Highlight: The Rookie Mom x M.O.M: ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ลูกเล็กเรียนออนไลน์

เมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา (วันเดียวกับที่เริ่มมีข่าวว่าจะมีการเลื่อนเปิดเทอมจาก 1 มิถุนายน ออกไปเป็น 14 มิถุนายน) คุณแม่นิดนก—ครีเอทีฟของพวกเราชาว M.O.M และโฮสต์ประจำรายการพอดแคสต์ The Rookie Mom เกิดครึ้มอกครึ้มใจอยากพูดคุย (เอ๊ะ หรือจะบ่น) เกี่ยวกับความเดือดเนื้อร้อนใจของพ่อแม่ที่ต้องรับมือกับเรียนออนไลน์ของลูกต่อไปเรื่อยๆ

จึงเกิดเป็นห้อง ‘ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ลูกเล็กเรียนออนไลน์’ ทางแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในยามค่ำคืน เพื่อเปิดพื้นที่ให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาพูดคุย เปิดใจ และระบายอารมณ์กันได้เต็มที่หลังลูกหลับ

โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนของฝ่ายคุณครูและโรงเรียน คือ ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (ประธานกรรมการบริหารงานโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่) และ ครูก้า—กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) มาร่วมสังเกตการณ์และแชร์ความทุกข์ร้อนในมุมของคุณครูและโรงเรียน ที่ดูแล้วก็ไม่ง่ายเช่นกัน

เมื่อห้องเปิด คุณแม่นิดนกออกตัวว่าการพูดคุยวันนี้อาจจะเน้นไปที่เด็กเล็กและเด็กวัยอนุบาลเป็นหลัก ส่วนการพูดคุยในวันนั้น จะมีบรรยากาศและประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราทำสรุปสาระสำคัญเอาไว้ที่นี่ค่ะ

Intro

1. คุณแม่เล่าเรื่องเพื่อนที่เป็นคุณแม่ มีลูกวัยสองขวบเหมือนกัน ร้องทุกข์มาว่าตัวคุณแม่เองไม่อยากให้ลูกเรียนออนไลน์ แต่ทางโรงเรียนไม่ยืดหยุ่นเรื่องค่าเทอมให้ พูดง่ายๆ ก็คือคุณแม่จ่ายค่าเทอมไปแล้ว โรงเรียนไม่มีนโยบายคืนเงิน ไม่ว่าจะให้ลูกเรียนออนไลน์หรือไม่ก็ตาม

RECAP_5_1

1. สถานการณ์เรียนออนไลน์ของเด็กเล็ก ในมุมมองของคุณแม่นิดนก คิดว่า มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง 4 ประเด็น ดังนี้
• เด็ก: เรามีคำถามกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่า การเรียนออนไลน์เหมาะสมและใช้ได้ผลกับเด็กเล็กจริงเหรอ, ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่ามันไม่เหมาะ พ่อแม่บางคนถอดใจไปแล้ว บางโรงเรียนยอมแพ้ ต้องยกเลิกการเรียนการสอนออกไปก่อนก็มี
• เวลา: ถ้ามีการเรียนออนไลน์ในเด็กเล็ก เวลาแค่ไหนถึงจะพอดี
• ความคาดหวังของพ่อแม่และโรงเรียน ที่มีต่อเด็กในการเรียนออนไลน์:
◦ ความคาดหวังที่ไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย
◦ (พ่อแม่) เรื่องเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เริ่มมีความกังวลว่าคุ้มไหม
◦ (พ่อแม่) กลัวลูกไม่ได้เรียนรู้ถ้าไม่ได้ไปโรงเรียน / กลัวว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้ลูกเรียนมากเกินไป
◦ (พ่อแม่) บางครอบครัวไม่มีคนช่วยดูลูกระหว่างเรียนออนไลน์ การไม่ทรัพยากรบุคคลก็เป็นปัญหาและภาระของพ่อแม่ โดยเฉพาะถ้าลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ บางครอบครัวแก้ปัญหาด้วยการจ้างนักศึกษาหรือติวเตอร์มาช่วยนั่งเรียนไปพร้อมกับลูก, คำถามคือ เราจำเป็นต้องไปถึงขั้นนั้นไหม… เพราะมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องแบกรับอีกแล้ว
◦ (โรงเรียน) ตอนนี้โรงเรียนเหมือนรับบทนางมารร้าย ทำอะไรก็ไม่ถูกใจพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คาดหวังแอกชั่นบางอย่างจากโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้
◦ (โรงเรียน) fixed cost ของโรงเรียน เพราะโรงเรียนก็เป็นธุรกิจที่ต้องอยู่ให้ได้
• ครู: ครูก็ต้องปรับสกิลตัวเอง เพราะการสอนออนไลน์ก็ไม่ได้ง่ายสำหรับครูทุกคน

RECAP_5_2

Session 1 

เริ่มที่แม่นิดนกเปิดไมค์เชิญ ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ในฐานะที่เป็นทั้งคุณครูและผู้บริหารโรงเรียน มาตอบคำถามที่ว่า

‘จากปัญหาทั้งหมดที่ว่ามา จะสามารถแก้ไขหรือคลี่คลายลงได้ถ้าหากภาครัฐมีนโยบายบางอย่างเข้ามาช่วยเหลือ แต่ตอนนี้นโยบายที่ว่านั้นมีหรือไม่ อย่างไร’

• ปัญหาที่โรงเรียนเจอตอนนี้คือการที่รัฐบาลมักจะประกาศแต่หัวข้อออกมา ส่วนรายละเอียดนั้นไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ทุกฝ่ายเกิดความวิตกกังวล เช่น การเลื่อนเปิดเทอม พอประกาศออกมาแล้ว ผู้ปกครองเองก็อยากได้ความชัดเจนว่าการที่เลื่อนเปิดเทอมต้องเรียนออนไลน์ต่อหรือเปล่า แต่ทางโรงเรียนก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะยังไม่รู้รายละเอียดของประกาศเช่นกัน
• แน่นอนว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างกรุงเทพฯ มันเป็นไปได้ยากมากที่นักเรียนจะกลับไปเรียนในห้องเรียนได้ แต่ในโรงเรียนของจังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว รัฐบาลก็ส่งไกด์ไลน์ความยาว 4 หน้า ให้ทางโรงเรียน แต่ในทางปฏิบัติ บางมาตรการมันเป็นไปได้ยากมากสำหรับเด็กเล็ก เช่น ทุกกิจกรรมเด็กต้องเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร มันยากมากเลยนะ คุณจะทำยังไงให้เด็กไม่วิ่งเข้าหากัน ดังนั้นก็เหมือนเป็นไกด์ไลน์ที่ออกมาเพื่อบอกว่าโรงเรียนต้องปิดนั่นแหละ
• การที่รัฐบาลประกาศให้เรียนออนไลน์ สิ่งที่ยังไม่เห็นจากรัฐบาลเลยคือการช่วยเหลือด้านทรัพยากร เช่น ให้คุณครู work from home ให้นักเรียนเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความพร้อมและอุปกรณ์ซัปพอร์ตอยู่บ้าน เพราะฉะนั้น เราอยากเห็นการช่วยเหลือทั้งช่วยครูและช่วยเด็ก หรือบางครอบครัว ไม่ได้ขาดอุปกรณ์ แต่ขาดพื้นที่ เด็กๆ ก็ไม่มีสมาธิ เราให้เขามาใช้พื้นที่โรงเรียนได้ไหม

RECAP_5_3

คำถามต่อมาก็คือ

‘จากสถานการณ์ตอนนี้ค่าใช้จ่ายและภาระที่โรงเรียนรับผิดชอบอยู่ รัฐบาลมีการช่วยเหลืออย่างไร’

• ไม่มี, เราไม่คิดว่ารัฐจะเตรียมเงินไว้สำหรับส่วนนี้ด้วยซ้ำ
• แต่สิ่งที่เราในฐานะผู้บริหารโรงเรียนไม่อยากทำเลยก็คือ การขอลดเงินเดือนครูในโรงเรียน มันคงต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะทำ
• ตอนนี้คุณครูทุกคนก็แบกรับความกดดันทั้งของโรงเรียนและผู้ปกครอง เพราะทุกคนถือว่าครูเคยผ่านสถานการณ์นี้มาในรอบที่แล้ว ดังนั้นครูต้องทำได้ดีกว่าเดิม แต่เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะเรารู้เลยว่าถ้าคุณครูเครียดกับชีวิต เขาก็จะเครียดกับเด็กๆ ด้วย
• ดังนั้นเวลาผู้ปกครองถามว่า จะคืนเงินส่วนไหนได้บ้าง เราอยากบอกว่าทุกวันโรงเรียนก็ยังคงมีการดำเนินงานตามปกติทุกวัน ส่วนที่จะเอามาลดได้ก็คือค่าอาหารกลางวันเด็กที่สามารถเอามาคำนวณแล้วคืนได้ แต่มันอาจจะไม่ใช่เงินจำนวนที่เยอะ
• และการสอนออนไลน์ ​คุณครูต้องทำงานหนักมาก เราไม่ได้ใช้คุณครูหนึ่งคนในการทำคลาสออนไลน์หนึ่งคลาสนะ จะต้องมีทีมครูที่คอยซัปพอร์ตอีก 2-3 คน มันใช้ทรัพยากรเยอะมาก
• ตอนโควิดรอบแรก โรงเรียนเราเคยตั้งทีมสายฟ้าแลบ มีเบอร์ฮอตไลน์ ถ้าบ้านไหนไม่สามารถจัดการกับการเรียนของเด็กได้ เราก็จะส่งคุณครูนั่งมอเตอร์ไซค์ไปหาที่บ้านเลย

‘การเรียนที่บ้านจะเพียงพอสำหรับเด็กหรือไม่ แล้วสำหรับครอบครัวที่ไม่พร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์จริงๆ พ่อแม่จะวางใจกับการอยู่บ้านของลูกได้อย่างไร’
• เราเชื่อว่าคำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่ว่าเราอยากให้พ่อแม่คิดก็คือรูปแบบไหนที่ทำแล้วสบายใจที่สุด เพราะมันคงไม่มีรูปแบบที่สมบูรณ์แบบภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัดเยอะขนาดนี้ แต่แบบไหนที่เขาโอเคกับผลลัพธ์ของมันมากที่สุด ก็อยู่ที่ข้อตกลงร่วมกันตามบริบทของแต่ละบ้าน

และสุดท้ายก่อนจบ Session ของครูจุ๊ย

‘การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้บุคลากรครู เป็นอย่างไรบ้าง’
• รัฐบาลมีการสำรวจความต้องการที่จะฉีดวัคซีน ให้ทางโรงเรียนส่งรายชื่อคนที่ต้องการฉีดไปทั้งครูคนไทยและครูต่างชาติ แต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจน เราก็ไม่รู้ว่าสำรวจแล้วยังไงต่อ…

RECAP_5_4

Session 2 

คุณแม่นิดนกเปิดไมค์และเชิญ ครูก้า—กรองทอง บุญประคอง ด้วยประเด็นคำถามที่ว่า โรงเรียนหาตรงกลางระหว่างความคาดหวังของพ่อแม่กับการบริหารจัดการธุรกิจของตัวเองอย่างไรในสถานการณ์นี้

• มันเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับว่าทุกคนย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน แต่มันกำลังสะท้อนว่าทุกคนตกอยู่ในความกังวล แต่ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรถึงจะดีที่สุดสำหรับลูก เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยพ่อแม่ตั้งสติก่อน
• การทำโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก มันไม่เหมือนโรงเรียนนะ มันเหมือนเรากำลังเลี้ยงลูกไปด้วยกัน เราจึงต้องช่วยอยู่เคียงข้างและคลี่คลายความเครียดของพ่อแม่ เช่น บางคนกลัวว่าลูกจะไม่ได้ความรู้ เพราะผู้ปกครองเชื่อว่า เด็กต้องมาโรงเรียนถึงจะได้เรียนรู้

• โรงเรียนจึงต้องสร้างความเชื่อให้พ่อแม่รู้ว่า เด็กเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนหรือที่บ้าน ทำให้พ่อแม่เห็นว่าว่าการที่เด็กเรียนออนไลน์หรือเด็กอยู่บ้านพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นครู แต่เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้เห็นว่าการเล่นของลูกจะกลายเป็นการเรียนรู้ไปได้ยังไง
• พ่อแม่บางคนกังวลว่า แล้วจะสอนลูกยังไง จะเตรียมกิจกรรมยังไง ความจริงแล้วไม่ใช่ เราต้องสร้างความเชื่อใหม่ว่าเด็กสามารถจัดการการเรียนรู้ของตัวเองได้ โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างลูก ส่วนครูเองบทบาทก็จะต้องเปลี่ยน เราต้องอยู่เคียงข้างทั้งเด็กและพ่อแม่

RECAP_5_5

‘บางทีพ่อแม่ก็เข้าใจว่าลูกเรียนรู้ผ่านการเล่นได้ แต่สิ่งที่โรงเรียนมอบให้คือตารางที่ชัดเจนว่าแต่ละวันเด็กต้องเรียนอะไรบ้าง ต้องส่งการบ้านอะไรบ้าง กลายเป็นโรงเรียนยื่นความกดดันมาให้ แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร’
• แต่ละโรงเรียนก็มีแนวทางที่ต่างกัน ปรัชญาการเรียนการสอนก็ต่างกัน บางโรงเรียนอาจจะคิดว่า ปกติเด็กอยู่ที่โรงเรียนได้รับอะไรบ้าง พอเด็กอยู่บ้านก็ใช้วิธีส่งทุกอย่างมาที่บ้านแทน หรือโรงเรียนอาจจะกังวลว่า ถ้าไม่จัดตารางในเต็ม ไม่มีการบ้าน ผู้ปกครองจะรู้สึกอย่างไรกับค่าเทอม (หัวเราะ)
• ค่าใช้จ่ายคงที่ของโรงเรียนก็คือเงินเดือนครู ซึ่งถือเป็นสัดส่วนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเอาเงินเดือนครูเป็นหลัก ไม่ว่าจะไปลดค่าใช้จ่ายส่วนไหน มันก็ช่วยไม่ได้มาก
• มาที่เรื่องค่าเทอม โรงเรียนของครูก้า (จิตเมตต์) เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ปัญหาของเราอาจจะไม่ได้ซับซ้อนเท่ากับโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุน เพราะจะมีข้อกำหนดว่าโรงเรียนสามารถเรียกเก็บค่าเทอมได้ไม่เกินเท่าไร ซึ่งจำนวนที่กำหนดมันอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้โรงเรียนอยู่ได้ ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพราะต้นทุนของโรงเรียนสูงกว่าเงินที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าให้เก็บค่าเทอมแค่นี้ เดี๋ยวจะมีเงินมาช่วย แต่เงินที่มาช่วยมันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเหมือนกัน
• ผู้ปกครองบางคนอาจจะคิดว่าลูกเรียนออนไลน์ แต่ทำไมโรงเรียนยังเก็บค่าเรียนว่ายน้ำอยู่ ก็เพราะโรงเรียนยังต้องจ่ายเงินเดือนให้ครูว่ายน้ำ สระว่ายน้ำก็ยังต้องดูแลอยู่ ค่าอาหารกลางวันเราคืนให้ได้ แต่โรงเรียนก็ยังต้องจ้างแม่ครัวอยู่ เราคืนใส่ส่วนค่ากับข้าว มันก็อาจจะเป็นเงินที่ไม่มาก พอมีความกดดัน โรงเรียนจึงต้องทำให้คุณพ่อคุณแม่เชื่อใจและรู้สึกคุ้มค่ากับเงินค่าเทอมที่จ่ายไป ด้วยตารางการเรียนการสอนที่แน่นไปหมด

ก่อนเข้าช่วงให้พ่อแม่ในห้องยกมือ คุณแม่นิดนกขอเปิดประเด็นใหม่ถามครูก้าแทนพ่อแม่หลายคนที่กำลังประสบปัญหานี้

‘ลูกเรียนออนไลน์แล้วแม่เครียดมาก เพราะว่าลูกไม่ตั้งใจเลย ไม่ตอบคำถาม ไม่ทำการบ้าน เราจะรักษาความสัมพันธ์และสถานการณ์ไม่ให้มันตึงเครียดได้อย่างไร’

• ไม่อยากให้คุณแม่ซีเรียสเรื่องนี้ ขอให้คิดว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเรียนออนไลน์ก็เป็นเรื่องใหม่ของเขาเหมือนกัน หรือเด็กบางคนอาจจะไม่ได้มีปัญหา เขาแค่อยากนั่งมองคนอื่นทำก่อนเท่านั้นเอง เมื่อเขาพร้อมเขาจะทำเอง แต่บางทีพ่อแม่อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ตลอดเวลา จึงต้องมีครูคอยช่วยดึงสติให้พ่อแม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติมาก
• สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่อย่าคิดว่าการเรียนออนไลน์มันคือการเรียนการสอนเลย เพราะเด็กวัยนี้ ต่อให้อยู่โรงเรียนเขาก็เล่น เขาก็เรียนรู้ตามธรรมชาติของเขา เราควรทำให้การใช้หน้าจอมันเข้ามาช่วยให้ลูกได้เจอเพื่อน ได้เห็นหน้าคุณครู หรือมาเติมเต็มความต้องการบางอย่างของเขา

RECAP_5_6

Session 3 คำถามจากพ่อแม่

คุณแม่ถาม: ลูกอยู่อนุบาล 2 เรียนออนไลน์แล้วคุณครูให้อ่านชื่อเพื่อนแต่ละคน แต่ลูกเราไม่ทำตามที่คุณครูบอกเลย เราควรไปคะยั้นคะยอเขาไหม และเวลาที่ตอบคำถามหรือทำการบ้าน เขาก็จะถามพ่อแม่ตลอดว่าทำถูกไหม เหมือนเขาต้องการความมั่นใจว่ามันถูก ทั้งที่เราไม่เคยไปกดดันลูกเลย

ครูก้าตอบ:
• ครูก้าเดาว่าการให้อ่านชื่อเพื่อนน่าจะเป็นวิธีการให้เด็กวัยนี้เรียนรู้เรื่องภาษา ซึ่งชื่อเพื่อนก็คือคำที่มีความหมายและใกล้ตัวสำหรับเขา การที่ลูกไม่ตอบคุณครู เขาอาจจะอยากสังเกตก่อนว่าเพื่อนๆ ทำอย่างไร วิธีที่ดีที่สุดคือคอยดูเขาไป ไม่ต้องฝืนหรือบังคับ เพราะการเรียนออนไลน์ก็เป็นเครื่องมือใหม่สำหรับเขา ต้องให้เวลา ทำให้เขารู้สึกมั่นคง อบอุ่น และสบายใจกับการอยู่ที่หน้าจอ
• ส่วนทำไมลูกต้องคอยหันมาถามตลอดเวลา เพราะว่าพ่อแม่คือคนสำคัญที่เขาต้องการฟีดแบ็กจากเราตลอดเวลา บางครั้งการที่ลูกหันมาถามบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณว่าเราต้องเพิ่มการทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่วางใจหนู

ช่วงสุดท้าย มีคุณแม่ยกมือขอแชร์ประสบการณ์มีลูกวัยประถมสองคนที่ต้องเรียนออนไลน์พร้อมกัน
• เรื่องแรกคือเมื่อมีลูกสองคน อุปกรณ์ที่ใช้ก็ต้องแยกกัน ซึ่งก่อนเริ่มเรียนทางโรงเรียนก็ทำการสำรวจความพร้อมของแต่ละบ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ตกเป็นภาระของผู้ปกครองที่มีลูกสองคนอยู่ดี

RECAP_5_7

• ลูกคนเล็กเป็นเด็กตั้งใจเรียน ปล่อยให้เขานั่งเรียนเองได้ แต่คนโตเป็นสมาธิสั้น แม่ต้องนั่งประกบตลอดเวลา จนคนน้องถามว่า ‘ทำไมคุณแม่ไม่มานั่งกับหนูบ้าง’ เป็นคำถามที่บีบหัวใจมาก เพราะถ้าเลือกได้ แม่ก็ไม่อยากนั่งกับใครเลยลูก แม่อยากดูซีรีส์ (หัวเราะ)
• วิธีการสอนของคุณครูมีความสำคัญมาก ว่าจะเอาเด็กอยู่หรือไม่ แม่สังเกตเห็นคลาสที่ครูสามารถตรึงเด็กไว้กับที่ได้นาน เขาจะใช้วิธีเล่นเยอะ เล่มเกม ถามตอบ เริ่มต้นคลาสก็มีเรื่องเล่าสนุกๆ ระหว่างเรียนก็มีกิจกรรมคั่นการมองหน้าจอบ้าง เช่น ให้เด็กออกไปดูแสงเงาหน้าบ้าน แบบนี้ก็จะทำให้เด็กอยู่กับการเรียนนั้นได้นาน

คุณแม่นิดนกถาม: ‘ในฐานะที่คุณแม่มีลูกเรียนประถมแล้ว แสดงว่าลูกต้องเคยผ่านการเรียนออนไลน์มาในปีที่แล้ว พอปีนี้การขึ้นชั้นใหม่ด้วยการเรียนออนไลน์เลย เด็กๆ เขามีการตอบรับอย่างไรบ้าง’

คุณแม่ทางบ้านตอบ: ต้องบอกว่าสถานการณ์ปีที่แล้วดีกว่าตอนนี้มาก เพราะว่าปีที่แล้วช่วงโรงเรียนเปิด มีตัวเลขรายวัน 7-8 คน เพราะฉะนั้นเด็กก็สามารถไปโรงเรียน ได้เจอเพื่อนบ้าง และมีการสลับมาเรียนออนไลน์บ้าง แต่ปีนี้ดูสถานการณ์แล้ว คงเรียนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่

คุณแม่นิดนกถาม: ถ้าการเปิดเทอมยังคงเลื่อนไปเรื่อยๆ แบบนี้ ระหว่างนั้นพ่อแม่ควรต้องทำอะไรไหม หรือว่าเราสามารถรอการเปิดเทอมไปเรื่อยๆ ได้

ครูก้าตอบ: ต้องดูว่า ณ สถานการณ์นั้นๆ เราทำอะไรได้ดีที่สุด และเราต้องเชื่อว่าเด็กเรียนรู้ได้ แต่วิธีการเรียนรู้ต้องถูกจริตของเขา และการเรียนรู้ไม่ควรยึดติดกับรายวิชา ให้มองว่าเป็นเรื่องของสมองและหัวใจ ใจของเด็กคือตัวขับเคลื่อนการอยากเรียนรู้ของเขา เราไม่รู้ว่าในอนาคตวิธีการเรียนมันอาจจะเปลี่ยนไปหมดเลยก็ได้ เพราะงั้นเราอย่าไปยึดที่วิธี แต่ให้ดูที่ธรรมชาติของเด็กว่าเขาเรียนรู้ได้จริงไหม และอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเติบโตได้

RECAP_5_8

พ่อแม่และครูต้องมีความสามารถในการยืดหยุ่นกับสถานการณ์ มองหาวิธีที่ดีที่สุดในเวลานั้นๆ อย่าไปคาดหวังว่ามันจะเหมือนเดิม แต่ก็อย่าไปกังวลว่ามันจะเป็นอย่างนี้อีกนานแค่ไหน เราสู้กันไปแบบนี้ดีกว่า


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST