Recap The Rookie Mom EP95: สานสัมพันธ์ลูกในครรภ์และลูกแต่ละช่วงวัยผ่านหนังสือเด็ก

children books

หากจะพูดถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือ สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราคงเป็นการพูดถึงในแง่ที่ว่าการอ่านช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิจดจ่อ และมีความรู้มากขึ้น แต่สำหรับเด็กเล็ก การอ่านหนังสือ (ที่ตัวเองอ่านไม่ออก) อาจมีความหมายมากกว่านั้น

พ่อแม่ส่วนมากรู้ดีว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยิ่งเริ่มอ่านเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีคุณประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกมากเท่านั้น Ep. นี้แม่นิดนกจะมาตอบคำถามเกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง โดยไม่ต้องรอให้ลูกฟังรู้เรื่อง เพราะอ่านกันตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ตลอดจนพูดถึงการเลือกหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยต่างๆ ของลูก และคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ลูกรักการอ่าน ลองไปติดตามคำตอบด้วยกันค่ะ

children books

1. มีคุณพ่อส่งคำถามเข้ามาในอินบ็อกซ์ว่าภรรยากำลังตั้งท้องและอยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหนังสือที่จะเอามาอ่านให้ลูกฟังในช่วงวัยต่างๆ

นิดนกขอพูดถึงประสบการณ์การอ่านหนังสือและซื้อหนังสือให้ลูกในช่วงเวลาสี่ปี (เท่าอายุของลูก) ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาคร่าวๆ คือก่อนคลอดและหลังคลอด

 

Stage 1 ก่อนคลอด

• ตอนท้องแม่นิดนกก็เป็นอีกคนที่มีความตั้งใจว่าจะต้องอ่านหนังสือ เพราะก็เคยได้ยินมาว่าต้องอ่านหนังสือหรือเปิดเพลงคลาสิกให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง แต่ก็ได้อ่านข้อมูลจากหนังสือหลายเล่ม หรือจากบทความของหมอหลายคน รวมกับที่ตัวเองได้ตกผลึกทางความคิดดูแล้วเข้าใจว่า ความจริงอาจไม่ใช่เรื่องของการอ่านหนังสืออะไรหรือเปิดเพลงอะไรให้ลูกฟัง เพราะสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการอ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ลูกฟังก็คือ สายสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันระหว่างแม่กับลูก หรืออาจจะรวมถึงพ่อและคนอื่นๆ ในบ้าน นั่นเพราะเสียงที่ชัดเจนสำหรับลูกที่อยู่ในท้องก็คือเสียงหัวใจและการทำงานภายในร่างกายของแม่ ดังนั้น ช่วงเวลาที่แม่มีความสุข แม่ผ่อนคลาย เสียงหัวใจของแม่หรือการทำงานในร่างกายแม่ก็จะส่งผลถึงลูกไปด้วย

• ความรู้สึกของแม่ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความเครียดย่อมส่งผลต่อลูกในท้อง เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ก็ควรจะตั้งอยู่บนความสุขของแม่เป็นพื้นฐานก่อน

• เช่นเดียวกับการฟังเพลง การอ่านหนังสือก็เป็นช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย นิดนกคิดว่าเสียงของแม่ น่าจะทำงานบางอย่างกับระบบความทรงจำของลูกในท้อง พอวันที่ลูกคลอดก็จะรู้สึกคุ้นเคยกับเสียงนี้ ดังนั้น ไม่เฉพาะแม่ แต่อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่คุณพ่อหรือปู่ย่าตายายจะใช้การอ่านหนังสือเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับลูกตั้งแต่ในท้อง

• วิธีการของนิดนกคือ เลือกหนังสือนิทานหรือวรรณกรรมที่มีตัวอักษรเยอะๆ เพื่อให้รู้สึกสงบและมีสมาธิอยู่กับหนังสือนั้นๆ รวมถึงใช้วิธีอ่านออกเสียงเพื่อให้ลูกได้ยินเสียงของแม่ไปด้วย

children books

Stage 2 ลูกหลังคลอด
0-1 เดือน

• ช่วงหนึ่งเดือนแรก ต่อให้ซื้อหนังสือเตรียมไว้ให้ลูกมากแค่ไหน แต่สิ่งที่พยายามย้ำอยู่เสมอคือ แม่ยังควรไม่ต้องกังวลกับอะไรทั้งสิ้น นอกจากการปรับตัว ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองและลูกให้ดีก่อน

• เมื่อพ่อแม่เริ่มปรับตัวได้แล้ว ค่อยเริ่มนึกถึงการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็ได้

• ทารกยังมีความสามารถในการมองเห็นไม่มาก ภาพอาจจะยังไม่คมชัด การแยกแยะความแตกต่างของสีก็ไม่ดีนัก หนังสือที่แม่นิดนกเลือกให้ลูกวัยนี้จึงเป็นหนังสือประเภทบอร์ดบุ๊ก (board book) ที่มีภาพคมชัด สีสันตัดกันชัดเจน เช่น สีดำกับขาว และเอามาเปิดวางไว้ให้ลูกมอง

children books

2-5 เดือน

• เริ่มใช้หนังสือภาพที่ทำมาจากผ้า เพราะลูกจะสามารถขยำและสัมผัสหนังสือที่มีการซ่อนเสียงกร๊อบแกร๊บเอาไว้ในผ้า หรือหนังสือที่สามารถโต้ตอบกับเขาได้ เช่น มีกระจกที่ทำจากแผ่นฟิล์มอยู่ในหนังสือหน้าสุดท้าย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกไปด้วย หรือบางคนสงสัยว่าช่วงวัยนี้ต้องอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังหรือเปล่า แม่นิดนกบอกว่าตัวเองก็เลือกอ่านหนังสือที่มีเนื้อเรื่องยาวๆ ให้ลูกฟังก่อนนอน เพราะถือว่าเป็นช่วงวัยที่ลูกยังไม่สามารถขัดขืนด้วยการคว้าหนังสือมาฉีกหรือคลานหนีไปไหนได้

• เหตุผลส่วนตัวที่นิดนกพยายามอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะอยากให้ลูกได้ยินคำที่ใช้ในหนังสือ ซึ่งล้วนเป็นคำที่ผ่านการคิดและกลั่นกรองมาแล้ว จึงมีความแตกต่างกับภาษาพูดที่ลูกได้ยินในชีวิตประจำวัน อีกอย่างก็คือ อยากให้ลูกรู้สึกคุ้ยเคยกับวัตถุที่เรียกว่าหนังสือ แม้ว่าแต่ละเล่มจะรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน เช่น บางเล่มแข็ง บางเล่มนิ่ม แต่ฟังก์ชั่นเดียวที่เหมือนกันคือการเปิดอ่านที่ละแผ่น

• การอ่านหนังสือให้ลูกฟังของนิดนกจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนที่แม่อยากอ่านให้ฟังเพื่อให้ลูกได้ยินถ้อยคำที่สวยงามและส่วนของหนังสือที่ลูกสามารถสัมผัส หยิบจับ หรือเล่นอะไรก็ตามกับหนังสือนั้นด้วยตัวเอง

children books

6 เดือน

• ลูกจะเริ่มหยิบจับและคว้าหนังสือเข้าปากได้ เมื่อแม่สังเกตเห็นพัฒนาการของลูกแล้ว สิ่งที่เหมาะกับลูกวัยนี้ก็คือหนังสือบอร์ดบุ๊กที่แข็งแรงทนทานอีกครั้ง เพื่อให้ลูกหยิบจับได้โดยที่หนังสือไม่พังไปก่อน และยังคงควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเช่นเดิม

children books

9 เดือน

• ช่วงวัยที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดใหญ่พัฒนามากขึ้น ลูกจะสามารถใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งหยิบจับของได้ (ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ลูกจะหยิบจับสิ่งของได้ด้วยการกำทั้งมือ) หนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยนี้ก็จะเป็นหนังสือ lift the flap หรือบอร์ดบุ๊กที่สามารถใช้มือเล่นได้ เช่น มีให้หน้าต่างให้เปิดปิด มีฟังก์ชั่นให้ดึง ให้ใช้นิ้วจิ้ม หรือหนังสือลอยน้ำให้ลูกได้เล่นตอนอาบน้ำ และแน่นอน คุณแม่ทำใจไว้ได้เลยว่าหนังสือของลูกวัยนี้ ยังไงก็ต้องพังไปในเวลาอันรวดเร็ว

children books

1 ปีขึ้นไป

• วัย 1 ขวบขึ้นไป เริ่มวางใจได้ว่าลูกจะไม่ทำลายข้าวของ หรือหากจะมีการทำหนังสือฉีกขาดไปบ้าง ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเกิดจากการที่ลูกกะน้ำหนักมือของตัวเองไม่ถูก เช่น อาจจะเปิดหน้าหนังสือแรงไปหน่อย แต่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะทำลายให้ขาดหรือพังลงไปกับมือ เพราะฉะนั้นวัยนี้จึงสามารถอยู่กับหนังสือได้ทุกรูปแบบ

• วัย 1 ขวบขึ้นไปคือวัยที่ลูกเริ่มหัดพูด ดังนั้นหนังสือที่มีการใช้คำคล้องจองหรือคำกลอน ของไทยก็มีหนังสือของคนเขียนชื่อ ตุ๊บปอง, ลำพูน แสงลภ หรืออาจารย์ชีวัน วิสาสะ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี

• หลังจากผ่านช่วงหนึ่งขวบครึ่ง นิดนกคิดว่าเป็นช่วงที่ลูกสามารถเปิดรับหนังสือได้หลากหลายขึ้น อยากให้ลูกลองอ่านอะไร ก็เลือกซื้อได้เลย

children books

2. มีคุณแม่ถามมาว่าว่าจะทำยังไงให้ลูกรักการอ่าน

• นิดนกบอกว่าตัวเองก็ไม่แน่ใจว่า ลูกสาววัยสี่ขวบพอจะเรียกว่าเป็นเด็กที่รักการอ่านได้ไหม แต่มองว่าวัยนี้ลูกมีหนังสือเป็นเพื่อน เพราะเวลาที่เขาอยากจะทำอะไร เวลาที่เขาอยากสงบใจ หรือแม้แต่เวลาที่เขาอยากดึงเราออกมาจากการทำงาน เขาก็จะวิ่งไปหาหนังสือเพื่อเรียกให้แม่อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ให้ฟังหน่อยคิดว่าลูกมองเห็นหนังสือเป็นเครื่องมือเยียวยา เครื่องมือใช้เวลา และก็คงมีความผูกพันกับการอ่านมากพอสมควร

• พัฒนาการเกี่ยวกับการอ่านของลูกวัยสี่ขวบตอนนี้คือเขาสามารถอยู่กับหนังสือประเภทวรรณกรรม หรือหนังสือที่มีตัวหนังสือเยอะๆ หรือบางหน้าไม่มีภาพเลย เขาก็สามารถฟังอย่างจดจ่อได้

• ส่วนคำตอบที่ว่าทำยังไงให้ลูกรักการอ่าน จากมุมมองนิดนกคิดว่า สิ่งแรกเลยคือต้องให้ลูกถูกแวดล้อมด้วยหนังสือ เช่น ตั้งแต่ลูกยังเล็กก็พยายามให้ในรัศมีสายตาของเขามองไปแล้วเห็นหนังสือ จัดทุกมุมในบ้านให้มีหนังสือ เพราะเมื่อเขาหันไปทางไหนก็เจอหนังสือได้ทันที

• ต่อมาคือ การกำหนดเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งขึ้นอยู่กับเวลาที่แต่ละบ้านจะกำหนด เช่น บางบ้านเลือกช่วงเวลาก่อนนอนเพราะกลางคืนเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย การใช้เวลา 20-30 นาทีก่อนนอนเพื่ออ่านหนังสือกับลูก ก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้

• ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลายคน การอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจะถูกใจลูกทุกคน เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดสรรเวลาส่วนตัวให้กับลูกแต่ละคน ให้เขาเลือกนิทานที่เขาชอบ เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน

• ข้อต่อมาคือ หนังสือที่อ่านกับลูกต้องสนุก เพราะลูกจะชอบได้ไม่ยาก ส่วนตัวนิดนกสังเกตว่าหนังสือที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ลูกก็ยังคงพูดถึง มักจะเป็นหนังสือที่มีเรื่องราว มีภารกิจ หรือมีตัวละครที่จับต้องได้ และอาจจะไม่จำเป็นต้องมีข้อคิดอะไรด้วยซ้ำ

• นิดนกบอกว่าตัวเองอาจจะโตมาในสังคมที่การอ่านนิทานต้องมีข้อคิด ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งก็จะโตพอที่จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้ต้องการการสรุปและบอกข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนั้นๆ เพราะมันทำให้ไม่ได้ตกผลึกความคิดด้วยตัวเองหนังสือที่จะทำงานกับเราได้ดีกว่าถ้าเราได้ติดตามเรื่องราวของมัน เช่น หนังสือเรื่อง งานแรกของมี้จัง หนังสือนิทานญี่ปุ่น เขียนโดยโยริโกะ ซูซูอิ แปลเป็นภาษาไทยโดย พรอนงค์ นิยมค้า สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก เป็นเรื่องของเด็กหญิงวัยห้าขวบ ที่คุณแม่มอบหมายภารกิจออกจากบ้านซื้อนมให้น้องที่ร้านขายของชำ มี้จังก็กำเงินวิ่งออกจากบ้านไปทำภารกิจของตัวเองให้สำเร็จ แม้จะเจออุปสรรคไปทีละเล็กละน้อย แต่มี้จังก็สามารถซื้อนมให้น้องได้สำเร็จ เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ถ้าให้บอกข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้ก็คงพูดได้หลายข้อ แต่สิ่งที่จับใจเด็กน่าจะเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวและจับต้องได้ เพราะลูกอาจจะรู้สึกว่าวันหนึ่งเขาอาจจะได้รับมอบหมายให้ออกไปซื้อของให้คุณแม่เหมือนกัน

• นอกจากเรื่องราวแล้ว ภาพวาดของคุณอาคิโกะ ฮายาชิ ก็ละเอียดลออมากพอที่จะสื่อสารให้เด็กเห็นสีหน้าและแววตาของมี้จัง พอเด็กรู้สึกอินไปกับตัวละคร เขาก็จะจดจำเรื่องนั้นได้ดีเป็นพิเศษ

• นิทานเล่มที่ลูกชอบนอกจาก งานแรกของมี้จัง แล้ว นิดนกก็ยังแนะนำ เพื่อนรักของอากิ (สำนักพิมพ์ Sandclock) นอนค้างบ้านเพื่อน (สำนักพิมพ์ Sandclock)

• การเลือกหนังสือนิทานให้ลูก ส่วนตัวนิดนกเองไม่ได้มีกำแพงเรื่องอายุ เพราะหนังสือเล่มหนึ่งมีอายุยาวนาน ลูกอาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจในช่วงวัยหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป แล้วเอามาอ่านอีกรอบลูกอาจจะสนุกกับมันมากขึ้น เพราะเขาโตพอที่จะตีความและเข้าใจได้มากกว่าแต่ก่อน เพราะฉะนั้นแม่ไม่จำเป็นต้องรีบกำจัดหนังสือที่ลูกไม่ชอบ แต่รอเวลาและให้โอกาสหนังสือเล่มนั้นอีกครั้งเมื่อลูกโตขึ้นได้

• สุดท้ายแล้วการที่จะทำให้เด็กรักการอ่านได้ หนังสือควรจะต้องเป็นตัวแทนของความอุ่นใจ ความปลอดภัย และสายสัมพันธ์ที่ดี การอ่านหนังสือควรเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เมื่อไรก็ตามที่หนังสือมาพร้อมกับความสุขมันจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำและทำให้ลูกมีภาพจำที่ดีกับหนังสือ

• เมื่อไม่นานมานี้ นิดนกมีโอกาสได้เอาหนังสือเก่าๆ ออกมาจัด ก็เจอหนังสือ เจ้าตัวเล็ก (สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก) ซึ่งตัวเองเคยอ่านตั้งแต่สมัยเด็กๆ ฝในเล่มยังมีร่องรอยของหน้าที่ถูกฉีกขาด และหน้าที่ผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว ก็เลยเอาหยิบมาอ่านให้ลูกฟัง เมื่อเปิดถีงหน้าที่มีรอยขาด ก็เล่าให้ลูกฟังว่าตัวเองเป็นคนทำขาด เพราะตอนนั้นยังเด็ก หรือพอถึงหน้าที่มีรอยซ่อมก็เล่าให้ลูกฟังว่าคุณยายเป็นคนซ่อมหนังสือที่แม่ทำขาดไว้ ปรากฏว่าลูกชอบมาก กลายเป็นหนังสือที่หยิบมาอ่านด้วยกันทุกวัน และทุกครั้งที่เปิดผ่านหน้าที่ขาดและหน้าที่ซ่อม ลูกก็จะพูดถึงเรื่องราวที่แม่เล่าให้ฟังเสมอ ดังนั้น สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คำสอน แต่มันคือความทรงจำ และพอวันหนึ่งได้เอาหนังสือที่มีความหมายกับตัวเองมาอ่านให้ลูกฟัง จึงรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องคาดหวังอะไรจากหนังสือเล่มนี้อีกแล้ว เพราะมันคือสายสัมพันธ์ ความสุข และความทรงจำที่จะอยู่กับลูกต่อไปเหมือนกัน  .

 

 

Spotify: https://spoti.fi/3g5Ng8N
Apple Podcasts: https://apple.co/3xOwmSj
Podbean: https://bit.ly/3AI8x0i
YouTube: https://bit.ly/3AOWvSZ

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST