READING

เทคนิคสอนลูกให้ ‘ใช้เงินอย่างไม่ประหยัด’ ฉบับพ่อแม...

เทคนิคสอนลูกให้ ‘ใช้เงินอย่างไม่ประหยัด’ ฉบับพ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์

switzerland parent

หากพูดถึงประเทศที่มีพร้อมทั้งสภาพอากาศ ทิวทัศน์ที่สวยงาม ภูเขา ทะเลสาบ และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม  จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่หลายคนประทับใจ และอยากเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศดีๆ ด้วยตัวเอง สวิตเซอร์แลนด์น่าจะติดอันดับอยู่ในประเทศเหล่านั้น

นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงาม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังได้รับความสนใจในฐานะประเทศที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง

และหนึ่งในการสร้างรากฐานสำคัญในการยกยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ เทคนิคหรือแนวทางการเลี้ยงลูก ที่ช่วยปลูกฝังและหล่อหลอมให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในประเทศต่อไป

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจของพ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์ อาจทำให้พ่อแม่อย่างเราๆ ต้องหันขวับ เพราะคิดว่าฟังผิดหรือเข้าใจผิดไปเองหรือเปล่าก็คือ ในขณะที่เมื่อพูดเรื่องเงิน เรามักจะสอนลูกให้รู้จักการประหยัดและเก็บออมเงินเอาไว้ก่อน แต่สำหรับชาวสวิตเซอร์แลนด์ไม่คิดอย่างนั้น

แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าการไม่สอนลูกให้ประหยัด หมายถึงการปล่อยให้ลูกใช้เงินตามอำเภอใจ เพราะความจริงแล้ว การไม่สอนให้ลูกประหยัดของชาวสวิตเซอร์แลนด์ก็คือการสอนให้ลูกรู้จักรู้ค่าของเงินและใช้เงินอย่างถูกวิธีมากกว่า

แล้วพ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์ใช้สอนให้ลูกไม่ประหยัดแต่ได้ประโยชน์สูงสุดด้วยเทคนิคอย่างไรบ้าง เราลองมาดูกันค่ะ

1. ไม่จำเป็นต้องซื้อของถูกที่สุด แต่ให้ซื้อของที่คุ้มค่าที่สุด

switzerland parent

บางคนอาจคิดว่าการซื้อของแพงเป็นการสิ้นเปลือง  แต่พ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์ จะสอนให้ลูกเลือกมองที่ความคุ้มค่าเมื่อต้องตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง เพราะบางครั้งการซื้อของที่ราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ต้องซ่อมหรือซื้อใหม่บ่อยๆ อาจจะใช้เงินเยอะกว่าซื้อของแพงที่มีคุณภาพครั้งเดียว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องสอนให้เลือกซื้อของที่ราคาถูกที่สุด แต่ให้เลือกซื้อของที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากที่สุดค่ะ

2. สอนให้ประหยัดเวลา มากกว่าที่จะประหยัดเงิน

value time

คนสวิตเซอร์แลนด์จะให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าเงินทอง เพราะแนวคิดที่ว่าเวลาเป็นทรัพยากรเดียวที่เราไม่สามารถหาซื้อเพิ่มได้ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่ควรประหยัดและเสียดายมากกว่าเงินทองก็คือเวลานี่แหละ

3. ไม่บังคับลูกให้ออมเงิน แต่สอนลูกให้ตั้งเป้าหมาย

goal

พ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์จะไม่บังคับให้ลูกต้องออมเงิน หรือหยอดกระปุกเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต แต่ถ้าเป็นความสมัครใจของลูกก็ไม่ว่า แต่วิธีที่พ่อแม่สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญมากกว่าก็คือการสร้างแรงจูงใจ เช่น ถ้าลูกอยากได้ของเล่นสักชิ้น ลูกต้องรู้ราคาของเล่นนั้น และลองคำนวณดูว่าต้องเก็บเงินอย่างไรถึงจะมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่วันถึงจะทำได้ตามเป้า และพวกเขาเชื่อว่าการไม่ให้ลูกใช้เงิน หรือบังคับให้ลูกเก็บเงินมากเกินไป จะทำให้เกิดการต่อต้านและลูกก็จะยิ่งอยากใช้เงินโดยไม่คิดให้รอบคอบมากขึ้น

4. สอนให้คำนวณการใช้เงินเมื่อมีความรักและวางแผนอนาคต

switzerland parent

พ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์จะสอนและพูดคุยกับลูกเรื่องความรักตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรัก และสร้างครอบครัว ลูกต้องมีความหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ฯลฯ เพื่อให้ลูกรู้จักคิดและวางแผนการใช้เงินของตัวเอง รู้เป้าหมายในอนาคต และยังทำให้ลูกเข้าใจว่าทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่เองมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวมากแค่ไหน การสอนเรื่องเหล่านี้จะทำให้ลูกคิดเรื่องการใช้เงินมากขึ้น

5. สอนเรื่องการเงินกับการวางแผนอาชีพ

switzerland parent

นอกจากจะสอนเรื่องการใช้เงินแล้ว  การวางแผนเรื่องงานและอาชีพก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นพ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์จึงสอนให้ลูกรู้จักคำว่าภาษี สอนให้รู้ว่าเมื่อเรามีรายได้ รัฐบาลจะหักเงินเราอย่างไร และเมื่อเกษียณอายุการทำงาน เงินที่เราจะได้กลับคืนมาจากไหน เท่าไร และสอนให้รู้จักอาชีพที่หลากหลาย ความแตกต่างของค่าตอบแทนในแต่ละอาชีพ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกรู้จักวางแผนเรื่องการทำงานและใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกอาชีพของตัวเองต่อไป

จะเห็นว่าการสอนลูกของพ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์นั้น จะเน้นเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตในอนาคต และส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดและมีเหตุผลในการใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากขึ้น แม้ว่าการประหยัดและออมเงินจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การออมเงินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพื่อให้เด็กๆ สามารถแผนการใช้เงินให้เกิดคุณค่าสูงสุดกับตัวเองต่อไป

อ้างอิง
smartpurse.me
facebook

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST