สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังให้เด็กแสดงพฤติกรรมต่อผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ สุภาพ มีมารยาท และมีสัมมาคารวะ ไม่ว่าจะเป็น การไหว้ การกล่าวทักทาย การเดินผ่าน ล้วนมีกิริยาท่าทางที่เด็กควรปฏิบัติ เพื่อแสดงถึงความอ่อนน้อม ให้เกียรติ และมีมารยาทอันดีในสังคม
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญในการสอนและส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมสุภาพเรียบร้อย มีมารยาท และปฏิบัติตัวต่อผู้ใหญ่ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
1. อธิบายและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น

คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจวัฒนธรรมการให้เคารพผู้ใหญ่ รวมถึงอธิบายว่าเด็กที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่สุภาพย่อมไม่เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ใหญ่ที่พบเห็น
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เช่น การทำความเคารพญาติผู้ใหญ่ด้วยความนอบน้อม พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพเรียบร้อย ไม่นั่งไขว่ห้างต่อหน้าหรือยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ เพื่อให้ลูกเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมที่เหมาะสมไปปฏิบัติตามเมื่อพบเจอผู้ใหญ่
2. มีข้อตกลงในการทำโทษเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่เหมาะสมต่อหน้าผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตีหรือลงโทษรุนแรงในทันที เพราะจะทำให้ลูกมีความรู้สึกอับอาย และไม่ต้องการเผชิญหน้าผู้ใหญ่คนนั้นอีก
ลองเปลี่ยนวิธีการที่จะทำให้ลูกเข้าใจความผิดของตัวเองด้วยการทำข้อตกลงล่วงหน้า เช่น ถ้าไปเจอคุณย่าแล้วลูกเกเรใส่คุณย่า กลับบ้านมาจะต้องโดนลดเวลาออกไปเล่นนอกบ้าน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำความผิดเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกอับอายต่อหน้าผู้ใหญ่
แต่หากลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชื่นชมเพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาทำในสิ่งที่เหมาะสมแล้ว
3. อดทนและสอนลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป

การสอนลูกเกี่ยวกับมารยาท คุณพ่อคุณแม่ควรสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 3-5 ขวบ วัยที่นอกจากจะยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมได้แล้ว ยังเป็นวัยที่ชอบแสดงความเป็นตัวของตัวเองด้วยการทดลองทำสิ่งตรงข้ามกับที่คุณพ่อคุณแม่สอน
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กและให้เวลาลูกเรียนรู้ความผิดพลาดไปพร้อมๆ กับเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่
4. สอนลูกให้พูดถ้อยคำสุภาพให้ชินปาก

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกมีคำพูดติดปากที่ดี เช่น พูดลงท้ายว่าครับ หรือค่ะ กับผู้ใหญ่ทุกครั้ง และเลือกใช้คำที่สุภาพกว่าในประโยคสนทนากับผู้ใหญ่ เช่น แทนที่ลูกจะบอกคุณครูว่า ‘ขอไปฉี่หน่อยนะ’ ลูกควรพูดกับคุณครูว่า ‘ขออนุญาตไปปัสสาวะนะครับ’
5. ปลูกฝังพฤติกรรมดีๆ ด้วยการใช้นิทาน ข่าว หรือการ์ตูนที่ลูกชอบ

คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือนิทาน ข่าว หรือการ์ตูนที่มีตัวอย่างและข้อคิดเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมที่ดี ตัวละครมีมารยาทที่ดี เพื่อให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรทำผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว และยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย
สิ่งสำคัญในการสอนให้ลูกเป็นเด็กที่มีมารยาทและประพฤติตัวเหมาะสมกับผู้ใหญ่คือการสังเกตและตักเตือนเมื่อเห็นลูกทำตัวไม่เหมาะสม และบอกวิธีหรือหาโอกาสให้ลูกได้ลองแก้ไขหรือปรับปรุงตัว พร้อมให้กำลังใจและคำชมเมื่อลูกทำตัวดีอย่างสม่ำเสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST