คุณพ่อคุณแม่อาจเคยสังเกตหรือได้ยินลูกวัยอนุบาลพูดพึมพำกับตัวเอง บางครั้งก็ฮัมเพลงอย่างมีความสุข หรือบางเวลาก็เหมือนกำลังแสดงบทบาทสมมติกับใครสักคน
แต่ เอ๊ะ! ถ้าลูกมีพฤติกรรมเหล่านั้นตอนอยู่คนเดียว ลูกพูดคนเดียว หรือสร้างบทสนทนาโต้ตอบกับตัวเองคนเดียว ย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่นึกสงสัยว่า อาการพูดคนกับตัวเองเช่นนี้ ถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่
อาการ ลูกพูดคนเดียว หรือการคุยกับตัวเองของเด็กมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 3-5 ปี แต่เมื่อโตขึ้น เด็กบางคนอาจเรียนรู้ที่จะพูดโต้ตอบกับตัวเองในใจ แต่เด็กบางคนก็ยังคงพูดคนเดียวให้ได้ยินอยู่เสมอ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่สบายใจหรือกังวลใจว่า การที่ลูกชอบพูดคนเดียวหรือคุยกับตัวเองบ่อยๆ นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้อย่างไร เราลองรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญมาให้ดังนี้ค่ะ
1. การคุยกับตัวเองก็ถือเป็นการฝึกภาษาและการสื่อสารได้
Ester Cole นักจิตวิทยาจากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา อธิบายว่า การที่เด็กๆ ชอบคุยคนเดียวนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างโลกใบนี้และโลกของเขาเอง รวมทั้งเป็นการออกกำลังกายทางภาษา ฝึกพูด ฝึกออกเสียง ฝึกสื่อสาร ผสมผสานกับการแสดงบทบาทสมมติ และชี้แนะให้ตัวเองทำอะไรบางอย่างไปในตัว
คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่า ลูกจะคุยกับตัวเองตอนที่ใช้เวลาอยู่ตามลำพัง หรือกำลังตั้งใจทำบางอย่าง นั่นเป็นเพราะลูกกำลังทบทวนสิ่งที่ต้องทำ หรือเล่าเรื่องประสบการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการสะท้อนความรู้สึกออกมาเพื่อความเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยจะสังเกตว่า สิ่งที่ลูกพูดกับตัวเอง มักเป็นประโยคที่ลูกเลียนแบบมาจากคุณพ่อคุณแม่ คุณครูหรือผู้ที่ดูแลลูก ทั้งการให้กำลังใจ การตักเตือน การแสดงความรู้สึก หรือคำชมต่างๆ
วัยอนุบาลเป็นวัยที่คุยเก่ง คุยกับตัวเองก็เก่ง เป็นเรื่องปกติ การให้พูดคนเดียวได้ ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญา เพราะระหว่างการพูด ควบคู่กับการเล่น การเรียนรู้มักเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
Adam Winsler ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย George Mason ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาและพบว่า เด็กอายุ 5 ขวบ เมื่อพูดกับตัวเองด้วยเสียงดังๆ จะทำบางสิ่งบางอย่างได้ดีกว่านั่งทำโดยไม่พูดอะไรเลย
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ไม่ใช่แค่เด็กวัยอนุบาล แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็คุยกับตัวเองเก่งไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาหรือทำงานให้สำเร็จ ด้วยการพูดออกเสียงให้ตัวเองได้ยิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพูดคนเดียวสามารถเป็นเครื่องมือสำหรับจัดการความคิดที่ยอดเยี่ยม และใช้ได้ดีเสมอในทุกช่วงวัย
2. คุยกับตัวเอง เพื่อพัฒนาตัวเอง
Dr. Chelsea Hetherington, Ph.D. นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการ อธิบายว่า เด็กจะเริ่มพูดคุยกับตัวเองตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ถือเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการทางภาษาและจิตใจ ช่วยฝึกทักษะทางภาษา ฝึกฝนความคิดและความรู้สึก พัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงฝึกฝนการแก้ปัญหา
เช่นเดียวกับ Kimberly Day นักวิจัยเกี่ยวกับการพูดคนเดียว (Private Speech Researcher) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสต์ฟลอริดา อธิบายเพิ่มเติมว่า การพูดคนเดียวของเด็กเป็นวิธีการกำกับดูแลตัวเอง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง ทำให้เกิดการประมวลผลทางความคิด มีความกล้าแสดงความรู้สึก และพยายามทำความเข้าใจประสบการณ์ของตัวเองหรือผลักดันตัวเองให้ผ่านสิ่งที่ยากลำบากด้วยตัวเอง
