การ ร้องอาละวาด (Temper Tantrums) หรืออารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงวัย 1-3 ปี ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการตามปกติของเด็กวัยกำลังเรียนรู้
Ray Levy, Ph.D., นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เขียนร่วมในหนังสือ Try and Make Me! กล่าวว่า โดยใจความสำคัญแล้ว ความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดทุกอย่าง เป็นผลมาจากเหตุง่ายๆ ก็คือ การไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น เด็กอายุ 1-2 ปี อารมณ์ฉุนเฉียวมักเกิดจากการพยายามสื่อสารความต้องการของตัวเอง เช่น หิว ร้อน ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม ต้องการของเล่น แต่ไม่มีทักษะทางภาษาที่ดีพอที่จะพูดออกมา เด็กๆ จึงฉุนเฉียวและ ร้องอาละวาด เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่คาดหวัง
แต่สำหรับเด็กอายุมากกว่า 3 ปี อารมณ์ฉุนเฉียวและอาละวาดอาจเป็นการแสดงออกถึงการแย่งชิงอำนาจ เพราะลูกเริ่มมีความคิด และต้องการแสดงตัวตนของตัวเอง เมื่อถูกขัดใจหรือทำได้ไม่เต็มที่ จึงแสดงออกเป็นความฉุนเฉียวและร้องอาละวาดออกมา
จะรับมือเวลาลูก ร้องอาละวาด อย่างไรดี
ถึงแม้ว่าการร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่พ่อแม่ต้อง (พยายาม) ทำความเข้าใจ และอาจไม่มีวิธีตายตัวที่จะจัดการกับอารมณ์ฉุนเฉียวของลูกวัยนี้ แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือ พ่อแม่ไม่ควรใช้การตอบสนองที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการติดสินบนด้วยของรางวัล หรือยอมแพ้ไปเฉยๆ ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีเช่นกัน
แล้วควรทำอย่างไร เรารวบรวมวิธีรับมือกับลูกอารมณ์ร้ายและเทคนิคที่จะช่วยให้ลูกสงบลงได้ ดังนี้
1. ให้เวลาลูกโกรธ แต่ต้องหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวทันที
Linda Pearson ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลครอบครัวและผู้เขียน The Discipline Miracle กล่าวว่า “บางครั้งเด็กก็แค่ต้องการระบายความโกรธ ดังนั้น ปล่อยพวกเขาไปเถอะ” แต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดรอบตัวลูกจะใช้ทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ แล้วคอยอยู่เคียงข้างเพื่อรอเวลาให้ลูกสงบลงด้วยตัวเอง
แต่ถ้าลูกร้องอาละวาดและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทุบตี เตะ กัดคนอื่น หรือขว้างปาสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเข้าไปหยุดพฤติกรรมและพาลูกออกจากสถานการณ์นั้นทันที และทำให้ลูกเข้าใจว่า ไม่ว่าลูกจะโกรธหรือไม่พอใจแค่ไหน แต่คุณพ่อคุณแม่จะไม่ยอมให้มีการทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น และทำลายสิ่งของเด็ดขาด
2. ของรางวัลจูงใจไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว
คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องการหยุดอาการร้องอาละวาดของลูกด้วยการตามใจหรือให้ข้อเสนอเป็นของรางวัลมาหลอกล่อ เช่น ถ้าหยุดร้องแล้วจะพาไปกินไอติม ซึ่งมักเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าใช้กลยุทธ์นี้บ่อยเกินไป ลูกก็จะยิ่งใช้วิธีเดิม คือร้องอาละวาด เพื่อให้ได้ของรางวัลอีกครั้ง ดังนั้น วิธีนี้จึงควรเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็นจริงๆ เท่านั้นนะคะ
3. ใช้คำพูดที่กระชับและชัดเจน
ยิ่งลูกกำลังอยู่ในอารมณ์ฉุนเฉียวและเกรี้ยวกราด การใช้คำพูดที่ยาวและซับซ้อน จะไม่ช่วยหยุดหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ แต่การพูดสั้นๆ ง่ายๆ ตรงประเด็น และยิ่งเจาะจงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ผลที่ดีกว่า เช่น อย่าตีคนอื่น, หยุดปาสิ่งของ รวมถึงการบอกให้ชัดเจนว่าต้องการให้เขาทำอะไร เช่น มาระบายสีกันเถอะ ออกไปเดินเล่นกันดีกว่า จะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ง่ายกว่าการพูดคลุมเครือและซับซ้อน เช่น การบอกให้ลูกทำตัวดีๆ หรือ อย่าทำให้แม่ขายหน้านะ
4. อมยิ้ม และทำเหมือนว่ารับมือได้
เมื่อลูกอยู่ในอาการฉุนเฉียวหรือร้องอาละวาด โดยเฉพาะในที่สาธารณะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกลำบากใจที่ต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้ เพื่อลดความตึงเครียดตรงหน้า
Alan E. Kazdin, Ph.D., ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาและจิตเวชเด็กแห่ง Yale University กล่าวว่า เด็กๆ เป็นคนฉลาด ถ้าคุณโกรธ เครียด หรือยอมจำนนต่อพฤติกรรมของเขา เขาจะเรียนรู้ว่ามันใช้ได้ผล ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือการยิ้มและแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเล็ก ถ้าคุณพ่อคุณแม่ดูสงบ ราวกับว่าสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าการร้องอาละวาดใช้เอาชนะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อีก
COMMENTS ARE OFF THIS POST