ถ้าให้นับว่าแต่ละวัน คุณพ่อคุณแม่ต้องปวดหัวเพราะบอกหรือห้ามอะไรลูกไม่สำเร็จวันละกี่ครั้ง คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงได้แต่ตอบว่านับครั้งไม่ถ้วน
พอลูกถึงวัยอนุบาล หรือช่วงอายุ 2-4 ขวบ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพูดหรือห้ามอะไร ก็ดูเหมือน ยิ่งห้ามลูกยิ่งทำ ยิ่งบอกว่าไม่ ลูกยิ่งทำในทางตรงข้าม
ถึงแม้การไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นหนึ่งในพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กวัยนี้ เพราะเป็นวัยที่ลูกเริ่มต้องการแสดงตัวตน หรือความต้องการของตัวเองมากขึ้น ซึ่งความต้องการของลูกมักจะตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ทำเสมอ
แต่การที่ลูกไม่เชื่อฟัง หรือ ยิ่งห้ามลูกยิ่งทำ นอกจากจะเป็นไปตามพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกแล้ว การเลี้ยงดูและการรับมือของคุณพ่อคุณแม่ ก็มีส่วนกระตุ้นความดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรือการเป็นนักต่อต้านในตัวลูกให้ออกมาแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
1. เพราะคุณพ่อคุณแม่คอยห้ามลูกมากเกินไป
Thought Suppression เป็นทฤษฎีที่ทำการทดลองด้วยการบอกผู้ถูกทดลองว่า “ห้ามคิดถึงช้างสีชมพูและหมีสีขาว” ซึ่งพอได้ยินดังนั้น ภาพแรกที่คนส่วนมากจะนึกขึ้นมาในทันที ก็คือช้างสีชมพูและหมีสีขาวนั่นเอง นั่นเป็นเพราะว่าสมองของคนเราจะแปรผลจากสิ่งที่ชัดเจนและมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ง่ายกว่า
เช่นเดียวกับเวลาที่คุณพ่อคุณแม่คอยบอกลูกว่า “ห้ามปีนขึ้นโต๊ะ” สิ่งที่ลูกได้ยินและรับรู้ง่ายที่สุดก็คือ ‘ปีนขึ้นโต๊ะ’ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมคุณพ่อคุณแม่ห้ามปุ๊บ แล้วลูกก็ทำปั๊บนั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ที่คอยพูดคำว่า อย่า, ไม่ และใช้คำสั่งห้าม กับลูกอยู่เสมอ อาจยิ่งกระตุ้นอยากรู้อยากลองทำสิ่งนั้นมากขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้การสื่อสารเชิงบวก ไม่ออกคำสั่งห้าม แต่บอกข้อเสนอหรือทางเลือกที่อยากให้ลูกทำ เช่น แทนที่จะห้ามลูกปีนขึ้นโต๊ะ ลองเปลี่ยนเป็นการเสนอให้ลูกนั่งเล่นที่พื้น หรือชวนลูกเปลี่ยนพื้นที่เล่นไปบริเวณอื่นแทนก็ยังได้
2. ลูกอยากพิสูจน์ว่าขัดคำสั่งแล้วจะเป็นอย่างไร
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ชอบใช้คำว่า อย่า ไม่ หรือคำสั่งห้าม เพื่อที่จะหยุดไม่ให้ลูกทำบางอย่าง แต่การถูกห้ามหรือปิดกั้นลูกมากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากลองตามธรรมชาติ และทำให้ลูกอยากพิสูจน์ว่าถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามคำสั่งคุณพ่อคุณแม่แล้วผลจะเป็นอย่างไรบ้าง
ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะคอยสั่งห้ามไม่ให้ลูกทำอะไร ลองเปลี่ยนเป็นการยื่นข้อเสนอสิ่งที่ลูกควรทำ เช่น เปลี่ยนการบอกว่า “ห้ามแกะขนม” เป็น “เดี๋ยวเราค่อยมากินขนมกันหลังกินข้าวดีกว่านะคะ”
3. พฤติกรรมเลี้ยงลูกเชิงลบ
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าเด็กที่ถูกดุหรือถูกลงโทษรุนแรงเป็นประจำ จะยิ่งดื้อ ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ไม่เชื่อฟัง และมีโอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมต่อต้านคุณพ่อคุณแม่มากยิ่งขึ้น
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมพ่อแม่ยิ่งพูดยิ่งห้าม แทนที่ลูกจะเชื่อฟังและมีพฤติกรรมดีขึ้น กลับกลายเป็นลูกยิ่งดื้อ ยิ่งพยายามฝ่าฝืนคำพูดของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
4. กฎเกณฑ์ในครอบครัวมากเกินไป
การมีกฎเกณฑ์นบ้านเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะจะช่วยปลูกฝังการมีระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้น แต่หากในครอบครัวมีกฎที่เข้มงวด ทำตามได้ยาก และมีข้อห้ามมากเกินไป ลูกที่เติบโตในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูแบบนี้ มักมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ไม่ทำตาม และยังทำตรงกันข้ามกับคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST