READING

หรือจะหมดเวลาของ Time Out แล้ว เพราะลูกอาจคิดว่าตั...

หรือจะหมดเวลาของ Time Out แล้ว เพราะลูกอาจคิดว่าตัวเองเป็นเด็กไม่ดี

ในยุคที่ใครๆ ก็แนะนำว่าเวลาที่ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟังหรืองอแงไม่มีเหตุผล ให้ใช้วิธี Time Out (ไทม์เอาต์) กำหนดพื้นที่ในบ้านให้ลูกสงบสติอารมณ์ แต่! ถ้าใช้ผิดวิธี ก็อาจกลายเป็นการทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่ตั้งใจ

และถ้าไม่ไทม์เอาต์แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะใช้วิธีไหนทดแทนกันละทีนี้

ทำความรู้จักก่อนว่า Time Out คืออะไร

ไทม์เอาต์ถูกบัญญัติขั้นโดย B.F. Skinner—นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เพื่อใช้เรียกรูปแบบการทำโทษขนานเบา ด้วยการให้เด็กดื้อไปนั่งสงบสติอารมณ์ที่พื้นที่หนึ่งของบ้าน ในระยะเวลาที่กำหนดไว้

แต่บ่อยครั้งเมื่อเด็กน้อยถูกสั่งให้นั่งสงบสติอารมณ์ในเขตไทม์เอาต์ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 5-10 นาที แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่มีการพูดคุยปรับความเข้าใจ การไทม์เอาต์ก็นับเป็นบทลงโทษที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย

Time Out ที่ผิดวิธี

– ใช้วิธีการลงโทษนี้เป็นคำขู่เมื่อลูกไม่เชื่อฟัง

– ใช้กำลังในการบังคับให้ลูกไปอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้

– ใช้เวลามากเกินไป

– เดินหนีจากลูก

– ไม่ให้ลูกเข้าใกล้

– พื้นที่ในการทำโทษไม่เหมาะสม เช่น เป็นพื้นที่ที่คุณพ่อคุณแม่มองไม่เห็นลูก และลูกมองไม่เห็นใคร

– ทำโทษด้วยอารมณ์โกรธ

– ใช้วิธีนี้ทำโทษลูก เมื่อคุณไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์ด้านลบของตัวเองอย่างไร

 

อย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของไทม์เอาต์คือ เพื่อให้ลูกรู้จักสงบอารมณ์ลงด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้าคุณเข้าข่ายมีพฤติกรรมตามหัวข้อด้านบนบ่อยๆ ละก็ ควรรีบปรับทัศนคติตัวเองโดยด่วน

ผลร้ายของการ Time Out ผิดวิธี

1. ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองไม่ดี

TimeOut_1

การลงโทษจะตอกย้ำให้เด็กๆ ที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีหรือเปล่านั้น เข้าใจว่า ถูกต้องแล้ว เราเป็นคนไม่ดี และนำไปสู่การคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่เคารพตัวเอง และอาจทำพฤติกรรมในทางลบมากขึ้น เพราะคนที่รู้สึกแย่กับตัวเองจะแสดงออกอย่างแย่ๆ ต่อตัวเองและคนรอบข้าง

ดร. ออตโต้ เวนินเจอร์—ผู้เขียนหนังสือ Time-in Parenting กล่าวว่า วิธีการไทม์เอาต์จะทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงความชั่วร้ายในตัวเอง เพราะเขาอาจรู้สึกผิดและรู้สึกไม่ดีกับตัวเองก่อนระเบิดอารมณ์อยู่แล้ว เมื่อเราผลักไสและปล่อยให้เขาอยู่ในพื้นที่ทำโทษอย่างโดดเดี่ยว จะยิ่งเป็นการยืนยันว่าเขาคิดถูกแล้ว เขาเป็นเด็กไม่ดีอย่างที่คิดจริงๆ นั่นแหละ

2. ไม่ได้ช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตามธรรมชาติ

TimeOut_2

วิธีที่เร็วที่สุดที่จะสอนให้เด็กๆ ควบคุมสติและอารมณ์ของตัวเองคือ การเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นๆ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแยกเขาออกไปนั่งสำนึกผิดในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เขาอาจจะสงบก็จริง แต่อาจไม่ได้เรียนรู้วิธีจัดเก็บอารมณ์ของตัวเองในเรื่องอื่น หรือในเหตุการณ์ครั้งต่อๆ ไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า เวลาลูกเสียใจหรือโวยวายแล้วคุณต้องเข้าไปกอดหรือปลอบทันที (เพราะเขาอาจจะต่อต้าน)

แต่คุณอาจใช้วิธีการอยู่กับเขาในสถานการณ์นั้นอย่างสงบ ไม่ต้องพูดคุยกันมาก แต่เติมความมั่นใจให้เขารับรู้ว่าเขาปลอดภัย และรอจนกว่าเขาพร้อมจะเล่าให้คุณฟัง

3. สร้างความหวาดกลัว และเป็นสัญลักษณ์ของการทอดทิ้ง

TimeOut_3

การทิ้งให้เด็กรู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยว ยามที่เขาต้องการคุณมากที่สุด ทำให้เขาเชื่อฟังได้ก็จริง แต่… เป็นการเชื่อฟังที่เกิดจากการถูกคุณกระตุ้นให้หวาดกลัว ว่าจะถูกทอดทิ้ง

ดร. แดน ซีเกล—ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles: UCLA) กล่าวว่า ความเจ็บปวดจากการถูกทอดทิ้งในเวลาไทม์เอาต์ สามารถบาดลึกไปถึงก้นบึ้งจิตใจของเด็กน้อย และเขาจะจดจำมันอย่างไม่มีวันลืม และประสบการณ์ในการถูกไทม์เอาต์ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของสมองเด็กได้

4. เพิ่มพฤติกรรมร้ายๆ แทน

TimeOut_4

การทำโทษด้วยการทอดทิ้งให้ลูกโดดเดี่ยว เป็นการส่งข้อความว่า แม่ไม่เอาลูกแล้วนะ ถ้าลูกทำตัวอย่างนี้ ซึ่งแปลความหมายได้อีกทีว่าคุณจะยอมรับลูกได้ ก็ต่อเมื่อลูกเป็นเด็กดีเท่านั้น แล้วตัวตนที่แท้จริงและยากจะเข้าใจของลูกล่ะ…

เด็กเล็กๆ ยังแยกตัวตนและอารมณ์ออกจากกันไม่ได้ เขาจึงมักสรุปเอาเองว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของพ่อแม่อีกต่อไปแล้ว และคอยเก็บกดอารมณ์ร้ายเอาไว้เงียบๆ

5. ทำลายสายสัมพันธ์บางอย่างในครอบครัว

TimeOut_5

คุณพ่อคุณแม่หลายคนถึงกับต้องฉุดกระชากลากถูลูกให้ไปอยู่ในโซนไทม์เอาต์ คุณอาจกำลังทำให้เขารู้สึกเสียหน้าและไม่พอใจโดยไม่ได้ตั้งใจ และช่วงเวลาที่เขานั่งสงบอารมณ์ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขานิ่งเงียบ หรือสงบลงเพราะตั้งใจจะเป็นคนที่ดีขึ้น

เพราะฉะนั้นหลังการทำโทษจบลง อย่าลืมเปิดใจพูดคุยกันดีๆ อีกครั้ง

6. เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

TimeOut_6

มันทำให้คุณละเลยมุมมองของเด็กๆ ไป นอกจากจะลดคุณค่าในตัวลูกแล้ว ลูกก็จะลดคุณค่าในตัวคุณด้วย ดังนั้น เด็กๆ อาจยิ่งมีพฤติกรรมด้านลบมากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ใช้การไทม์เอาต์ผิดวิธี

สร้างความเข้าใจใหม่
เรื่องการปรับพฤติกรรมของลูกน้อย

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ทุกการลงโทษเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมักจะทิ้งบาดแผลเอาไว้ ธรรมชาติของเด็กๆ ทุกคนไม่ได้ตั้งใจจะไม่เชื่อฟัง แต่พวกเขาเชื่อฟังแบบเด็กๆ ด้วยวุฒิภาวะแบบเด็กน้อย พวกเขาเข้าใจโลกและตอบสนองในแบบของเขา และทำผิดเพราะประสบการณ์ ความรู้ และพัฒนาการยังไม่เติบโตเต็มที่

เพราะฉะนั้น ความร้ายกาจของเด็กน้อยจึงอาจมาจากแค่ปัจจัยเล็กๆ เช่น หิว ร้อน เหนื่อย เบื่อ อยากให้กอด อยากให้สนใจ หรือบางครั้งก็แค่รู้สึกเศร้า แต่ไม่รู้จะอธิบายหรือแสดงออกมาอย่างไร

วาเนสซา ลาปวต—นักจิตวิทยาเด็กจากสถาบันบริทิชโคลัมเบียน (British Columbian) กล่าวว่า

“การลงโทษคือการทำร้ายร่างกายทุกรูปแบบ
เพราะมันไปบีบคั้นความต้องการจากส่วนลึกที่สุดของเด็ก
และดึงความต้องการนั้นออกมาเป็นเครื่องต่อรอง”

เพราะฉะนั้น ไทม์เอาต์จึงควรเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ต้องการลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง และห้ามใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้อง แต่ต้องการให้ลูกทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง ละทิ้งความเครียด และเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์อย่างสงบและเหมาะสมเท่านั้น

ส่วนพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงออกก็คือ รับฟังลูกอย่างผ่อนคลาย พูดตอบโต้ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน หายใจเข้าลึก หายใจออกยาว ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นวิธีควบคุมอารมณ์อย่างนี้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นมากกว่าการออกคำสั่งให้ลูกไปอยู่คนเดียว ด้วยอารมณ์คุกรุ่นของทั้งสองฝ่าย

ปรับพฤติกรรมลูกแบบไหนดีที่สุด

เริ่มต้นได้ที่ตัวคุณเป็นตัวอย่างตอนนี้เลย อยากให้ลูกเป็นแบบไหน คุณก็ทำตัวเองให้เป็นแบบนั้น จัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ อาจใช้วิธี Time In คือการอยู่เคียงข้าง ตั้งใจพูดคุยกับลูกให้เข้าใจกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ และช่วยกันแก้ไขไปจะดีที่สุด

เอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่นะคะ 🙂


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST