คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนกำลังกลุ้มใจกับความดื้อรั้นและเอาแต่ใจของลูกวัยกำลังซนบ้างไหมคะ
ยิ่งเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมตามใจ หรือไม่ตอบสนองความต้องการของลูกในทันที ก็มักจะได้เจอพฤติกรรม ลูกชอบกรี๊ด กรีดร้อง หรือส่งเสียงและท่าทางก้าวร้าวออกมา แม้คุณพ่อคุณแม่จะพยายามหยุดหรือปรับพฤติกรรมของลูกอย่างไร พฤติกรรมชอบส่งเสียงกรี๊ดของลูกก็ยังถูกใช้เพื่อเอาชนะและวัดความอดทนกับคุณพ่อคุณอย่างไม่ลดละ
สำหรับเด็กเล็ก ช่วงอายุหนึ่งปีแรก การส่งเสียงร้องเป็นเหมือนภาษาและการสื่อสารขั้นพื้นฐานของลูก การส่งเสียงกรี๊ดอาจเป็นเรื่องธรรมดา เพราะลูกยังไม่สามารถสื่อสารหรือบอกความต้องการออกมาเป็นคำพูดได้ แต่เมื่อลูกโตพอที่จะพูดจาสื่อสารเป็นคำพูดได้แล้ว กลับมีพฤติกรรมชอบส่งเสียงกรี๊ดเวลาไม่พอใจหรือไม่ได้ดั่งใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องย้อนกลับมามองหาสาเหตุและหาทางแก้ไขพฤติกรรมนี้ของลูกโดยเร็วนะคะ
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่า ทำไม ลูกชอบกรี๊ด ?
จุดเริ่มต้น คือการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัย เมื่อลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ลูกจึงไม่ชอบการถูกบังคับ มีความเอาแต่ใจ และยึดความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งมักแสดงออกและเห็นได้ชัดเมื่อลูกอายุสองขวบขึ้นไป
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ แล้วตอบสนองลูกด้วยการออกคำสั่ง หรือบังคับในสิ่งที่ลูกไม่ชอบ จะยิ่งทำให้ลูกแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ด้วยการกรี๊ด ปาข้าวของ ชักดิ้นชักงอ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจมากขึ้น
และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมชอบกรี๊ด ปาข้าวของ สาเหตุหนึ่งก็มาจากพื้นฐานทางอารมณ์ของลูก อีกส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ และนี่คือ 3 วิธีการเลี้ยงลูกที่คุณพ่อคุณแม่อาจกำลังสร้างหรือส่งเสริมนิสัยวายร้ายตัวจิ๋วขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว
1. เลี้ยงลูกแบบพ่อแม่เป็นใหญ่
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยคุณพ่อคุณแม่ที่เข้มงวด กดดัน บังคับ และยึดความต้องการของตัวเองเป็นหลัก มักจะเกิดความเครียดและเก็บกดความรู้สึกของตัวเองเอาไว้
วันหนึ่งที่ลูกเริ่มทนไม่ไหว ก็จะตอบสนองด้วยพฤติกรรมต่อต้านและรุนแรง เช่น การกรี๊ด ปาข้าวของ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้
2. เลี้ยงลูกแบบคนไม่มีเวลา
ครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ต้องฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยงหรือปู่ย่าตายาย ทำให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน มักจะทำให้ลูกรู้สึกมีระยะห่างกับคุณพ่อคุณแม่ และการเลี้ยงดูที่ไม่คงที่ อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ และต้องการเรียกร้องความสนใจ จึงแสดงออกมาเป็นการกรี๊ด ส่งเสียงดัง หรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่น่ารักออกมาได้
3. เลี้ยงลูกแบบกลัวลูกไม่รัก
นอกจากลูกจะรู้สึกไม่มั่นคงเพราะกลัวคุณพ่อคุณแม่ไม่รักแล้ว ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ก็อาจมีวิธีเรียกร้องความสนใจจากลูกและกลัวว่าลูกจะไม่รัก จึงพยายามตามใจลูก เอาใจลูก ไม่ดุและไม่ตำหนิ แม้ลูกจะทำผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา
การเลี้ยงเช่นนี้จะทำให้ลูกเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของครอบครัวที่อยากได้อะไรก็ต้องได้ และเมื่อไม่ได้ตามต้องการ จึงรู้สึกผิดหวังและเสียใจรุนแรง จนกลายเป็นการกรี๊ดหรือทิ้งตัวลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้น
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูของตัวเอง ก็อาจส่งผลให้ลูกมีนิสัยชอบกรี๊ดติดตัวไปจนโตได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST