READING

ความเครียดในเด็ก: ตอบข้อสงสัย เด็กอนุบาลเครียดเป็น...

ความเครียดในเด็ก: ตอบข้อสงสัย เด็กอนุบาลเครียดเป็นจริงเหรอ?

ความเครียดในเด็ก

ความสดใส ร่าเริง เป็นสิ่งที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงวัยเด็ก แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะมองข้ามคือ ความเครียดในเด็ก ที่ทำให้เด็กๆ มีภาวะเครียด ที่ยากจะอธิบายและรับมือได้ด้วยตัวเอง

ความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาลมักเกิดจากความวิตกกังวล หวาดกลัว ไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและสังคมใหม่ๆ เมื่อผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ ก็ทำให้ปัญหาของลูกไม่ได้รับการแก้ไข หรือช่วยผ่อนคลายจากความเครียด

มีผลการวิจัยพบว่า ร้อยละ 20-30 ของเด็กวัยอนุบาลที่เกิดความเครียดแบบชั่วคราว จะส่งผลให้กลายเป็นเด็กไม่มีสมาธิ วิตกกังวล แต่ยังไม่กระทบต่อการเรียนหรือการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก

แต่หากความเครียดเกิดขึนอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดกับเด็กโต ร้อยละ 5-10 มักเกิดผลกระทบรุนแรง เช่น ส่งผลต่อความสามารถในการเรียน เข้าสังคม และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และอาจเกิดความเครียดขั้นรุนแรง ทำให้เป็นคนวิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า ร่างกายหมดเรี่ยวแรง และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและให้ความสำคัญกับความเครียดของลูก แม้หลายเรื่อง อาจเล็กน้อยเหลือเกินในสายตาผู้ใหญ่  เพื่อให้ลูกผ่านพ้นความรู้สึกที่หนักอึ้งนี้ไปได้

1. สาเหตุมากมายที่ทำให้เกิด ความเครียดในเด็ก

stressinchild_web_1

#กลัวการแยกจาก คือสาเหตุที่ทำให้เด็กตั้งแต่ 18 เดือนจนถึงวัยรุ่นอายุ 18 ปี เกิดความเครียดได้มากที่สุดโดยเฉพาะเด็กในวัยอนุบาล การเข้าโรงเรียนทำให้รู้สึกต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงกังวลเมื่อต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ทำให้ลูกเกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล จนกลายเป็นความเครียดได้

#โดนเพื่อนแกล้งหรือเล่นรุนแรง ความเครียดของเด็กวัยอนุบาล อาจเกิดจากการกิจวัตรประจำวันที่ผู้ใหญ่มองข้าม เช่น การเล่นกับเพื่อนแล้วถูกเพื่อนแกล้ง รังแก หรือมักเจอการเล่นที่รุนแรง จนทำให้บาดเจ็บหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็มีส่วนทำให้ลูกเครียดได้

#การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว สำหรับเด็กเล็ก การเปลี่ยนแปลงคือต้นเหตุสำคัญของความเครียด โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของคนหรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน การหย่าร้าง การย้ายที่อยู่ พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือแม้แต่เรื่องที่น่ายินดี เช่น พ่อแม่จะมีลูกคนที่สอง ก็ทำให้ลูกรู้สึกเครียดได้

#ตารางชีวิตของลูกแน่นเกินไป เด็กๆ ควรจะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ไปกับความสนุกจากการได้สำรวจโลกรอบตัว ตารางเร่งเรียนหรือกิจกรรมเสริมทักษะที่แน่นเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกเครียดและกดดันได้

#ความเครียดจากสิ่งรอบตัว ข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัว แม้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับลูกโดยตรง แต่การได้ยินหรือเห็นภาพข่าว หรือความรุนแรงจากภาพยนตร์ที่ลูกเห็นโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงการเกิดภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อย่าง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ก็เกิดเป็นความเครียดในเด็กได้เช่นกัน

2. เด็กอนุบาลแสดงความเครียดผ่านร่างกาย

stressinchild_web_2

Elizabeth Pantley ผู้เขียนหนังสือ The No-Cry Separation Anxiety Solution อธิบายว่า เด็กเล็กๆ ก็เครียดเป็น ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นความเครียดแบบชั่วคราว และจะส่งสัญญาณความเครียดออกมาไม่เหมือนกัน

#การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมบางอย่าง เช่น กินน้อยลง นอนสะดุ้ง อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดูดนิ้วบ่อยๆ กัดเล็บ เคี้ยวผม รู้สึกกระวนกระวาย ปวดหัว ปวดท้อง

#การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ร้องไห้มากขึ้น ไม่ค่อยพูดจา ฉุนเฉียวง่ายกว่าเดิม ฝันร้ายและมีความรู้สึกกลัวขึ้นมาก่อนเข้านอน ลูกมักจะถามเรื่องเดิมซ้ๆ เพราะกังวลกับเรื่องที่ถาม

แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าลูกกำลังเครียดเสมอไป แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นิสัย หรือเพียงแค่ลูกกำลังเจริญเติบโตและต้องการการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ตรงกันข้าม หากพฤติกรรมของลูกแย่ลง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ได้

3. คุณพ่อคุณแม่คือผู้ช่วยคนสำคัญ

stressinchild_web_3

#หาเวลาคุยกัน ทุกครั้งที่ลูกไม่สบายใจ ลูกอาจจะเริ่มต้นเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังไม่ถูก บางครั้งก็กลัวว่า หากเล่าแล้วคุณพ่อคุณแม่จะดุ หรือรู้สึกเศร้าตามไปด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองหาโอกาสดีๆ เช่น ตอนทำกับข้าว ก่อนนอน หลังเลิกเรียน ตอนขับรถ แล้วเริ่มชวนลูกคุยไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมุ่งเน้นเพื่อหาสิ่งที่ลูกกำลังไม่สบายใจมากจนเกินไป เมื่อลูกรู้สึกดีขึ้นลูกจะยอมพูดเอง

#ลดความเครียดด้วยตัวเลือก มีความเป็นไปได้ว่า ความเครียดของลูกเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่คอยเลือกและจัดการทุกอย่างมากเกินไป จนลูกรู้สึกอึดอัดและกดดัน ดังนั้น ลองเปลี่ยนเป็นการให้ตัวเลือกที่เหมาะสมกับลูก ให้ลูกได้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง จะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

#รับรู้ความรู้สึกของลูก สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องสงบสติอารมณ์ ลดความเครียดของตัวเองลง เพื่อรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของลูกทั้งด้านบวกและด้านลบ ผ่านการคำพูด ภาษากาย และน้ำเสียง

#รักษากิจวัตรประจำวัน กิจวัตรของลูกวัยอนุบาลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตารางเวลาจะช่วยให้ลูกสามารถควบคุมตัวเองและทำให้ลูกสงบลงได้

#นาฬิกาของลูกเดินช้ากว่าของพ่อแม่ สิ่งที่ทำให้ลูกสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ด้วยดี คือ การให้เวลาลูกเตรียมตัวเตรียมใจ  หลีกเลี่ยงภารกิจที่เร่งรีบมากจนเกินไป นอกจากจะทำให้ลูกไม่เครียดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เครียดตามไปด้วยเช่นกัน

4. สอนทักษะการจัดการความเครียด

stressinchild_web_4

Rene Hackney นักจิตวิทยาพัฒนาการและผู้ก่อตั้ง Parenting Playgroups and Parenting ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การยอมรับความเครียดคือ วิชาชีวิตอย่างหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเผชิญ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถก้าวผ่านความเครียดที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี

#ให้กำลังใจ สิ่งแรกคุณพ่อคุณแม่ทำได้ทันทีคือการให้กำลังใจลูกผ่านคำพูด เช่น ลูกเก่งมากที่พยายามอดทน แต่แม่ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือลูกเสมอ และการแสดงความรักด้วยการโอบกอด จับมือ หรือหอมแก้มให้กำลังใจ

#นั่งสมาธิสไตล์เด็กอนุบาล จากผลการวิจัยในปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าการทำสมาธิสั้นๆ แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลดีกับเด็กๆ เป็นอย่างมากคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกนั่งสมาธิ ด้วยการนั่งนิ่งๆ กับลูก เป็นเวลา 1 นาที วันละ 1 ครั้ง และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2-3 ครั้ง

#ฝึกหายใจลึกๆ เป็นวิธีที่ช่วยทำให้ลูกคลายความกังวลได้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกฝนเพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกไว้เสมอ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ 5 วินาทีหรือนับ 1-5 แล้วค้างไว้ 2 วินาที ค่อยๆ หายใจออกอีก 5 วินาที

อ้างอิง
manarom
psychcentral
parents
mayoclinichealthsystem

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST