลูกโดนแกล้ง

คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกถึงวัยต้องเข้าโรงเรียน มีเพื่อน หรือกลุ่มสังคมใหม่ๆ ย่อมอยากให้ลูกเป็นที่รักของเพื่อนๆ และรอบข้าง

แต่ปัญหาที่อาจต้องเตรียมรับมือเอาไว้ก็คือ ลูกโดนแกล้ง หรือถูกรังแกจากเด็กวัยใกล้เคียงกัน และไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งรังแกเล็กน้อย หรือรุนแรง ก็มักจะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของลูกในระยะยาวได้

โดยทั่วไป การกลั่นแกล้งรังแกมักเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความแตกต่างทางกายภาพหรือลักษณะภายนอก ความต้องการแสดงออกว่าแข็งแรงหรือเก่งกว่า

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีปัญหา ลูกโดนแกล้ง แล้วละก็ นอกการสร้างความเข้มแข็งทางใจให้ลูกแล้ว การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงทางร่างกาย ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ลูกสามารถใช้ปกป้องตัวเองจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกได้

1. ออกกำลังกายแบบไหนก็ได้ที่ลูกชอบ

ลูกโดนแกล้ง

Esther Entin, M.D. กุมารแพทย์ และรองศาสตราจารย์คลินิกสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่ Warren Alpert School of Medicine มหาวิทยาลัยบราวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “เด็กๆ ที่ได้ออกกำลังกายตามแบบที่ตัวเองชอบ จะสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ”

Benjamin R. Snell, MD แพทย์ประจำครอบครัวกับ Lancaster General Health Physicians Family Medicine Twin Rose ระบุว่า ให้คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เช่น ลองลงเล่นกีฬาแบบทีมในโรงเรียน กระโดดโลดเต้นในวิชาดนตรี และใช้ทุกส่วนของร่างกายอย่างเต็มที่ในวิชาพลศึกษา

ทั้งนี้ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ให้เน้นที่ความชอบและความสนุกของลูก โดยไม่ต้องมุ่งเน้นการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญเพื่อเข้าแข่งขัน ยกเว้นคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าลูกมีความสามารถในกีฬานั้นๆ มากเป็นพิเศษ

2. เล่นกีฬาแบบทีมและมีเพื่อนที่ดี คาถาป้องกันการโดนแกล้ง

ลูกโดนแกล้ง

Ylva Bjereld รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน เคยมีผลงานวิจัยในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกที่มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องการกลั่นแกล้งในเด็ก ระบุว่า ถ้าไม่อยากให้ลูกโดนแกล้งและมีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ที่จะเล่นกีฬาเป็นทีม เพราะจะทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องทักษะการเข้าสังคม แบ่งรับแบ่งสู้ รู้แพ้รู้ชนะ รับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น รู้จักการควบคุมอารมณ์ การทำตามกฏกติกา และเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้ลูกได้

ที่สำคัญคือ การมีเพื่อนที่ดีเพียง 2-3 คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในทีมกีฬา เพื่อนในห้องเรียน หรือเพื่อนข้างบ้าน ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้งให้ลูกได้

3. เสริมสร้างพลังใจให้เข้มแข็งได้ดี ด้วยการออกกำลังกาย

ลูกโดนแกล้ง

Dr. Jeremy Sibold ศาสตราจารย์ในภาควิชาวิทยาศาสตร์การฟื้นฟูและการเคลื่อนไหวแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ อธิบายว่า การกลั่นแกล้งอาจจะหนักขึ้น เมื่อลูกโตเข้าสู่วัยรุ่น

สำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถม เด็กๆ อาจถูกรังแกในห้องเรียน สนามเด็กเล่น ล้วนเป็นการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นต่อหน้าแต่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการบอกคุณพ่อคุณแม่หลังเลิกเรียน หรือบอกคุณครูให้ช่วยจัดการกับเพื่อนให้ แต่สำหรับเด็กลูกวัยรุ่น การกลั่นแกล้งรังแกมักมาในรูปแบบอื่น เช่น การกลั่นแกล้งทางโซเซียลมีเดีย ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Academy of Child and Adolescent Psychology ระบุว่า เด็กนักเรียนที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายด้วยความรู้สึกกระตือรือร้น วันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือประมาณ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะสามารถลดความเศร้า และลดความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย จากการถูกกลั่นแกล้งได้ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายช่วยให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น และพร้อมที่รับมือกับทุกเรื่องราวในชีวิตที่จะเกิดขึ้นได้

4. ช่วยทำให้ลูกภูมิใจในตัวเองมากขึ้น

sportshelpvictims_web_4

Jim Taylor, Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬาและการเลี้ยงดูบุตร จากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก ระบุว่า ยิ่งเปิดโอกาสให้ลูก เริ่มเล่นกีฬาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตัวเองได้เร็วขึ้นเท่านั้น

อาจารย์จิม เทรเลย์ ยังแนะนำว่า ควรส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา แต่อย่าเพิ่งคาดหวังกับผลลัพธ์ในเชิงการแข่งขัน สำหรับเด็กที่อายุยังน้อยอาจเกิดความกดดัน กลัวความพ่ายแพ้ กลายเป็นไม่มั่นในใจตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องให้กำลังเชิงบวกกับลูกเยอะๆ เน้นไปที่ความพยายามของลูกเป็นหลัก ให้ลูกเล่นกีฬาอย่างสนุกสนาน แล้วลูกจะอยากเล่นกีฬาที่สนใจต่อไปได้เรื่อยๆ

เมื่อลูกรู้สึกสนุกกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬามากขึ้น ก็จะเกิดเป็นภาคภูมิใจ มีความมั่นใจ และนับถือตัวเอง (Self-Esteem) กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และกล้าที่จะปฏิเสธหรือรับมือกับการกลั่นแกล้งรังแกได้ดีขึ้น

 

วิธีกอบกู้ตัวตนเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง
อ้างอิง
sciencenordic.com
thedoctorwillseeyounow.com
uvm.edu
psychologytoday.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST