เด็กๆ พูดเก่งมักจะดูน่ารักน่าเอ็นดูในสายตาผู้ใหญ่ แต่หนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเผชิญก็คือ ลูกวัยอนุบาลที่ชอบต่อปากต่อคำ จนน่าปวดหัว
คุณพ่อคุณแม่คงไม่สบายใจนักเวลาที่พูดอะไรแล้วลูกกลับตอบสนองด้วยการปฏิเสธ หรือโต้ตอบด้วยคำพูดที่เอาแต่ใจ จากเด็กพูดเก่งในสายตาคนอื่น กลายเป็น ลูกเถียงเก่ง ของคุณพ่อคุณแม่ เพราะพฤติกรรมการเถียงของลูก มักถูกกระตุ้นเมื่อลูกต้องการอธิบายหรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง หรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เครียด เหนื่อยล้า ไม่สบาย
นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากความรู้สึกโกรธ คับข้องใจ และต้องการทดสอบความอดทนหรือขีดจำกัดของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย
ดังนั้น นอกจากการสอนวิธีแสดงออกที่เหมาะสมให้ลูกแล้ว วิธีที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ตอบสนอง ลูกเถียงเก่ง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้รับมือและเปลี่ยนพฤติกรรมต่อปากต่อคำของลูกได้ดีอีกด้วย
1. นิ่งสงบ สยบทุกสิ่ง

Amy Morin, LCSW นักจิตบำบัด และนักเขียนชื่อดัง เจ้าของหนังสือ 13 Things Mentally Strong People Don’t Do. อธิบายว่า เด็กๆ มักมีความสามารถในการกดปุ่ม ‘โกรธ’ ของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะเจ้าหนูยอกย้อนวัยอนุบาล ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกด้วยความโกรธ ลูกมักจะตอบสนองกลับโดยทันทีเช่นกัน
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการให้ลูกเรียนรู้การทำสงครามจากคำพูดสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ อย่าตอบสนองลูกด้วยความโกรธ หรือจนกว่าอารมณ์ของตัวเองจะคงที่ ให้หายใจเข้าลึกๆ ก่อนพูดด้วยท่าทางที่สงบและควบคุมอารมณ์ได้ ยิ่งคุณพ่อคุณแม่สงบมากเท่าไหร่ ลูกก็จะเรียนรู้วิธีการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นแบบเชิงบวกเช่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
แต่หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า ไม่สามารถรับมือกับการเถียงของลูกได้ ลองขอเวลานอกให้กับตัวเอง แล้วบอกลูกว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังโกรธ แล้วจะกลับมาคุยกันใหม่เมื่ออารมณ์คงที่แล้ว
2. เปิดใจฟังลูก (แม้ว่าลูกกำลังต่อปากต่อคำสุดกำลัง)

Sarah Conway นักจิตวิทยาเด็กและ Parent Coach ระบุว่า พ่อแม่ไม่ควรรีบเพิ่งปฏิเสธพฤติกรรมการเถียงของลูก แต่ควรเปิดใจและพิจารณาการต่อปากต่อคำของลูก เพื่อทำความเข้าใจความคิดของลูกมากขึ้น
เพราะในระหว่างที่ลูกกำลังเถียงหรือต่อปากต่อคำคุณพ่อคุณแม่ ลูกก็กำลังเผชิญกับความซับซ้อนของอารมณ์และการใช้ภาษาของตัวเองเพื่อสื่อสารความคิด แสดงความรู้สึก และความต้องการของตัวเองเช่นกัน
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจไปที่ใจความของสิ่งที่ลูกพยายามสื่อสาร และแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะฟัง และการรับฟังจะได้ผลดียิ่งขึ้น หากลูกรู้จักพูดด้วยเหตุผลและอารมณ์ที่คงที่
3. อดทน และใช้ใจกับลูกเสมอ

เวลาที่ลูกต้องการพูดความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองออกมาการตอบสนองเชิงบวกของคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นเสียงที่ดังที่สุดและดีที่สุดที่ลูกจะได้ยินและรับฟัง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองการเถียงของลูกด้วยความอดทน ที่มีความเข้าใจเป็นที่ตั้ง
เมื่อสถานการณ์ปกติคุณพ่อคุณแม่ค่อยเริ่มสอนหรืออธิบายสิ่งที่ลูกพยายามโต้เถียง แม้อาจจะต้องใช้เวลานาน และทำซ้ำหลายครั้ง แต่ก็เป็นวิธีที่ดีกว่าคุณพ่อคุณแม่จะตอบสนองลูกด้วยการเถียงเช่นเดียวกัน
4. เข้าใจว่าการเถียงเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต

Dr. Rashmi Prakash นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัด ระบุว่า ลูกวัยนี้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกหงุดหงิดใจไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต เพราะลูกจำเป็นต้องเรียนรู้การแสดงความมั่นใจในเรื่องของตัวเอง และไม่ได้หมายความว่า ลูกไม่เคารพคุณพ่อคุณแม่ แต่สิ่งที่ลูกแสดงออกมาเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะแสดงว่าลูกกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ทั้งด้านร่างกายและความคิด
COMMENTS ARE OFF THIS POST