READING

5 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล...

5 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้ง (Bully) ในเด็ก

ลูกคือคนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของพ่อแม่ แต่ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายามเลี้ยงดูและทะนุถนอนลูกอย่างดีแค่ไหน ก็คงไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา

เมื่อลูกเติบโตพอที่จะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีแต่พ่อแม่และคนในครอบครัว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆ จะต้องรับมือกับปัญหาการปรับตัวหรือการถูกกลั่นแกล้งรังแกจากคนรอบข้าง

จากการเก็บสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กหนึ่งในสี่คนจะถูกรังแกทุกเดือน และเด็กหนึ่งในสิบคนลาออกจากโรงเรียนเพราะถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง และเกือบหนึ่งในสามของพ่อแม่ของเด็กอายุ 12-17 ปี ยอมรับว่าการกลั่นแกล้งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกับลูกของตนมากกว่าอันตรายอื่นๆ และยิ่งน่ามากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ใช่แค่มีจำนวนมาก แต่ยังรุนแรงและเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ถึงชีวิตได้

ปัจจุบัน ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกเริ่มเป็นปัญหาที่สังคมหันมาให้ความสำคัญและพยายามหาทางแก้ไขมากขึ้น ซึ่งการที่จะลดปัญหาดังกล่าวได้ส่วนหนึ่งต้องมาจากการปลูกฝังและสร้างพื้นฐานลักษณะนิสัยที่ดีจากครอบครัว

เรามีวิธีการสอนลูกให้รู้จักและเข้าใจปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก เพื่อการปกป้องตัวเองและไม่ใช้การการกลั่นแกล้งรังแกกับคนอื่นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

1. สอนให้ลูกเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร

stopbullying_web_1

อันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร และสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างความเข้าใจผิดหรือไม่พอใจที่เกิดจากการเล่นกันแบบเด็กๆ และการกลั่นแกล้งที่ทำให้เกิดความอับอายหรือบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจให้ชัดเจน

โดยทั่วไปแล้ว การกลั่นแกล้ง คือการล่วงละเมิดอารมณ์และร่างกายของผู้อื่น จนได้รับความอับอาย หรือการบาดเจ็บทางร่างกาย และสามารถสังเกตได้จาก เจตนา การทำซ้ำ  และการใช้อำนาจ หากมีองค์ประกอบทั้งสามอย่างครบก็สามารถจัดว่าเป็นการกลั่นแกล้งได้

2. สอนให้ลูกรับรู้ถึงสัญญาณของการกลั่นแกล้ง

stopbullying_web_2

สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจและสามารถรับรู้ได้ถึงสัญญาณของการถูกกลั่นแกล้งจากลูก โดยหมั่นสังเกตจากพฤติกรรมของลูกเป็นหลัก

หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ เปลี่ยนเรื่องคุยเมื่อพูดถึงโรงเรียน ปวดหัว ปวดท้อง ผลการเรียนแย่ลง มีรอยฟกช้ำที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร ดูเหนื่อยหรือหิวผิดปกติเมื่อกลับมาบ้าน สัญญาณเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าลูกอาจถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนได้

แต่นอกจากคอยสังเกตว่าลูกจะกลั่นแกล้งหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคอยสังเกตสัญญาณของการเป็นผู้รังแกในตัวลูกของเราด้วย เช่น ลูกไม่ค่อยแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ลูกเข้ากับคนอื่นได้ยาก ไม่หยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแม้คุณพ่อคุณแม่จะห้ามแล้วก็ตาม เป็นคนไม่อดทน แสดงออกว่าดูถูกคนอื่นที่แตกต่าง แกล้งหรือล้อเลียนคนอื่นบ่อย ทำร้ายสัตว์ หากเห็นสัญญาณว่าลูกมีพฤติกรรม เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็น ไม่มองลูกในแง่ลบและไม่ลงโทษด้วยความรุนแรง แต่ต้องค่อยๆ พูดและสอนให้ลูกเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ

3. พูดคุยกับลูกถึงการกลั่นแกล้ง

stopbullying_web_3

การพูดคุยเพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจพฤติกรรมที่เรียกว่ากลั่นแกล้งเป็นเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าจะปล่อยให้คนอื่นจะมาทำแบบนี้กับเราไม่ได้ และตัวเราเองก็ไม่สามารถทำอย่างนั้นกับคนอื่นได้เช่นกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรบอกผลกระทบของการกลั่นแกล้งรังแก เช่น เมื่อลูกแกล้งเพื่อน เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร

แต่หากมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ว่าลูกจะเป็นคนถูกรังแกหรือพบเห็นคนอื่นถูกรังแก ก็ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ให้บอกพ่อแม่ หรือคุณครูทันที

4. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

stopbullying_web_4

การจะทำให้เด็กไม่ถูกรังแก หรือไม่เป็นคนรังแกผู้อื่น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่ มอบความรักให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ พูดคุยกันบ่อย รวมถึงไม่แสดงออกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้ลูกเห็น เช่น ไม่ให้เกียรติผู้อื่น พูดจาว่าร้ายคนอื่นให้ลูกได้ยิน รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยการใช้อำนาจข่มขู่ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนอื่นให้ลูกเห็น ลูกก็จะได้รับอิทธิพลและจดจำพฤติกรรมนั้นไปใช้กับคนอื่นเช่นกัน

5. สอนลูกให้รู้จักทักษะการเข้าสังคม

stopbullying_web_5

การสอนให้ลูกมีทักษะการเข้าสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันการกลั่นแกล้งที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะลูกจะสามารถเรียนรู้วิธีการเข้าหาคนอื่น การรับมือกับคนที่มีนิสัยใจคอหลากหลาย และเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อคนอื่นเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่ดีใส่เขา

โดยการสอนอาจผ่านจากการเล่นบทบาทสมมติกับลูก จำลองสถานการณ์ว่าถ้าเจออย่างนี้ ลูกจะพูดอย่างไร หรือลูกจะมีวิธีรับมืออย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกรู้วิธีเอาตัวรอดจากการถูกกลั่นแกล้งได้

 

 

อ้างอิง
stompoutbullying
trackschoolbus
stopbullying
parents

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST