READING

เมื่อความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่ตรงกัน ท...

เมื่อความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่ตรงกัน ทำยังไงดี?

ช่องว่างระหว่างวัยอาจทำให้ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของคนเราแตกต่างกัน เพราะข้อมูลความรู้ที่ได้รับมาแต่ละยุคสมัยอาจจะไม่เหมือนกัน ทำให้หลายครั้งการพูดคุยของคนที่อายุห่างกัน ต้องขัดแย้งกันเหมือนคุยกันคนละภาษา เกิดเป็นความไม่เข้าใจ ลามไปถึงการทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวได้

ผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจจะเข้าใจว่าความคิดความเชื่อของตัวเองเป็นเรื่องถูกต้อง ในขณะที่เด็กๆ ก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้รู้ได้เห็น หรือหาข้อมูลด้วยตัวเองมากกว่าที่จะเชื่อตามคนรุ่นเก่า

และในฐานะผู้ใหญ่ ควรทำอย่างไร ให้ความแตกต่างทางความคิดไม่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในครอบครัว

1. ไม่โน้มน้าวให้ลูกคิดเหมือนเรา

differentopinions_web_1

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักมีความคิดว่าลูกควรจะมีความคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกับพ่อแม่ จึงพยายามโน้มน้าวและชักจูงเพื่อให้ลูกคิดหรือชื่อตามที่ตัวเองต้องการ

แต่ความจริงแล้วผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า ทุกคนย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง แทนที่จะพยายามโน้มน้าว ลองเปิดใจและให้เกียรติความคิดเห็นของลูก รับฟังลูกเพื่อปรับและแลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องหาข้อสรุปว่าความคิดของใครผิดหรือถูก

2. อย่าคิดว่าลูกไม่รู้หรือไม่เข้าใจ

differentopinions_web_2

ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่า เด็กๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร หรือโดนหลอกและชักจูงง่าย แต่ในปัจจุบันนี้ เด็กๆ ส่วนมากมีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสาร รวมถึงการสืบค้นข้อมูลเรื่องราวในอดีตได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ผู้ใหญ่ไม่ควรตัดสินว่าเด็กอายุน้อย จึงไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจอะไรเท่าที่ควร แต่ควรสอนให้เด็กๆ รู้จักกลั่นกรองข่าวสารและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับมาให้ถี่ถ้วน โดยไม่ปิดกั้นช่องทางการรับข่าวสารของเด็กๆ

3. ไม่ควรพยายามขัดขวางหรือเปลี่ยนความคิดลูก

differentopinions_web_3

ดร.เฮม จีนอตต์ (Dr.Haim Ginott) ผู้เขียนหนังสือ Between Parent and Child หรือ วิธีพูดกับลูกวัยรุ่นโดยไม่ทำร้ายตัวตนและจิตใจ (ฉบับแปลเป็นภาษาไทย) ได้ระบุไว้ว่า “พ่อแม่ที่ฉลาดจะรู้ว่าการทะเลาะกับลูกวัยรุ่นนั้น เสมือนการพายเรือสู้กับกระแสน้ำ เวลาที่พ่อแม่โกรธอาจจะใช้คำพูดที่ไม่ตั้งใจ อาจทำร้ายตัวตนและจิตใจจนทำให้เขาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง และยังลามไปถึงการไม่รู้จักคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ สักวันหนึ่งเขาจะคิดว่าตัวเขาเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ”

เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยแห่งความสับสนและมีความเป็นตัวตนสูง แต่ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจและเปิดโอกาสให้ลูกพูดคุยแสดงความคิดเห็น ก็จะลดการสาเหตุการทะเลาะเลาะเบาะแว้งกันภายในครอบครัวได้ค่ะ

4. ไม่ใช้ถ้อยคำหรือพฤติกรรมรุนแรงเมื่อลูกไม่เป็นอย่างที่ใจต้องการ

differentopinions_web_4

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้วิธีต่อว่าหรือยื่นคำขาด เพื่อห้ามไม่ให้ลูกพูด แสดงความคิดเห็น หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าเป็นห่วงหรืออาจเกิดอันตรายได้ แต่ถ้อยคำหรือพฤติกรรมที่รุนแรงไม่เคยช่วยให้สถานการณ์เลวร้ายดีขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในครอบครัว

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวควรแสดงความเป็นห่วงลูกหลานด้วยท่าทีประนีประนอม หากิจกรรมอื่นที่สามารถทำร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้ง และไม่ใช้อำนาจหรือคำพูดที่รุนแรงเพื่อเอาชนะเด็กๆ

เพียงเท่านี้ ความแตกต่างหรือขัดแย้งทางความคิดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในครอบครัวก็จะสามารถบรรเทาและอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบมากขึ้นค่ะ

อ้างอิง
mgronline
ninknirawa08
gotoknow

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST