การร้องงอแงโวยวายอาจเป็นหนทางเดียวที่เด็กๆ จะแสดงความรู้สึกของตัวเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ใหญ่กว่าต้องมีสติเสมอ และคิดตามให้ทันว่าลูกต้องการอะไร มีเหตุผลอะไร และควรทำอย่างไรให้ลูกหยุดร้องอย่างนุ่มนวล ลองดูวิธีเหล่านี้แล้วนำไปปรับใช้กับลูกๆ กัน
1. เปลี่ยนความสนใจของลูก

วิธีนี้ได้ผลมากกับเด็กเล็ก เพราะมันจะดึงความสนใจเขาไปสู่สิ่งอื่นทันที โดยการลองถามคำถามอะไรสักอย่างกับเขา หรือแม้แต่เรียกให้เขากินน้ำ ลูกก็จะลืมเรื่องที่ตัวเองกำลังงอแงอยู่ได้แล้ว
2. แกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่เข้าใจ

เหตุผลหลักที่เด็กๆ งอแงหรือโวยวายก็เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าให้แก้ที่ต้นเหตุก็คือไม่ต้องสนใจเสียเลย ทำเป็นไม่เห็น ไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจพฤติกรรมนั้นเลย แต่วิธีนี้จะประสบความสำเร็จเมื่ออยู่ที่บ้าน เมื่อลูกรับรู้แล้วว่าการงอแงนี้ไม่ได้ผล ก็จะเลิกทำพฤติกรรมนั้นไปเอง
3. เว้นระยะห่างจากลูกเมื่อเขาดื้อ

ถ้าอยู่ที่บ้านแล้วเขางอแงขึ้นมา ก็ปล่อยลูกไว้ในห้องนั้น แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็เดินหนีออกมาได้เลย วิธีนี้เป็นการแสดงออกอย่างสงบและสุภาพมาก ว่าคุณไม่ยอมรับการงอแงโดยไม่มีเหตุผลของลูก
4. ตั้งกฎ ‘งอแงหนึ่งครั้งเท่ากับกี่บาท’

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยและเริ่มได้เงินกินขนมบ้างแล้ว คุณอาจต้องตั้งกฎนี้ไว้ เพราะนอกจากเขาจะหยุดงอแงแล้ว ยังต้องหาวิธีไถ่โทษด้วยการช่วยงานบ้านเพื่อถอนเงินออกจากกระปุกเด็กขี้งอแงนี้ด้วย
5. กำหนดพื้นที่ time out ในบ้าน

โดยการนั่งในระดับเดียวกับลูก มองตา และอธิบายให้ลูกฟังด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจได้ง่ายก่อน จากนั้นค่อยให้ลูกไปอยู่ในพื้นที่ time out เพื่อทบทวนว่าการงอแงไร้เหตุผลนั้นไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำอีก
6. รักษาระดับความดังของเสียงพูดให้คงที่เสมอ

ให้รู้ว่าคุณเอาจริงและต้องไม่ตะคอกหรือใส่อารมณ์กับลูก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เทคนิคดีๆ ที่จะทำให้ลูกฟังเรา
หรือตั้งสติให้ดี แล้วลองพูดด้วยประโยคเหล่านี้ดู
1. “ลูกว่ายังไงนะคะ”
ตัวอย่าง:
ลูก: ผมอยากกินอันนี้ครับ
แม่: แต่เราเพิ่งกินอิ่มกันนะคะ
ลูก: แต่อันนี้น่ากิน
แม่: ลูกว่ายังไงนะคะ
ลูก: แม่ไม่เคยซื้ออะไรให้ผมเลย
แม่: ลูกว่ายังไงนะคะ
ถ้าลูกยังตอบกลับมาอีกด้วยเหตุผลต่างๆ นานา คุณจงกลายร่างเป็นหุ่นยนต์ซะ แล้วตอบเขาด้วยประโยคนี้ก็พอแล้ว
2. “คุณแม่บอกหนูว่ายังไงนะคะ”
ตัวอย่าง
ลูก: ขอให้น้องมานอนบ้านเราคืนนี้ได้ไหมคะ
แม่: ไม่ได้ค่ะ สัปดาห์ที่แล้วน้องก็เพิ่งมาค้างบ้านเราไปเองนะ
ลูก: นะคะ…
แม่: คุณแม่บอกหนูว่ายังไงนะคะ
ลูก: แต่…
และจากนั้นไม่ว่าลูกจะพูดอะไรก็ให้คุณนิ่ง มองเข้าไปในดวงตาของลูกและยิ้มเข้าไว้ ถ้าเขายังไม่ยอมก็เดินหนีไปเลย
3. “เราคุยเรื่องนี้กันจบแล้วนะคะ”
ตัวอย่าง
ลูก: ขอหนูออกไปปั่นจักรยานได้ไหมคะ
แม่: แต่ข้างนอกฝนตกอยู่นะจ๊ะ
ลูก: หนูจะใส่เสื้อกันฝนค่ะ ฝนตกแค่เบาๆ เองค่ะ
แม่: เราคุยเรื่องนี้กันจบแล้วนะคะ
ลูก: แป๊บเดียวก็ได้นะคะ… นะคะ
แม่: ลูกว่ายังไงนะคะ
แล้วคุณก็แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์อีกครั้งซะ
4. “เราจะไม่คุยเรื่องนี้กันแล้วนะคะ”
ตัวอย่าง:
ลูก: หนูอยากได้รองเท้าคู่นั้นค่ะ
แม่: มันแพงเกินไปจ้ะลูก
ลูก: แต่หนูไม่ชอบคู่นี้นี่คะ
แม่: เราจะซื้อคู่นี้กัน และเราจะไม่คุยเรื่องนี้กันแล้วนะคะ
ลูก: แต่หนูอยากได้คู่นั้นค่ะ
แม่: ลูกพูดถึงมันอีกแล้วนะ ถ้างั้นวันนี้เรางดขนมมื้อเย็นกันนะคะ
ลูกอาจจะยิ่งร้องไห้งอแงหนักมากขึ้น แต่จำไว้ว่าการสอนให้ลูกเข้าใจและสร้างพฤติกรรมดีๆ เป็นงานหนักและยาวนาน เพราะฉะนั้นเข้มแข็งเข้าไว้
5. “เราสรุปเรื่องนี้กันไปแล้ว ถ้าลูกยังงอแงอีก แม่จะทำโทษแล้วนะคะ”
ตัวอย่าง
ลูก: ขอเล่นไอแพดนิดนึงได้ไหมคะ
แม่: เราไม่ใช้เทคโนโลยีระหว่างกินข้าวนะคะ
ลูก: หนูไม่ทำมันเปื้อนหรอกค่ะ
แม่: เรากินข้าวก็ต้องคุยกันสิคะ ไม่ใช่เอาแต่เล่นไอแพด
ลูก: แต่หนูสัญญาว่าแป๊บเดียวค่ะ
แม่: เราสรุปเรื่องนี้กันไปแล้ว ถ้าลูกยังงอแงอีก วันนี้งดไอแพดทั้งวันนะคะ
และเมื่อลูกๆ รับรู้ว่าคุณเอาจริง เขาจะเรียนรู้ที่จะเป็นคนมีเหตุผล และเคารพการตัดสินใจของคุณเช่นกัน
NO COMMENT