ใครที่ลูกอายุสองขวบแล้ว ยกมือหน่อยเร็ว! เชื่อว่าคงมีพ่อแม่หลายคนที่ลูกกำลังจะสองขวบ ที่อยากรู้ว่าต่อจากนี้จะเจออะไรบ้าง เด็กสองขวบเขามีปัญหาอะไรกันบ้าง เพื่อที่จะได้วางแผนและเตรียมตัวรับมือกับเจ้าตัวเล็กวัยสองขวบได้ทันท่วงที
วันนี้ M.O.M มีปัญหาของเด็กสองขวบมาให้คุณพ่อคุณแม่อ่านกันค่ะ
1. งอแงไม่อยากจากพ่อกับแม่

ถึงแม้อายุจะเพิ่มมากขึ้น แต่เด็กยังมีอาการเกาะติดหรืองอแงมากขึ้น เวลากลับมาเจอกันอีกครั้ง เช่น เวลาไปโรงเรียน อยู่กับคุณครูได้ เล่นกับเพื่อนที่ห้องอย่างสนุกสนาน แต่พอเจอแม่หลังเลิกเรียนเท่านั้นแหละ น้ำตาไหลเพราะคิดถึงเป็นเผาเต่า
2. ไม่อยากนอน

เคยเป็นไหม… ที่นั่งรอลูกจนหลับ พอลูกหลับแล้วจะไปเปิดประตูกลับห้องตัวเอง แต่ลูกกลับร้องไห้เสียงดัง จนเราต้องกลับเข้ามาหาลูกที่เตียงอีกรอบ สาเหตุของปัญหานี้มาจาก ‘กลัวการแยกจากพ่อแม่’
เพราะฉะนั้น ก่อนนอน อย่าทำให้ลูกเครียดหรือวิตกกังวล ให้นั่งลงข้างๆ เตียงจนกว่าเจ้าตัวเล็กจะหลับสนิท
หนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอนมาจาก ‘กลัวฉี่รดที่นอน’ เพราะว่าเขาจำได้ว่าเคยโดนคุณพ่อคุณแม่ดุ เลยทำให้เด็กกลัวและไม่กล้าทำให้คุณไม่พอใจอีก กลัวว่าหากทำผิดอีกครั้ง พ่อแม่จะรักน้อยลงและทิ้งเขาไป จึงเกิดความวิตกกังวล ทำให้ไม่กล้านอนคนเดียว หรือต้องคอยตื่นทุกสองชั่วโมงเพื่อลุกมาฉี่
3. ซุกซน อยากรู้อยากลองในสิ่งที่ไม่ควรลอง

เพราะเป็นเด็ก พอเห็นอะไรก็อยากทำความรู้จัก อยากเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ด้วยการเอามือหรือนิ้วเข้าไปสัมผัส แต่ไม่ได้รู้ว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเขาเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อคุณเห็นลูกจะเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ คุณต้องพูดคุยกับลูกน้ำเสียงและท่าทีที่จริงจัง ว่าการเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กอาจถูกไฟดูดได้
4. ชอบเลียนแบบคำพูด

คงมีช่วงเวลาบังเอิญที่ได้เจอกับเพื่อนเก่าและเผลอพูดจาหยาบคายใส่กันเพื่อเพิ่มรสชาติในการพูดคุย จนเจ้าตัวเล็กของคุณแอบจดจำทุกคำพูดของคุณเอาไปพูดกับคนอื่นบ้าง
นี่เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเป็นอย่างมาก และควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะเด็กวัยนี้ช่างจดจำ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี อะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ และเป็นวัยที่เริ่มมีคุณเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
5. เริ่มดื้อกับพ่อแม่

เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กสองขวบ ที่จะดื้อและไม่ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ อย่างแรกให้เริ่มทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ลูกดื้อ มีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่ยอมทำการคำสั่ง เป็นเพราะเขาอยากเรียนรู้และทดสอบว่า ถ้าเขาไม่ทำตามคำสั่งนั้นๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เราไม่จำเป็นต้องว่าลูกทุกครั้งที่ลูกดื้อ เรื่องไหนปล่อยได้ก็ควรปล่อย แต่เรื่องไหนที่รุนแรงและไม่เหมาะสม ก็ควรตักเตือนด้วยเหตุผล ซึ่งจะช่วยสอนให้เขารู้จักวางตัวและแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสมได้เอง
NO COMMENT