READING

เมื่อเจ้าตัวน้อยเป็นนักขัดจังหวะ ควรทำอย่างไรดี!?...

เมื่อเจ้าตัวน้อยเป็นนักขัดจังหวะ ควรทำอย่างไรดี!?

ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามจัดสรรเวลา ไว้เพื่อการดูแลลูกน้อยมากแค่ไหน แต่บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องขอเวลาทำงานหรือธุระส่วนตัว เช่น รับโทรศัพท์หรือตอบอีเมลบ้างเล็กน้อย 

แต่ไม่ทันไร เจ้าตัวแสบก็เริ่มเรียกร้องความสนใจด้วยการพูดเสียงดังบ้างล่ะ วิ่งเล่น ตะโกนโวยวาย หรือเข้ามาดึงแขนดึงเสื้อบ้างล่ะ

และบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรกับลูกที่ชอบขัดจังหวะเวลาที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจกับอย่างอื่น นอกจากจะเสียสมาธิแล้ว อีกใจก็กลัวกลัวว่าลูกจะมีพฤติกรรมนี้ติดตัวไปจนกลายเป็นนิสัยตอนโตหรือเปล่า

แต่ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่า ในเด็กเล็กนั้นการที่ลูกชอบขัดจังหวะ ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กที่ไม่มีมารยาทนะคะ เพียงแต่ลูกยังไม่โตพอที่จะเข้าใจว่าต้องอดทนรอและคอย หรือยังไม่เข้าใจว่าการที่คุณพ่อคุณแม่ละสายตาไปทำอย่างอื่นบ้างเป็นเรื่องจำเป็น และใช้เวลาไม่นาน

เราลองมาดูกันว่าจะรับมือกับเจ้าตัวน้อยจอมขัดจังหวะอย่างไรให้ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ไม่เสียงานส่วนคุณลูกก็ได้เรียนรู้ที่จะรอคอยมากขึ้น

1. วางเฉยเมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ

stopInterrupt_web_1

ถ้าคุณพ่อคุณแม่กำลังคุยโทรศัพท์ แล้วจู่ๆ ลูกก็เริ่มส่งเสียงโหวกเหวกโวยวายดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจหรือกลับมาเล่นด้วย สิ่งที่สามารถทำได้คือการแสดงออกว่าวิธีที่ลูกใช้ไม่ได้ผล

หากคุณพ่อคุณแม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของลูก ช่วงแรกลูกอาจจะพยายามทำให้เสียงดังมากขึ้น กรีดร้องมากขึ้น แต่ถ้าสุดท้ายแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ลูกก็จะล้มเลิกความตั้งใจไปเองค่ะ

2. อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงไม่ชอบให้ลูกขัดจังหวะ

stopInterrupt_web_2

คุณพ่อคุณแม่สามารถหาโอกาสบอกลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ถ้าเห็นคุณพ่อคุณแม่กำลังมีธุระ เช่น คุยโทรศัพท์ หรือหากคุณพ่อคุณแม่บอกว่าขอเวลาสักครู่ แปลว่าลูกควรจะนั่งเล่นหรือนั่งรอตามลำพังจนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะกลับมา และการที่ลูกเข้ามาขัดจังหวะ จะยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาทำธุระมากขึ้น ลูกก็จะต้องรอนานขึ้น การเรียกร้องความสนใจของลูกจึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย

3. วางแผนให้ลูกยุ่ง

stopInterrupt_web_3

ถ้าประเมินแล้วว่าลูกยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจเหตุผลของคุณพ่อคุณแม่ได้ เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องคุยโทรศัพท์หรือทำธุระสำคัญบางอย่างที่จำเป็นต้องผละตัวออกจากลูก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีวางแผนหากิจกรรมหรือมอบหมายภารกิจสนุกๆ ให้ลูกทำล่วงหน้า เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ และลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งให้รอนานเกินไปอีกด้วย

4. ไม่ตอบคำถามลูกทันทีเมื่อเขาถาม

stopInterrupt_web_4

บางครั้งลูกอาจมีเรื่องตื่นเต้นหรือสงสัย ที่จำเป็นต้องเรียกคุณพ่อคุณแม่มาดูอย่างด่วนจี๋ สิ่งที่ควรทำคือไม่ต้องรีบตอบสนองลูกทันที ไม่ว่าจะตอบสนองด้วยการตำหนิ หรือตอบคำถามของลูกก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจว่าวิธีนี้ใช้เรียกร้องความสนใจได้ผล ก็จะยิ่งทำต่อไปเรื่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรอให้เสร็จธุระของตัวเองก่อนแล้วจึงค่อยหันมาตอบสนองหรือตอบคำถามที่ลูกต้องการค่ะ

อ้างอิง
verywellfamily
positiveparentingconnection

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST