READING

5 เรื่องเบื้องหลัง ‘ตาตุและปาตุ’ อะไรที่ทำให้หนังส...

5 เรื่องเบื้องหลัง ‘ตาตุและปาตุ’ อะไรที่ทำให้หนังสือสุดเพี้ยนจากฟินแลนด์ชุดนี้ เดินทางไกลไปทำให้เด็กทั่วโลกตกหลุมรัก

ปาตุและตาตุ

(บทความนี้เหมาะสำหรับนักสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเด็ก และคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเข้าใจว่าหนังสือดีๆ ทำให้เด็ก (รวมถึงผู้ใหญ่) โดนตกได้อย่างไร)

กว่าสองปีแล้วที่นักอ่านรุ่นเล็ก (และรุ่นใหญ่) ชาวไทยได้รู้จักกับสองตัวละครสุดเพี้ยน ตาตุและปาตุ ผ่านหนังสือเล่มไม่หนาเท่าไหร่ แต่ทำไมถึงได้อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวขวนหัว จินตนาการที่ชวนประหลาดใจ คิดได้ยังไงเนี่ย กลายเป็นกระแสบอกต่อกันในหมู่เด็ก จากเล่มแรก สู่เล่มที่สอง และล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ หนังสือชุด ตาตุและปาตุ ก็เพิ่งได้แปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเป็นเล่มที่สี่ (บวกกับอีกหนึ่งสมุดกิจกรรม) เป็นที่เรียบร้อย

บ้านเกิดของตาตุและปาตุอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ ใช่แล้ว! ประเทศที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มีระบบห้องสมุดที่ดีที่สุดในโลก ผู้คนมีความสุขติดอันดับต้นๆ ของโลก พวกเขาชอบซาวน่าและลงไปว่ายในน้ำแข็ง (เอ๊ะ เกี่ยวอะไร!)

ผู้เขียนและวาดภาพหนังสือชุดนี้คือ Aino Havukainen และ Sami Toivonen สามีภรรยาชาวฟินแลนด์ ที่ระหว่างอ่าน ตาตุและปาตุ เราจะนึกในใจเสมอว่า คนที่เขียนหนังสือเพี้ยนๆ แต่น่ารักแบบนี้ขึ้นมาได้ ต้องเป็นคนแบบไหนกันแน่…

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทาง TK Park ร่วมกับสำนักพิมพ์นาวา ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ถอดรหัสนิทานนอกกรอบ กับตาตุ ปาตุ’ โดยเชิญนักเขียนทั้งสองมาพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังแนวคิดในการผลิตผลงาน วิธีการทำงาน ไปจนถึงการตอบคำถามจากนักอ่านตัวเล็ก ที่มีเก็บเอาความสงสัยตอนอ่าน มาซักถามกับผู้เขียนแบบสดๆ

บรรยากาศการพูดคุยในวันนั้นจึงสนุกและน่ารักเป็นที่สุด

เราได้เก็บเอา 5 เรื่องน่าสนใจ อันเป็นส่วนผสมลับที่ทำให้หนังสือชุด ตาตุและปาตุ ทะลุกำแพงภาษาและวัฒนธรรม เข้าไปยึดครองหัวใจ กลายเป็นที่รักและสร้างเสียงหัวเราะให้เด็กๆ ทั่วโลกได้

กดปุ่มสีชมพูที่ด้านซ้ายของเครื่องดูดความลับนักเขียนสามครั้ง แล้วเริ่มอ่านได้!

สิ่งพิเศษ = ธรรมดา 

คุณซามิเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ ตาตุและปาตุ มาจากการสำนักพิมพ์ที่มอบโจทย์มาให้ว่า อยากจะทำหนังสือชุดที่พูดเรื่องใกล้ตัวและเรื่องในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มันเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายแค่นั้น ดังนั้นเมื่อมาถึงขั้นตอนการวางคาแรกเตอร์ จึงเลือกสร้างให้ตัวเดินเรื่องหลักเป็นคนนอก (Outsider) ที่มาจากที่อื่น โลกอื่น ด้วยคิดว่า ถ้าตัวละครเข้ามาในโลกนี้ด้วยสายตาที่สดใหม่ มองเห็นอะไรก็แปลกตาและไม่รู้จักอะไรเลย เราก็จะบอกหรือสอนอะไรก็ได้

ในขณะเดียวกันเด็กๆ เองก็สนุกกับเนื้อเรื่องโดยไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกสอน แต่ตัวเขานี่ล่ะที่อยากจะสอนตาตุและปาตุ เพราะเด็กๆ รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ ที่แท้จริงแล้วมันเป็นแบบไหน เมื่อเห็นตาตุและปาตุทำอะไรเพี้ยนไป เด็กๆ ก็จะเอ็นดู และคิดว่า ทำไมเนี่ย ทำไมถึงไม่ทำอย่างนี้ละ มันทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ในขณะเดียวกัน เด็กๆ จะได้ซึมซับทางเลือกที่เป็นไปได้อันหลากหลาย ไม่ใช่ทุกคนต้องคิดและทำเหมือนกันหมด จะเพี้ยนๆ ตลกๆ แบบที่ตาตุปาตุทำ ก็อาจเป็นไปได้

ชื่อ ‘ตาตุ’ และ ‘ปาตุ’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาจากความง่าย คุณไอโนและคุณซามิบอกว่ามันเป็นคำธรรมดามากๆ ในภาษาฟินน์ เราคาดเดาเอาเองว่าคงคล้ายๆ ชื่อ มานี มานะ อีกา รูปู คือเป็นเสียงพื้นฐานที่เด็กๆ อ่านง่ายจำง่าย คุณไอโนและคุณซามิจึงดึงเอาคำนี้มาเป็นชื่อตัวละคร

ผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว ตาตุและปาตุ เคยไปปรากฏตัวอยู่ในหนังสือชุด Veera ซึ่งคุณซามิและคุณไอโนตั้งใจที่จะค่อยๆ แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักและเข้าใจความเป็นตัวละครเพี้ยนๆ อย่างตาตุและปาตุ เพราะหนังสือ Veera นั้น เป็นเด็กผู้หญิงที่มีความเป็นเหตุเป็นผล ก็คืออยู่บนโลกมนุษย์ปกตินี่ล่ะ เมื่อได้อ่านเล่มนี้ คนจึงได้รู้ว่าตาตุและปาตุนั้นเพี้ยนและมีกรอบน้อยกว่า เมื่อคุ้นเคยแล้ว จึงค่อยทำเป็นหนังสือ ตาตุและปาตุ ในภายหลัง

ในความพิเศษบนเบื้องหน้าที่เราได้อ่าน เต็มไปด้วยเรื่องราวแสนธรรมดาที่ไมได้พยายามปรุงแต่งให้ไกลตัวจนจับต้องไม่ได้ แต่เป็นเสน่ห์ที่จับต้องได้อย่างแท้จริง

ให้ความสำคัญกับไอเดีย

จุดเด่นของ ตาตุและปาตุ คือจินตนาการสุดล้ำที่เล่าผ่านมุกขำๆ แน่นอนว่าสิ่งนี้จะมีได้ต้องเกิดจากการทำงานอย่างหนักเพื่อคิดหาไอเดีย แต่การฟังนักเขียนเล่าให้ฟังในวันนั้น ทำให้เราได้รู้ว่า เขาทำงานหนักกว่าที่เราคิดเสียอีก

คุณไอโนเล่าว่า โดยปกติแล้วทั้งสองจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ต่อการทำหนังสือหนึ่งเล่ม เกินครึ่งหนึ่งของช่วงเวลานั้น หมดไปกับการคิดไอเดีย โดยวิธีการที่ใช้คือการนั่งคุย โยนความคิดกันไปมา ที่โซฟาตัวโปรดในบ้าน เมื่อคนหนึ่งคิด อีกคนก็ท้าทาย ต่อยอด ถกเถียง เพื่อให้ได้ภาพร่างของสิ่งที่คิด

แต่มันยังไม่จบแค่นั้น คุณซามิพูดสิ่งที่สำคัญคือบอกว่า “อย่าตกหลุมรักไอเดียแรกของตัวเองมากเกินไป” แต่ให้ไปหาฟีดแบ็ก ให้คนอื่นได้คอมเมนต์งานที่คิด จากทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เช่นลูกๆ ของคุณไอโนและซามิ ก็เป็นผู้อ่านทวนที่ดีเสมอ

“เราเองพยายามหามุมมองใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ ไม่ใช่แค่กับคนอ่านนะ แต่มันเพื่อตัวเราเองด้วย ในตอนเริ่มต้น เราไม่รู้ว่าควรนำเสนอมันยังไง แต่ก็ต้องหาวิธีใหม่ทุกเล่ม เพื่อให้เรายังสนุกและตื่นเต้นอยู่เสมอ”

 “สิ่งสำคัญในการทำหนังสือสำหรับเด็ก คือห้ามดูถูกเด็กๆ ใช้คำยาวๆ คำยาก และภาพที่ละเอียดได้เลย ผู้อ่านของเรามีตั้งแต่ 2-12 ปี แต่ละวัยมีการรับรู้และเห็นรายละเอียดที่เราใส่ไว้ในภาพไม่เหมือนกัน และถึงไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ใส่ไปก่อน ท้าทายเขา เด็กๆ ฉลาดมากนะ เดี๋ยวเขาก็จะเห็น”

ไม่ดูถูกเด็ก 

อาจเป็นเพราะคนฟินแลนด์มีความเชื่อมั่นและเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันมากอยู่แล้วก็เป็นได้ ทำให้แนวคิดเรื่องการ “ไม่ดูถูกเด็ก” อยู่เบื้องหลังการทำหนังสือเล่มนี้ของคนทั้งคู่

“สิ่งสำคัญในการทำหนังสือสำหรับเด็ก คือห้ามดูถูกเด็กๆ ใช้คำยาวๆ คำยาก และภาพที่ละเอียดได้เลย ผู้อ่านของเรามีตั้งแต่ 2-12 ปี แต่ละวัยมีการรับรู้และเห็นรายละเอียดที่เราใส่ไว้ในภาพไม่เหมือนกัน และถึงไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ใส่ไปก่อน ท้าทายเขา เด็กๆ ฉลาดมากนะ เดี๋ยวเขาก็จะเห็น”

ตลอดการทำหนังสือชุดนี้ ผู้เขียนได้รับคำถามจากนักอ่านตัวน้อยส่งมาเยอะมาก อย่างเช่นในการไลฟ์วันนั้น ก็มีคำถามจากเด็กๆ เข้ามา เช่น “เครื่องติดหนวดปลอม จากเล่มสิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุนั้นทำมาจากมันฝรั่งแบบไหน” คุณซามิหัวเราะเสียงดัง ก่อนจะบอกว่า เขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ว่าที่ฟินแลนด์ เวลาเด็กๆ ทำงานประดิษฐ์ที่โรงเรียน จะใช้มันฝรั่งผ่าครึ่ง มาทาบนกระดาษให้เหนียวแทนกาว และยังชมด้วยว่า นี่เป็นคำถามที่ยาก แต่ก็ดีมากๆ

ยังมีอีกความตั้งใจที่ผู้เขียนใส่เอาไว้ในหนังสือ เช่น เครื่องไล่ปีศาจ ที่ในภาพวาด ผู้เขียนทำให้เห็นว่ามันสร้างขึ้นจากสิ่งของหาได้รอบตัวเด็กๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะเขาอยากให้เด็กๆ เห็นว่า สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ทำเองได้ และอยากจะลุกขึ้นมาสร้างบ้าง แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ เพราะเด็กๆ จากทั่วโลกส่งภาพสิ่งประดิษฐ์​ ภาพวาด ไอเดียเจ๋งๆ ต่างๆ มายังผู้เขียนอยู่เสมอ เด็กไทยเองก็เช่นกัน คุณซามิและคุณไอโนบอกว่า ติดตามดูไอเดียของเด็กๆ อยู่เสมอ ผ่านเพจของสำนักพิมพ์นาวา

ในแง่การสร้างสรรค์ แม้จะเป็นหนังสือเด็ก แต่คุณซามิ ที่รับบทวาดภาพทั้งหมดในเล่ม ก็เลือกใช้วิธีการวาดเส้นด้วยมือทั้งหมด และไม่ได้แค่วาดเพียงครั้งเดียวด้วย แต่ปรับแก้เติมหรือตัดไอเดียผ่านการวาดใหม่ทุกครั้ง จนพอใจ เขาจึงวาดภาพร่างสำเร็จลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ ก่อนจะส่งต่อให้คุณไอโน จัดการกับเส้นวาดมือเหล่านั้นในคอมพิวเตอร์

งานสำหรับเด็กจึงไม่มีข้อจำกัดทั้งในแง่วิธีการสร้างสรรค์ คำที่ใช้ และไอเดีย ศิลปินสามารถสร้างสรรค์มันได้เต็มที่ ตราบใดที่ยังสนุกกับงานนั้น แล้วปล่อยให้ผลงานที่เราเชื่อว่ามันผ่านมือเรามาอย่างดีที่สุด เข้าไปทำงานในหัวใจเด็กๆ เอง

หมั่นเติมพลังให้ตัวเอง

การจะเป็นนักสร้างผลงานที่สนุกและตลกแบบนี้ ต้องมาจากผู้เขียนที่สุขภาพจิตใจแข็งแรงพอสมควร มีช่วงหนึ่งที่คุณก้อย-กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์นาวา ผู้เป็น Moderator ในวันนั้น ถามคำถามกับคุณไอโนและคุณซามิว่า “มีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้เรายังสามารถผลิตงานที่มีความสุขแบบนี้ออกมาได้”

คุณซามิตอบว่า “เราไม่มีวันหยุดมากนัก แต่ก็โชคดีที่เราวางแผนการทำงานเอาไว้อย่างเป็นระบบพอสมควร เพราะเราทำงานทั้งวันไม่ได้ สมองเราจะพังเอา” วิธีการที่ทั้งสองใช้ในการผลิตงาน คือในช่วงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่สมองโลดแล่นที่สุด ทั้งคู่จะคุยเพื่อหาไอเดียจนพอใจ หลังจากนั้นจะเป็นการพักผ่อน ให้พวกเขาได้ทำอะไรที่อยากทำ

เมื่อกระบวนการทำหนังสือเข้าสู่ช่วงผลิต ไอเดียสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แน่นอนว่าขั้นตอนนี้จะกินเวลาในหนึ่งวันค่อนข้างยาวนาน เพราะมันเป็นการทำงานละเอียด ทำงานกับภาพและตัวอักษร แต่มันไม่ได้ต้องการสมองที่กะปรี้กะเปร่าเท่าตอนคิดไอเดีย มันไม่เครียดเท่า พวกเขาจึงสามารถทำงานอยู่ในสตูดิโอได้ยาวนาน

“เราโชคดีที่ขั้นตอนมันไม่ซ้ำกันเลยในหนึ่งปี รูปแบบวิธีการทำงานในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน เราจึงมีทั้งเวลาที่ทำงานและเวลาที่ได้พักผ่อน”

การพักผ่อนของศิลปินทั้งสอง จะหมดไปกับการอ่านหนังสือ เล่นเกม เล่นบอร์ดเกมกับลูก คุณซามิเล่าให้ฟังถึงเกมใหม่ที่เขากำลังชอบอยู่ในตอนนี้ เป็นเกมเต้นที่ต้องต่อจากโทรศัพท์มือถือเข้ากับคอมพิวเตอร์ แล้วเต้นตาม เขาบอกว่ามันสนุกมาก ได้ออกกำลังกาย และได้บริหารสมองด้วย

“มันสำคัญมากที่จะต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง แล้วค่อยกลับมาทำหนังสือ” คุณซามิทิ้งท้าย

การได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างหนังสือ (author) มันค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องมาพร้อมความเป็นมืออาชีพ การอยากทำหนังสือสักเล่ม มันเริ่มจากว่าคุณอยากได้ชื่อว่าเป็น Author อยากเป็นนักเขียน หรือจริงๆ แค่มีเรื่องมีจะเล่า

งานที่ดีเกิดจากการทำงานที่หนัก

ตลอดการพูดคุยในวันนั้น คำที่ทั้งคุณซามิและคุณไอโนพูดอยู่บ่อยๆ คือการบอกว่า ‘ต้องทำงานหนัก’ และเอาจริงเอาจังในทุกขั้นตอน แม้ว่าจะเป็นหนังสือเด็ก ย้อนกลับไปที่ข้อก่อนหน้านี้คือเราจะไม่ดูถูกเด็ก ดังนั้น ในการทำงาน ศิลปินก็จะต้องทำให้เต็มที่

หากต้องการทำหนังสือเด็กสักเล่ม เราต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองให้มาก ต้องทำหนังสือเพื่อตัวเอง อย่าคิดถึงผู้อ่านมากนัก ไม่อย่างนั้นเราเองจะหลงทาง ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่า ทำไมโลกใบนี้ถึงต้องมีหนังสือเล่มนี้อยู่ การที่หนังสือหนึ่งเล่มจะพิมพ์ออกมา ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมากมาย ใช้กระดาษ ใช้ไฟ ใช้แรงกายแรงใจ ดังนั้น หากมันจะมีอยู่ หนังสือเล่มนั้นมีคุณค่ามากเพียงพอไหม มันสนุก มันให้ความรู้ หรือให้ความบันเทิง ทำหน้าที่ตามความตั้งใจนั้นดีแล้วใช่ไหม ต้องคิดแบบทะเยอทะยานไว้ก่อน ว่าหนังสือนี้ให้อะไรกับโลก หรือจริงๆ มันเป็นแค่เรื่องของตัวเราเอง

สำหรับคนที่กำลังผลิตงาน ให้ทำเยอะๆ วาดเยอะๆ แล้วพักไว้ ก่อนจะกลับมาดูอีกครั้งเพื่อพัฒนาให้ดีที่สุด อย่าส่งงานให้สำนักพิมพ์ไปด้วยร่างแรก และแม้จะถูกปฏิเสธก็ไม่เป็นไร ให้ลองไปก่อน

“การได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างหนังสือ (author) มันค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องมาพร้อมความเป็นมืออาชีพ การอยากทำหนังสือสักเล่ม มันเริ่มจากว่าคุณอยากได้ชื่อว่าเป็น Author อยากเป็นนักเขียน หรือจริงๆ แค่มีเรื่องมีจะเล่า ซึ่งเรามองตัวเองเองยังคิดว่าไม่ใช่ แม้เวลาไปงาน Book Fair จะถูกเรียกแบบนั้น แต่เรายังมองว่าเราเป็นคนทำงานที่ต้องพัฒนาทักษะตัวเองเรื่อยๆ ไปทุกวัน และทำงานของเราต่อไป”


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST