หนึ่งในพฤติกรรมของเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นมากขึ้น ในปัจจุบัน ก็คือ ลูกกะพริบตาบ่อย และเมื่อคุณพ่อคุณแม่พยายามมองหาสาเหตุที่ทำให้ลูกกะพริบตาบ่อย ก็มักจะจบลงตรงที่การให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้หน้าจออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปนั่นเอง
สถิติและการวิเคราะห์ทั่วโลกระบุ ปัจจุบัน เด็กเล็ก หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบใช้เวลาอยู่หน้าจอ เพิ่มขึ้นจากเดิม ประมาณ 35 นาทีต่อวัน ในขณะที่เด็กประถม หรือเด็กอายุ 6-10 ปี ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มขึ้น 83 นาทีต่อวัน
แต่ก่อนจะตัดสินว่าอาการ ลูกกะพริบตาบ่อย จะมีสาเหตุมาจากการเล่นโทรศัพท์หรือใช้หน้าจอมากเกินไปเพียงอย่างเดียว เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับภาวะ Tics (Tic disorder) หรืออาการกระตุกของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกาย โดยไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลทางพันธุกรรม ความผิดปกติของการทำงานของสมองในส่วนของการเคลื่อนไหว หรือเกิดจากความเครียดหรือความตื่นเต้นมากจนเกินไปร่วมด้วย
ภาวะ Tics หรือกล้ามเนื้อกระตุก มักเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้นไป และสามารถหายไปเองได้เมื่อโตขึ้น
อาการกล้ามเนื้อกระตุกจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กล้ามเนื้อตามตัวกระตุก (Motor tic) และอาการส่งเสียง (Vocal tic)
ทั้งนี้ อาการกล้ามเนื้อกระตุกทั้งสองลักษณะ ไม่ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย แต่จะสามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของลูกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลูกมีอาการกระตุกที่สังเกตได้ง่าย เช่น การกะพริบตาบ่อยครั้ง ก็เป็นหนึ่งในอาการของภาวะ Tics ได้เช่นกัน
เมื่อภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการดำเนินชีวิต บุคลิกภาพ และสุขภาพจิตของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหาทางรับมือและแก้ไขให้ถูกวิธีอีกแล้วล่ะค่ะ
1. ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ

สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยทำให้สุขภาพของลูกดีขึ้น ก็คือการสร้างวินัยในการนอน ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเล็กหรือเด็กวัยเรียนนั้น ต้องการการนอนหลับพักผ่อน 9 –12 ชั่วโมงต่อวัน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอนี้ก็จะช่วยให้ลูกน้อยได้ผ่อนคลายจิตใจจากความเครียดได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นการลดสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกได้
2. ให้ลูกหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นอาการตาบ่อยของลูก ในเวลาที่ลูกเล่นโทรศัพท์ ถึงแม้การใช้โทรศัพท์มือถืออาจไม่ใช่สาเหตุหลักของภาวะกล้ามเนื้อกระตุก แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจก็คือ ลูกเกิดความเครียด กดดัน หรือตื่นเต้นเกินไปจากการใช้โทรศัพท์มือถือหรือไม่
วิธีการที่ช่วยได้คือลดการใช้โทรศัพท์มือถือของลูกให้น้อยลง และหากิจกรรมอื่นทดแทนให้ลูกทำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การระบายสี หรือการเล่นดนตรี ที่จะช่วยเสริมสร้างสมาธิ และเกิดความเครียดน้อยลง
3. ไม่ต่อว่า ล้อเลียน หรือทำให้ลูกขาดความมั่นใจ

เมื่อลูกมีอาการกะพริบตาบ่อย จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด คุณพ่อคุณแม่ย่อมอดไม่ได้ที่จะทัก เอ่ยปากห้าม หรือพูดให้ลูกเสียความมั่นใจ รวมถึงการต่อว่า และบังคับให้ไม่ให้ลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว ทั้งที่ความจริงแล้ว ลูกไม่สามารถควบคุมอาการกล้ามเนื้อกระตุกของตัวเองได้ การตำหนิ ต่อว่า และทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ จึงทำให้ลูกเกิดความเครียดได้
4. ปรึกษาแพทย์

การกะพริบตาบ่อย ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกด็ยังมีอาการอื่นๆ เช่น การพลั้งเผลอพูดอะไรซ้ำๆ ทำให้เกิดความรำคาญต่อคนรอบข้าง อาการมือกระตุก ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการถือหรือหยิบจับสิ่งของได้
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมหรืออาการอื่นๆ ที่อาจเกิดอันตราย ก็ควรให้ลูกได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาวิธีการในการรักษาต่อไป
อาการของภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ (Tic disorder) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้วสามารถหายได้เองในอนาคต แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ หาสาเหตุของอาการ และพยายามลดพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยความเข้าใจ ก่อนที่จะหาแนวทางรักษาต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST