การเลี้ยงลูกในช่วงวัยที่ลูกกำลังจดจำ และเริ่มเข้าใจคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ได้นับเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้จากการฟังคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ และพัฒนาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
และเพื่อให้ลูกของเราได้ผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ด้วยดี เรามี 6 ถ้อยคำ ที่คุณพ่อคุณแม่มักจะใช้พูดกับลูกบ่อยๆ จนอาจจะไม่ได้ระวังว่า ในถ้อยคำธรรมดาเหล่านั้น สำหรับเด็กๆ แล้ว มันไม่ธรรมดาเอาเสียเลย
1. “แค่นี้เอง ไม่เป็นไรหรอก”

เด็กกับรอยแผลถลอก ขีดข่วน บวม หรือฟกช้ำ ถือเป็นของคู่กัน บางครั้งแค่ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน แล้วหกล้มเป็นแผลถลอกเพียงเล็กน้อย แต่กลับกลายเป็นเหมือนวันอวสานสิ้นโลกของเจ้าเด็กน้อย เพราะลูกเล่นร้องไห้จ้าเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ผู้เคยผ่านอะไรมาก่อน เห็นอย่างนั้นแล้วอาจจะมองและพูดกับลูกว่า “ล้มแค่นี้เอง ไม่เป็นไรหรอก” แต่สำหรับเด็ก มีหลายครั้งที่เขาจะรู้สึกบางอย่างกับสิ่งที่เป็นครั้งแรกในชีวิต
เราไม่ได้บอกว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องโอ๋หรือปลอบประโลมลูกเสมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่คุณอาจแค่พูดกับลูกด้วยท่าทางง่ายๆ ว่า คุณเข้าใจนะว่ามันเจ็บ แต่อีกไม่นานลูกก็จะหายเจ็บ แล้วก็ทำแผลติดปลาสเตอร์ลายพิเศษที่ลูกชอบ เท่านั้นก็เพียงพอจะไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่เอาเสียเลย
2. “หยุดร้องไห้ได้แล้ว”

ยอมรับเถอะว่าคุณมักพูดประโยคนี้กับลูก เพื่อให้ลูกสงบลง เพราะคุณอยากให้เขาอธิบายเหตุผลที่ตัวเองร้องไห้มากกว่า แต่ในความเป็นจริง เมื่อลูกคุณได้ยินประโยคสั่งให้หยุดร้องแบบนี้ จะทำให้เขาเข้าใจว่า การร้องไห้เป็นสิ่งผิด
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้ใหญ่ควรสะท้อนอารมณ์ของเด็กและหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดอารมณ์แบบนี้ เช่น “แม่รู้ว่าลูกเสียใจที่ลูกไม่ได้เล่นของเล่น” การพูดแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะแสดงความรู้สึกออกมาด้วยการร้องไห้
3. “ทำไมถึงทำแบบนี้”

การถามลูกแบบนี้ ในใจลึกๆ คุณพ่อคุณแม่อาจแอบหวังให้ลูกมีเหตุผลกับการกระทำบางอย่างของตัวเอง เช่น “ทำไมลูกถึงล็อกประตูไม่ให้แม่เข้าบ้าน” แต่ถ้าลูกตอบว่า “เพราะว่ากดปุ่มล็อกแล้วมันสนุกดี” จะเป็นเหตุผลที่คุณจะรู้สึกดีขึ้นหรือไม่… คำตอบก็คือไม่!
เพราะฉะนั้น ถ้าเป้าหมายของคุณคือการสอนให้ลูกมีเหตุมีผล นอกจากพยายามหาสาเหตุแล้ว คุณต้องพยายามแสดงให้ลูกเห็นผลลัพธ์ของสิ่งนั้น เช่น “ถ้าลูกกดปุ่มล็อกประตูแบบนี้อีกครั้ง จะทำให้แม่เข้าบ้านไม่ได้นะ”
4. “ลูกไม่ต้องกลัวนะ”

ถ้าลูกบอกคุณว่าเขากำลังรู้สึกกลัว อย่าเพิ่งรีบโอ๋หรือตอบปัดไป โดยไม่สนใจอารมณ์และที่มาของความกลัวนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามถามถึงสาเหตุว่าลูกกลัวอะไร และกลัวเพราะอะไร และทำให้ลูกมั่นใจว่า คุณจะอยู่ตรงนั้นคอยปกป้องเขาเสมอ
5. “เพราะลูกทำแบบนี้ มันก็เลยเป็นแบบนี้”

สมัยเด็กๆ เราอาจเคยได้ยินคำว่า “บอกแล้วไง” จากคุณพ่อคุณแม่อยู่บ่อยๆ เวลาที่โดนห้ามหรือตักเตือนอะไรแล้วไม่เชื่อฟัง จนทำให้ตัวเองต้องเจ็บตัวในที่สุด แต่ปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่มักพยายามสอนลูกให้เห็นถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่ลูกทำ มากกว่าการออกปากห้ามอย่างไม่มีที่มาที่ไป เช่น เมื่อลูกตกเก้าอี้เพราะนั่งโยกตัวยุกยิกไปมา เราอาจหลุดปากพูดกับลูกว่า “เพราะลูกนั่งแบบนี้ มันเลยเป็นแบบนี้”
แต่ในความเป็นจริง เด็กนั้นฉลาดกว่าที่เราคิด เขารับรู้ได้เองว่าที่ต้องตกเก้าอี้นั้น ก็เพราะตัวเองนั่งยุกยิก และลูกไม่ได้อยากให้คุณมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาเพียงแค่ต้องการรู้ว่า เมื่อเขาตกเก้าอี้แล้ว คุณจะอยู่ตรงนั้นและคอยอุ้มเขาขึ้นมาได้
6. “รอให้กลับถึงบ้านก่อนเถอะ!”

มีหลายครอบครัวที่กำหนดให้มีการลงโทษลูกเฉพาะที่บ้าน และส่วนมากแล้วการลงโทษหนักหรือตีลูก คุณแม่มักยกให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อ อย่างไรก็ตาม การขู่ให้ลูกกลัวการถูกคุณพ่อหรือแม้แต่คุณแม่ทำโทษเมื่อกลับถึงบ้าน ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกันถึงแนวทางในการอบรมสั่งสอน โดยที่ไม่ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งข่มขู่หรือใช้กำลังให้ลูกกลัวจะดีกว่า
NO COMMENT