READING

ไม่ควรใช้การ ‘ขู่’ เพียงแค่อยากให้ลูกเชื่อฟัง...

ไม่ควรใช้การ ‘ขู่’ เพียงแค่อยากให้ลูกเชื่อฟัง

“ถ้าทำแบบนี้พ่อแม่จะไม่รักแล้วนะ” คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยใช้คำพูดแบบนี้เวลาที่ลูกดื้อรั้นและไม่เชื่อฟัง วิธีการ ‘ขู่’ ถือว่าเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือลงมือตีลูก ดูเผินๆ จึงเหมือนเป็นวิธีที่ดี แต่ก็อาจจะได้ผลเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

เพราะการขู่ลูกไม่ใช่วิธีที่ดีนัก หากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้บ่อยๆ ลูกจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง กลายเป็นคนขี้ระแวง และสะสมความกลัวเอาไว้อย่างไม่มีเหตุผล

และเมื่อลูกรู้ว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดไม่เป็นความจริง ก็จะเริ่มไม่เชื่อถือในคำพูดของคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป

ในทางกลับกัน หากไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กหวาดระแวง ขี้กลัว และเสียความมั่นใจในตัวเอง ก็ควรจะสอนและอธิบายทุกอย่างด้วยเหตุผล ตักเตือน และชื่นชมตามสมควร ไม่พูดจาในลักษณะขู่ให้กลัว หรือหลอกให้เข้าใจผิด

เพราะผลเสียของการขู่ลูกบ่อยๆ มีอะไรบ้าง ลองมาดูกันค่ะ

1. ทำให้ลูกมีกระบวนการทางความคิดไม่ดี

threatening_web_1

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูก จะสามารถช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิดให้กับลูกได้ เขาจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสื่อสาร แล้วสามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ในทางกลับกัน การขู่มักเกิดจากการเอาเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สมเหตุสมผล มาพูดให้ลูกรู้สึกกลัว เช่น เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว คุณพ่อคุณแม่ขู่ลูกโดยบอกว่า “ถ้าไม่กินข้าวจะพาไปให้หมอฉีดยา” การพูดแบบนี้จะทำให้ลูกมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการไปหาหมอและฉีดยา แทนที่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า “ถ้าลูกไม่กินข้าวก็จะหิว และถึงแม้ลูกจะหิว แต่แม่ก็จะไม่ให้ลูกกิน จนกว่าจะถึงเวลาของมื้อต่อไป”

การให้ลูกเรียนรู้ว่า หากทำหรือไม่ทำอะไร เขาจะได้รับผลที่ตามมาอย่างไร มีส่วนช่วยให้ลูกเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น

2. ทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัวและวิตกกังวลได้ง่าย

threatening_web_2

วิตกกังวล คืออาการที่เกิดจากความหวาดกลัว ไม่สบายใจ เครียด อาจเกิดจากการคิดภาพเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้น หรือเป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ความกลัวและวิตกกังวลก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกอย่างมาก เช่น หากลูกไม่ยอมเข้านอน แล้วคุณแม่ขู่ว่า “ถ้าไม่นอน ผีจะมาเอาตัวไป” ลูกก็จะกลายเป็นเด็กลัวผี มีความวิตกกังวลว่าจะนอนไม่หลับ และไม่กล้าอยู่ในห้องนอนมืดๆ คนเดียว

3. ลูกจะไม่เชื่อถือพ่อแม่อีกต่อไป

threatening_web_3

คำขู่ที่ไม่เกิดขึ้นจริง จะทำให้ลูกไม่สนใจคำขู่อีกต่อไป ส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง และไม่มีเหตุผลมากกว่าเดิม

4. “ทำแบบนี้จะไม่รักนะ” คำพูดอันตราย!

threatening_web_4

บางทีเด็กๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำแบบไหนจึงจะถูกใจคุณพ่อคุณแม่ และเมื่อเขาเผลอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แล้วคุณพ่อคุณแม่ใช้ความรักของเขามาเป็นเครื่องต่อรอง จะทำให้ลูกรู้สึกโทษตัวเอง ไม่ไว้วางใจ ไร้ค่า และไม่เป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ จนอาจกลายเป็นเด็กก้าวร้าวต่อไปได้

 

อ้างอิง
samalin
amarinbabyandkids
MushroomSuperclass

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST