Recap: THE ROOKIE MOM Ep. 89: Baby Led Weaning เล่าประสบการณ์ลองผิดลองถูกให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง

The rookie mom

เมื่อลูกน้อยอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป ก็วัยที่แม่จะเริ่มให้ลูกกินอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการกินนมแม่

สำหรับ Ep. นี้ เราจะมาพูดคุยกันถึง Baby Led Weaning หรือวิธีการให้ลูกกินอาหารด้วยการใช้มือหยิบจับอาหารใส่ปากด้วยตัวเอง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องทำการบดอาหารหรือคอยป้อนอาหารให้ลูก ซึ่งเป็นวิธีที่ดีต่อพัฒนาการของลูก ช่วยลดภาระพ่อแม่ และฝึกให้ลูกเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น

และเนื่องจากมีคุณพ่อคุณแม่ส่งคำถามเรื่อง Baby Led Weaning เข้ามาแม่นิดนกผู้เคยลองผิดลองถูกกับวิธีการนี้มาก่อน ก็เลยจะมาตอบคำถามและเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังกันค่ะ

• คุณแม่หลายคนอาจจะประสบปัญหาอยากใช้วิธี Baby Led Weaning กับลูก แต่เนื่องจากการหาข้อมูลในหนังสือตอนนี้เข้าใจว่าอาจจะมีแค่เล่มเดียวที่แปลเป็นภาษาไทยคือ Baby-Led Weaning (BLW) แม่ไม่เหนื่อยป้อน สอนลูกให้กินเอง จากสำนักพิมพ์ Sandclock Books

• ในหนังสือก็จะแนะนำว่าถ้าจะใช้วิธี Baby Led Weaning ก็ต้องทำให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในทางปฏิบัติของแต่ละครอบครัวอาจจะไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด และยังมีคุณหมอหลายคนพูดว่าไม่ต้องซีเรียสกับการฝึกลูกแบบ Baby Led Weaning มากก็ได้ สามารถนำมาปรับใช้ตามที่แต่ละบ้านสะดวก

• Baby Led Weaning เป็นวิธีที่ประเทศทางตะวันตก ยุโรป และอเมริกา ใช้กันมาสักพักแล้ว เพราะมันค่อนข้างเข้ากับวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของเขาที่ค่อนข้างปล่อยให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก

• ประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่เริ่มฝึกลูกด้วยวิธี Baby Led Weaning ตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นถือว่าค่อนข้างเคว้งคว้าง เพราะว่าไม่มีแหล่งให้ค้นคว้าข้อมูล ไม่มีคนที่ออกมาให้คำปรึกษาในฐานะคนที่ทำแล้วสำเร็จ มีแต่คนที่ทำไปด้วยกัน หรือคนที่เคยทำแล้วเลิก ก็เลยต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่จะแชร์ในวันนี้ ก็เป็นผลมาจากการลองผิดลองถูกและเป็นเพียงประสบการณ์ของแม่คนหนึ่งเท่านั้น

คำถามจาก inbox

Q: มีวิธีจัดอุปกรณ์การกินของลูกเวลาที่ออกไปกินข้าวนอกบ้านอย่างไร

• เราพาลูกออกไปกินข้าวนอกบ้านครั้งแรกตอนอายุ 1 สัปดาห์ ซึ่งความจริงก็กลัวมาก กลัวเชื้อโรค แม่ก็นอยด์มากเพราะลูกเพิ่งคลอด แต่สามีเห็นว่าเราไม่ไหวแล้ว ควรจะได้กินอาหารดีๆ บ้าง ไม่ใช่สั่งข้าวมาอุ่นไมโครเวฟกินทุกวัน ก็เลยพากันออกไป แล้วก็ให้ลูกนอนในรถเข็นที่มีม่านปิดหลังคาได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อโรคอะไรเลย แต่ก็ผ่านมาได้โดยที่ไม่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น

• เราตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะให้ลูกกินด้วยวิธี Baby Led Weaning เพราะฉะนั้นช่วง 4-6 เดือนก็จะไม่มีเรื่องการบดอาหารหรือเตรียมอาหารไปป้อนให้ลูกกินนอกบ้าน ก่อน 6 เดือนจึงเป็นการกินนมแม่ล้วนๆ

• จนเข้าสู่วัย 6 เดือน ที่ลูกสามารถกินอาหารนอกจากนมแม่ได้วันละหนึ่งมื้อ ซึ่งเราเลือกมื้อเช้า เพราะว่ามันสะดวกที่เราจะมีเวลาเตรียมอาหารให้เขากินได้ ดังนั้นส่วนใหญ่มันจึงเป็นการกินที่เกิดขึ้นที่บ้าน

• คอนเซ็ปต์ของ Baby Led Weaning คือการกินอาหารพร้อมกันบนโต๊ะอาหาร ดังนั้นเมื่อเรากิน ลูกไม่กินไม่เป็นไร แต่ลูกควรจะมีส่วนร่วมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นว่าทุกคนกำลังกินอาหาร

children's chair

• พอต้องพาลูกออกไปกินข้าวนอกบ้านด้วยกัน สิ่งแรกที่ต้องมีเลยก็คือต้องมีเก้าอี้สำหรับเด็ก ซึ่งเราคิดว่าสำคัญมากไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ให้ลูกกินอาหารด้วยวิธีไหนก็ตาม เพราะด้วยวัยประมาณหกเดือนของเด็ก เขายังนั่งเก้าอี้ปกติ หรือเก้าอี้ตามร้านอาหารไม่ได้ เก้าอี้เด็กจะช่วยเรื่องความปลอดภัยด้วย และช่วยล็อกให้ลูกอยู่กับที่ได้

• เคยพาลูกไปสิงคโปร์ตอน 1 ขวบ ก็เอาเก้าอี้ของลูกไปด้วย เพราะกลัวว่าตามร้านอาหารของเขาจะไม่มีให้ แต่ปรากฏว่าประเทศสิงคโปร์มีเก้าอี้สำหรับเด็กทุกร้านและเป็นเก้าอี้ที่มีคุณภาพด้วย แม้กระทั่งร้านอาหารที่อยู่ริมถนนก็ยังมีเก้าอี้เด็กที่ดีให้ใช้

• ทิชชู่เปียก เพื่อทำความสะอาด เพราะเวลากินเขาจะใช้มือเป็นหลัก และสั่งอาหารที่มีลูกหยิบจับได้ง่าย เช่น แคร์รอตหรือขนมปังที่เป็นแท่ง หรือหั่นอาหารให้มีลักษณะเป็น finger food แล้วเอาวางไว้ให้ลูกหยิบกินเองก็ได้ เพราะวัตถุประสงค์คือเพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมในการกิน ไม่ได้คาดหวังในเชิงสารอาหาร เพราะช่วงวัย 6 เดือนถึง 1 ปี ลูกเรายังกินนมแม่เป็นหลักอยู่แล้ว

• สิ่งหนึ่งที่การกินแบบ Baby Led Weaning มอบให้ คือสุขนิสัยในการกิน เพราะด้วยความที่ลูกต้องหยิบจับอาหารด้วยมือ แม่ก็ต้องพาลูกไปล้างมือทั้งก่อนและหลังกินอาหาร กลายเป็นการปลูกฝังสุขอนามัยที่ดีให้ลูกโดยอัตโนมัติ

placemat

• สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ แผ่นรองจาน (placemat) ที่สามารถยึดติดกับโต๊ะได้ เพราะว่าเด็กต้องใช้มือหยิบจับอาหารที่วางไว้บนแผ่นนั้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น จาน อยู่บนโต๊ะอาหาร เป็นไปได้ว่าลูกจะไปให้ความสนใจกับสิ่งนั้นมากกว่าอาหาร และถ้าเราใช้แผ่นรองจานที่ไม่ติดหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งกับโต๊ะอาหารได้ ก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการหยิบอาหารของลูก

bib
ikea

• เสื้อกันเปื้อน (Bib) ก็เป็นสิ่งที่ควรมีเวลาออกนอกบ้าน ควรเลือกที่สามารถคลุมลูกได้ทั้งตัว สำหรับคนที่ใช้วิธีป้อน อาจจะชอบเสื้อกันเปื้อนแบบที่มีช่องตรงหน้าอกสำหรับรองรับอาหารที่หก แต่สำหรับเรารู้สึกว่ามันรบกวนการกินของเขาก็เลยเลือกใช้แบบธรรมดา ถ้าอาหารหกลงพื้นก็ค่อยเก็บและทำความสะอาดเอา

• กระบอกใส่น้ำ ถ้าอยู่บ้านปกติเราจะให้ลูกใช้แก้วน้ำธรรมดา เพราะว่าเคยพยายามให้ลูกใช้แก้วหัดดื่มแล้ว พบว่าไม่เวิร์กสำหรับลูกเราเท่าไร ทุกวันนี้ก็ให้เขาใช้กระบอกเก็บความเย็นใส่น้ำออกไปดื่มนอกบ้าน หรือถ้าวันไหนลืมหรือน้ำหมด เขาก็กินแบบทั่วไปได้ ให้ดูดหลอดก็ทำได้ เพราะเคยฝึกตอนอยู่ที่บ้านแล้ว

• คอนเซ็ปต์ส่วนตัวเราคืออยากชีวิตให้มันง่ายที่สุด อยากให้สัมภาระน้อยที่สุด เพื่อที่เราจะได้มีกำลังใจในการออกไปนอกบ้าน

• สรุปก็คือ Baby Led Weaning ตอบโจทย์เรื่องการเตรียมอุปกรณ์สำหรับออกนอกบ้าน ยิ่งตอนนี้ร้านอาหารส่วนมากเริ่มมีเก้าอี้สำหรับเด็กจริงๆ แล้ว ไม่ต้องพกไปเองก็ได้ เต็มที่ก็เอาเสื้อผ้าลูกไปเปลี่ยน เผื่อว่ามีการเลอะเทอะเกิดขึ้น

Q: ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ ไม่ค่อยสบายใจที่พี่เลี้ยงชอบปรุงรสอาหารให้ลูกมากเกินไป

• ในช่วงขวบปีแรกของลูกไม่ควรเน้นการปรุงรสมากเกินไป เพราะร่างกายของเด็กไม่สามารถรับปริมาณโซเดียมจากเครื่องปรุงได้เท่าผู้ใหญ่  และถ้าตามหลักการเลี้ยงดูที่น่าเชื่อถือเขาก็บอกว่าควรให้เด็กรับรู้รสชาติให้ช้าที่สุด เพราะมันจะทำให้เด็กเสพติดรสอร่อยของอาหารนั้น

• ส่วนตัวเราคิดว่าขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตครอบครัวด้วยว่าโดยปกติแล้วเป็นแบบไหน ถ้าพื้นฐานสมาชิกในบ้านกินอาหารรสชาตินี้ ลูกก็จะซึบซับสิ่งที่เรากินไปด้วย เพราะการฝึกลูกด้วยวิธี Baby Led Weaning มันคือการกินอาหารด้วยกัน ลูกก็จะคุ้นชินกับอาหารรสชาติแบบที่เรากิน

• ส่วนตัวเวลาทำอาหารลูกกับเราก็กินเมนูเดียวกัน แต่จะตักของลูกขึ้นก่อนแล้วค่อยปรุงที่เหลือเป็นรสชาติที่ตัวเองกิน หรือไม่ก็คิดว่ามันเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารรสจัดของตัวเองไปด้วย

• ถ้าพี่เลี้ยงหรือบางทีญาติผู้ใหญ่เป็นคนทำอาหาร ก็อาจจะต้องคุยกับเขาว่าอาหารสำหรับลูกให้ใส่เครื่องปรุงน้อยลงหน่อยได้ไหม คิดว่าถ้าไม่สบายใจก็คุยกันได้

• เรารู้อยู่แล้วว่าการกินอาหารรสจัดไม่ดีต่อสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ถ้าวิถีชีวิตเราเป็นแบบนี้ ครอบครัวเรายังกินอาหารรสจัดอยู่ก็คงยากที่ลูกจะกินอาหารรสจืดไปได้ตลอด

• ท้ายที่สุดก็คือตัวลูกเอง เพราะ เมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยให้ลูกได้เลือกรสชาติอาหารของตัวเอง ในวันที่ลูกยังเล็ก เรายังมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะให้เขากินหรือไม่กินอะไร แต่วันหนึ่งที่เขาเติบโตขึ้น ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่าเราอาจจะต้องผิดหวังที่ลูกไม่กินแบบเรา ไม่เชื่อในแบบที่เราเชื่อ ไม่เป็นอย่างที่เราคิด สิ่งที่พ่อแม่อย่างเราทำได้ก็คือเตรียมใจและยอมรับ

.

.

.

Spotify: https://spoti.fi/2Tsj003

Apple Podcasts: https://apple.co/2UojhRA

Podbean: https://bit.ly/3jHTu1n

YouTube: https://bit.ly/3hcMgRj


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST