READING

ลูกดื้อมาก ต้องปรับที่เราหรือปรับที่ลูก!?...

ลูกดื้อมาก ต้องปรับที่เราหรือปรับที่ลูก!?

stubborn kids

คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยรู้สึกว่า หนึ่งในปัญหาระดับชาติที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวเพราะลูกได้ ก็คือการที่ลูกดื้อเหลือเกินนี่แหละ

พยายามสอนดีๆ ก็แล้ว หลอกล่อจูงใจด้วยวิธีต่างๆ ก็แล้ว ใช้ไม้แข็ง ดุก็แล้ว ทำโทษก็หลายครั้ง อาการดื้อของลูกก็เหมือนจะไม่ได้ลดราวาศอกให้พ่อแม่สักเท่าไร จนบางครั้งก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ลูกไปได้นิสัยดื้อรั้นขนาดนี้มาจากไหนกันนะ

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดื้อของลูกกันก่อน…

การดื้อของเด็กเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึง 6 ปี (ใช่ค่ะ เด็กแรกเกิดก็ดื้อเป็นแล้ว!) เพราะวัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ สำรวจ และทดลอง การดื้อของเด็กจึงเกิดจากความอยากทดสอบความสามารถของตัวเอง อยากรู้ว่าตัวเองทำได้หรือไม่ ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะว่าอะไรหรือเปล่า…

ดังนั้น ในฐานะคุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะต้องเข้าใจและรู้ให้ทันพัฒนาการของลูกแล้ว การเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมวิธีรับมือให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ตามช่วงวัยของลูก ก็เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้การดื้อจะเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรับมือที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ ก็อาจกลายเป็นนิสัยถาวรของลูกในอนาคตได้

เพราะฉะนั้น เรามาหาข้อมูลไว้รับมือกับเด็กดื้อกันดีกว่าค่ะ!

1. ต้องสอนลูกให้ตรงประเด็น

handlestubborn_web_1

ความคิดของเด็กยังไม่ซับซ้อน หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการสอนหรือบอกให้ลูกรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ก็ควรบอกลูกให้ชัดเจน ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อมเพื่อให้ลูกจับใจความของคุณพ่อคุณแม่ได้ทันที ด้วยน้ำเสียงที่จริงจังเพื่อให้ลูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามทันที

2. เลือกสอนลูกในเวลาที่ลูกพร้อมจะรับฟัง

handlestubborn_web_2

ลองนึกถึงตัวเอง เวลาที่ไม่อารมณ์อยากรับฟังคนอื่นเป็นอย่างไร ลูกก็สามารถมีช่วงเวลาที่ไม่พร้อมจะรับฟังหรือเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ได้เช่นกันค่ะ เช่น เวลาที่ลูกกำลังโกรธ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกใจเย็นหรือรอเวลาที่ลูกสงบลง แล้วค่อยเข้าไปพูดหรือสอนสิ่งที่ลูกควรรู้ ด้วยการอธิบายว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้สึกลูก และมีเหตุผลอะไรที่ลูกไม่ควรทำแบบนี้ แล้วแนะนำว่าลูกควรทำอย่างไรกันแน่

3. มีกฎกติกาตกลงร่วมกันภายในครอบครัว

handlestubborn_web_3

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขคือมีการเคารพกฎและกติกาของสังคมนั้นๆ

ครอบครัวเองก็เช่นเดียวกัน ควรมีกฎและกติกาที่ใช้ร่วมกันภายในบ้าน เช่น กฎที่ตั้งเพื่อเน้นความปลอดภัย และความมีระเบียบวินัยของทุกคน ซึ่งเป็นกฎที่ทุกคนสามารถทำได้

สิ่งสำคัญของการมีกฎและกติกาก็คือต้องมีการตกลงบทลงโทษที่สมเหตุสมผล หากมีการฝ่าฝืน

4. ลดความคาดหวังในตัวลูกลงบ้าง

handlestubborn_web_4

จริงอยู่ว่าคุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากให้ลูกเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย สอนอะไรก็เชื่อฟังและทำตามได้โดยไม่ต้องออกเรี่ยวแรงกันมาก แต่ความจริงคือเราต้องลดความคาดหวังว่าลูกจะเชื่อฟังทุกอย่างลงไปก่อนค่ะ

เพราะบางที พฤติกรรมของลูกอาจเป็นเพียงการทดลองและเรียนรู้ตามธรรมชาติ แต่พอคุณพ่อคุณแม่คาดหวังให้ลูกเชื่อฟังทุกอย่าง ก็เลยเข้าใจว่าการที่ลูกไม่ทำตาม เกิดจากการดื้อหรือตั้งใจต่อต้านไปเสียทุกครั้ง

ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลดความคาดหวังของตัวเองลงอีกนิด ทำใจให้สบายอีกหน่อย แล้วค่อยๆ รับมือกับความอยากรู้ อยากลอง และความดื้อของลูกให้ผ่านไปได้ทีละครั้ง แล้วคอยสนับสนุน ชื่นชม เมื่อลูกทำสิ่งที่เหมาะสมจะดีกว่านะคะ

อ้างอิง
Parents
samitivejhospitals

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST