คุณพ่อคุณแม่เคย สอนการบ้านลูก แล้วโมโห กันไหมคะ? เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียนก็มักจะมีการบ้านมาให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยสอน บางครั้งลูกอาจไม่เข้าใจบทเรียน ตั้งคำถามเยอะ หรือจำสิ่งที่เราเคยสอนไปแล้วไม่ได้ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่หงุดหงิดและเผลอใช้อารมณ์กับลูก เป็นเหตุให้ลูกน้อยเสียน้ำตา ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็มารู้สึกผิดภายหลัง
Debbie Pincus ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว เผยว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์ขณะสอนการบ้านลูก จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกต่อต้าน ปิดกั้นตัวเองจากการเรียนรู้ใหม่ๆ และไม่อยากทำการบ้านจนติดเป็นนิสัยได้ ดังนั้น M.O.M จึงได้รวบรวม 5 ทริกเล็กๆ ที่จะช่วยให้การ สอนการบ้านลูก ไม่กลายเป็นสนามรบระหว่างคุณพ่อคุณแม่และเจ้าตัวเล็ก
1. ใช้กฎ “ใจลูกใจเรา”

คุณพ่อคุณแม่ต่างก็เคยผ่านช่วงวัยเด็กที่ขี้เกียจทำการบ้าน หรือรู้สึกว่าบทเรียนยากจนไม่อยากทำการบ้านกันมาบ้าง ลูกก็เช่นกันค่ะ
เมื่อลูกเกิดความสงสัย เสียสมาธิ หรือบ่นว่าการบ้านยาก ไม่อยากทำ คุณพ่อคุณแม่จึงควรตอบรับด้วยความเข้าใจ แทนการตำหนิด้วยถ้อยคำเชิงลบ เช่น ‘ทำไมลูกขี้เกียจแบบนี้’ ‘ทำไมโจทย์ง่ายๆ แบบนี้ลูกถึงทำไม่ได้’ คำพูดเหล่านี้จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกเสียกำลังใจ ไม่อยากทำการบ้านต่อ และนำไปสู่การขาดความมั่นใจในตัวเองได้
2. สอนให้ลูกเข้าใจเนื้อหา ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบ

การเรียนด้วยความเข้าใจย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนกว่าการท่องจำ หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่สอนการบ้านลูก เพียงเพื่อให้ได้คำตอบของโจทย์ข้อนั้นๆ แต่ไม่ได้สอนลูกให้เข้าใจถึงเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้ลูกเข้าใจบทเรียนเพียงชั่วคราว เมื่อต้องเจอกับโจทย์ใหม่ๆ ลูกก็จะเกิดความสับสนและทำไม่ได้ จนเป็นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความหงุดหงิดขึ้นได้
3. ใช้เกมเป็นสื่อการสอน

เป็นธรรมชาติของเด็กๆ ที่ชื่นชอบการเล่นสนุกมากกว่าการจับดินสอและนั่งทำแบบฝึกหัดอยู่เฉยๆ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญยืนยันอีกด้วยว่า การเล่นสนุกของเด็กๆ สามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และเมื่อเด็กๆ รู้สึกสนุกกับกิจกรรมบางอย่าง สมองจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่หาเกมสนุกๆ ที่เกี่ยวกับบทเรียน มาเล่นกับเจ้าตัวเล็ก ก็จะทำให้ลูกสนุกและเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ ได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ไม่ต้องหงุดหงิดและเผลอระเบิดอารมณ์ใส่ลูกด้วยค่ะ
4. หาช่วงเวลาที่ใช่

เวลาที่เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์การสอนการบ้านลูกดำเนินไปอย่างราบรื่น คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกสะดวกทั้งสองฝ่าย โดยหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่กลับถึงบ้านทันที เพราะทุกคนต่างก็เหน็ดเหนื่อยจากภารกิจที่ต้องทำในแต่ละวัน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ส่วนเจ้าตัวเล็กก็อาจจะยังไม่พร้อมต่อการเรียนรู้
คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้พักดูการ์ตูนที่ชอบ เล่นของเล่นชิ้นโปรด หรือได้กินอาหารอร่อยๆ ก่อนเริ่มทำการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรผ่อนคลายและรีเซ็ตอารมณ์ก่อนสอนการบ้านลูกเช่นเดียวกันค่ะ
5. อารม์เสียให้หยุดก่อน

คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบของการจัดการอารมณ์เชิงลบของลูก หากคุณพ่อคุณแม่ระเบิดอารมณ์ใส่ลูกจนเคยชิน จะให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นและติดเป็นนิสัยได้
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกหงุดหงิดจากการสอนการบ้านลูก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หยุดสอน หรือเว้นช่วงพักเบรค เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ระงับอารมณ์ของตัวเองก่อน และเมื่อใจเย็นลงจึงค่อยเริ่มสอนการบ้านลูกต่อ
COMMENTS ARE OFF THIS POST