ที่น่าสนใจคือ เด็กที่พูดกับตัวเอง จะสามารถควบคุมพฤติกรรม และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองระหว่างทำกิจกรรมที่ยากลำบากได้ดีกว่า และยังช่วยให้ลูกสงบสติอารมณ์และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
แต่ตรงกันข้ามกับเด็กที่จู่ๆ ก็มีพฤติกรรมคุยกับตัวเองมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น สัตว์เลี้ยงหรือคนใกล้ชิดจากไปกะทันหัน หรือเด็กที่ถูกคนอื่นแยกออกจากกลุ่มเพื่อน คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อช่วยประเมินสภาพจิตใจและอารมณ์ของลูกด้วย
3. จินตนาการแห่งการพูด สู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดี
เมื่อลูกพูด ก็ย่อมมีผู้ฟัง และผู้ฟังคนนั้นก็คือ เพื่อนในจินตนาการ ที่ช่วยให้ลูกระบายความคิดและความรู้สึกออกมาได้ ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวของความสบายใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกเกิดความเครียดหรือมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นลูกกำลังคุยคนเดียว พูดกับตุ๊กตา หรือเล่นบทบาทสมมติกับตัวเอง หากคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองด้วยท่าทีตื่นตกใจ ตำหนิ ห้ามไม่ให้ลูกทำอีก หรือแม้แต่การถามว่า ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น ตุ๊กตาไม่ใช่คนเสียหน่อย! ก็อาจทำให้ลูกไม่กล้าพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการของตัวเองอีก เท่ากับเป็นการสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้
นอกจากนี้ การพูดกับตัวเอง ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้กำลังใจตัวเอง เพื่อยืนยันให้ตัวเองมีความเพียรพยายาม ทั้งยังเป็นเสมือนเครื่องช่วยจำ จดจำข้อมูลสำคัญๆ ผ่านการพูดกับตัวเองได้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ที่อาจย้ำคำพูดของตัวเอง เพื่อป้องกันการลืมสิ่งที่ต้องทำได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสนับสนุนและเข้าใจพฤติกรรมของลูก แม้ว่าในบางครั้งอาจจะดูแปลกๆ ไปบ้าง หรือพฤติกรรมนี้อาจจะดำเนินต่อไปจนถึงช่วยวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ตราบใดก็ตามที่การคุยกับตัวเองไม่รบกวนชีวิตประจำวัน หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจ หายห่วงได้
4. แต่หากลูกคุยคนเดียวไม่หยุด หรือมีแต่ถ้อยคำต่อว่าตัวเอง ต้องระวัง!
Barbara Potts ที่ปรึกษาโรงเรียนประถมศึกษา ยืนยันว่า เด็กๆ พูดคุยกับตัวเองเป็นเรื่องปกติและยังดีต่อตัวเด็กเอง แต่บางกรณีก็อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กได้ เช่น พูดคนเดียวไม่หยุด จนทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจ หวาดระแวง หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมทั้งการพูดคุยกับตัวเองด้วยคำพูดเชิงลบหรือต่อว่าตัวเองซ้ำๆ นี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเช่น โรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า
นอกจากนี้ ลูกชอบคุยคนเดียว อาจมาจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคออทิสติก ที่มักจะมีพฤติกรรมทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ และการคุยกับตัวเองก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมดังกล่าว รวมไปถึงเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) อาจดูเหมือนกำลังคุยกับตัวเอง พึมพำอยู่คนเดียว เพราะต้องการอธิบายความคิดของตัวเองให้ตัวเองได้ฟัง แต่เป็นการกระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีพฤติกรรมแบบนั้น
แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า การที่ลูกชอบพูดคนเดียว คุยกับตัวเองอยู่บ่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ออทิสติก หรือมีความผิดปกติอื่นๆ หากคุณพ่อคุณแม่กังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูก สามารถขอคำแนะนำจากนักจิตวิทยาเด็ก หรือกุมารแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไปได้นะคะ
5 พฤติกรรมธรรมด๊า ธรรมดาของลูก ทีทำให้พ่อแม่เป็นกังวล
COMMENTS ARE OFF THIS POST