READING

เมื่อไหร่ควรบอกให้ลูก ‘สู้’ และเมื่อไห...

เมื่อไหร่ควรบอกให้ลูก ‘สู้’ และเมื่อไหร่ถึงจะยอมให้ลูก ‘ยอมแพ้’

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เล็งเห็นว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาทอง ที่ลูกๆ จะได้เรียนรู้และค้นหากิจกรรมที่ชอบหรือความถนัดที่ใช่ของตัวเอง ก็เลยพยายามจูงมือลูกไปทำกิจกรรมโน่นนี่นั่นบ่อยๆ

 

แต่ต้องไม่ลืมสังเกตพฤติกรรมลูกน้อย เมื่อไหร่ที่ลูกเริ่มมีอาการอิดออด ลืมของ แกล้งป่วย หรือแสดงอาการงอแง อยากยอมแพ้ตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณว่าเขาเหนื่อยจนเริ่มถอดใจ หรือกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่หามาอาจจะไม่ใช่

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ที่ควรจะเชียร์อัปให้ลูกสู้ต่อ หรือเมื่อไหร่ควรยอมรับและเปลี่ยนให้ลูกลองทำกิจกรรมอื่นที่เขามีความสุขกับมันจริงๆ

ให้ลูกสู้กับมันอีกสักตั้ง!
เมื่อ…

1. ลูกเครียดหรือวิตกกังวลเมื่อต้องเจอสิ่งใหม่ๆ

สำหรับเด็กๆ การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ อาจทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกคลื่นยักษ์แห่งความกลัว และความวิตกกังวลถล่มเลยทีเดียว ไม่เกี่ยวกับว่าเขาอยากจะทำมันหรือไม่ แต่การกลัวสิ่งใหม่ๆ นี่แหละ ที่ทำให้เขาไม่อยากลุกขึ้นไปทำอะไรเลย

fight_lose_1

DO:

จัดการกับความกลัวและความเครียดของลูก สนับสนุนให้เขาทำมันต่อไป ลองขอเข้าไปนั่งเป็นเพื่อนลูกในคลาส หรือสอนให้ลูกเห็นว่าคนอื่นก็ต้องพยายามเอาชนะความกลัวเหล่านั้นให้ได้เหมือนกัน

DON’T:

อย่ายอมให้ลูกเดินหนีจากมันไปเฉยๆ เพราะเขาจะไม่กล้าเผชิญหน้ากับอะไรใหม่ๆ อีกเลย

2. ลูกต้องการเอาชนะหรืออยากแข่งขันจนมากเกินไป

เมื่อเด็กๆ แพ้หรือทำอะไรไม่ได้ตามเป้าหมาย เขามักจะถอดใจ ซึ่งนำไปสู่การไม่อยากเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ เพราะกลัวว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดีพอ

ลักษณะที่เด็กๆ จะแสดงออกคือไม่พอใจ โทษนั่นโทษนี่ ตั้งแต่ครูผู้สอน เพื่อนร่วมทีม ไปจนถึงกติกาการเล่น และขอถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้น

fight_lose_2

DO:

ผลักดันให้ลูกอดทนมากขึ้น ให้เขาพยายามมากขึ้น หรือสู้อีกนิดเพื่อผ่านสถานการณ์นั้นไปให้ได้ แล้วเขาจะโตขึ้นอย่างคนที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา และไม่โทษคนอื่น

DON’T:

อย่ายอมให้ลูกถอนตัวจากกิจกรรมนั้นก่อนที่จะได้ลองพยายาม เพราะเขาจะยึดติดกับความรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ หรือคิดว่าเป็นความผิดของคนอื่นต่อไป

3. ถึงขีดจำกัดของเขาแล้ว

เมื่อพูดถึงการเล่นกีฬาหรือเรียนดนตรีใหม่ๆ สำหรับเด็กแล้ว มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า เด็กๆ ก็มี ‘ช่วงฮันนีมูน’ อยู่เช่นกัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อการทดลอง ความสนุก และความแปลกใหม่ทั้งหมดถูกค้นพบจนหมดแล้ว จึงไม่มีอะไรน่าสนใจอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ไม่กระตือรือร้นหรือเบื่อที่จะทำกิจกรรมนั้นๆ แต่เขาจะยังไปต่อกับมันได้ หากเขาชอบมันและมีวินัยที่จะฝึกฝนมันต่อไป

fight_lose_3

DO:

เตรียมใจไว้ เพราะมันจะเกิดขึ้นแน่ แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้กำลังใจลูกให้ทำมันต่อไป ลองช่วยเขาจัดสรรเวลาฝึกซ้อมให้ดี และตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ไว้ให้ลูก เช่น วันนี้ซ้อมดนตรีเพลงใหม่ๆ หรือพรุ่งนี้ลองเปลี่ยนสถานที่เล่นกีฬา

ซึ่งสำหรับกีฬา ควรลองให้เขาได้ฝึกซ้อมและลงแข่งขันจนครบทุกกระบวนการก่อน หลังจากที่เขาเรียนรู้มันครบทั้งระบบ เขาจะได้เรียนรู้มากกว่าความเหนื่อย เพราะเขาจะได้มิตรภาพจากเพื่อนและผู้สอน ไปจนถึงรับรู้ถึงคุณค่าและความสามารถในตัวเองด้วย

DON’T:

ทิ้งมันไป เพราะเขาจะกลายเป็นคนเบื่อง่าย ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และได้ความรู้แค่พื้นฐาน แต่จะไม่ได้ประสบการณ์ดีๆ หรือสิ่งอื่นๆ ที่แฝงไว้จากมันเลย

โอเค ยอมแล้ว ยกธงขาวเถอะ!
เมื่อ…

1. เขาทุ่มสุดตัวแล้ว

fight_lose_4

ถ้าลูกยังขอเลิกหรือออกจากกิจกรรมนั้นๆ หลังจากที่เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรับมือและเรียนรู้ที่จะไปต่อให้ได้แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถทำใจให้ชอบมันได้ ก็ไม่จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องดันทุรังให้ลูกใช้เวลากับมัน ยอมให้เขาเลิกซะเถอะ

อย่าให้ความหวัง ความฝัน หรือความสนใจในวัยเยาว์ของคุณมากำหนดความสนใจที่แท้จริงของลูกเลย

2. เด็กๆ เป็นทุกข์เพราะมัน

fight_lose_5

การงอแงหรือประท้วงทุกครั้งที่จะต้องเข้าคลาส หรือจะยอมก็ต่อเมื่อมีเพื่อนสนิทเข้าร่วมคลาสด้วยเท่านั้น อาการแบบนี้กำลังเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างผิดปกติ

หากลูกไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือโค้ชคนไหน ลองหาทางเปลี่ยนคลาสใหม่ให้เขา

แต่ถ้าลูกยอมเมื่อมีเพื่อนสนิทอยู่ด้วยเท่านั้น อาจแปลว่ากิจกรรมนั้นทำให้เขาเครียดเกินไป เพราะฉะนั้นกิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้ลูกเครียดและเป็นรู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้เขาเลิกเถอะค่ะ

3. มันไม่ใช่อะ!

fight_lose_6

ความชอบ ทักษะ หรือแม้แต่สรีระร่างกายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลูกอาจจะร้องไห้ขี้แยเมื่อรู้ว่าจะต้องไปสระว่ายน้ำ แต่เขาอาจจะนั่งอยู่กับกระดานหมากรุกได้เป็นวันๆ ขอเพียงเขาเจอกิจกรรมที่ใช่ เขาจะหาทางไปต่อและเรียนรู้จากมันให้มากที่สุดด้วยตัวเองได้ มันเป็นสัญชาตญาณของเด็กๆ และถ้ายิ่งได้ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองสนใจบ่อยๆ เขาจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ มีผลวิจัยบอกไว้ว่า อะไรที่ไม่ใช่สำหรับเขา เด็กก็จะยิ่งต่อต้านและพาลทำไม่ได้เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น หนทางสู่ความสำเร็จที่ดีของลูกๆ คือคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเขาหาว่าอะไรที่ใช่ และไม่ใช่สำหรับลูก

หรืออ่านวิธีหาความชอบของลูกได้ ที่นี่

ถ้าใช่ก็ลุยให้สุด แต่ถ้าไม่ใช่แล้ว รีบหยุดตั้งแต่ตอนนี้เลยจะดีกว่า


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST