ไม่ว่าการสะพายกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะส่งผลทำให้กระดูกสันหลังของเด็กคดงอจริงหรือไม่ แต่ภาพเด็กนักเรียนสะพายเป้ใบโต ถือกระเป๋าใบใหญ่เกินตัวก็เป็นภาพที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพบเห็นมานานจนเผลอคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปก็หลายครั้ง
ถึงแม้ทั่วโลกจะมีการกำหนดเกณฑ์น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมเอาไว้คือไม่เกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัวเด็ก แต่ในทางปฏิบัติแล้วเด็กนักเรียนในประเทศไทยก็ยังต้องเจอกับภาวะกระเป๋าหนักเกินไปแบบที่ยังไม่มองไม่เห็นทางเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะคุณพ่อคุณแม่ เรามี 5 วิธีที่จะช่วยลดปัญหาหนักใจพ่อแม่ หนักกายลูก มาช่วยกันทำให้ลูกของเราสะพายกระเป๋าไปโรงเรียนอย่างมีความสุขกันเถอะค่ะ
1. เลือกกระเป๋าสะพายให้เหมาะสมกับลูก
กระเป๋าสะพายหลังที่ดี ต้องมีความเหมาะสมกับความสูงของลูก สายสะพายกระเป๋ากว้างมากกว่า 6 เซนติเมตร และควรมีเข็มขัดรัดระหว่างสายสะพายเพื่อช่วยกระจายน้ำหนักที่บ่า ด้านหลังของกระเป๋าควรแนบชิดหลัง ก้นกระเป๋าไม่ห้อยต่ำ และภายในกระเป๋าควรมีช่องใส่ของชิดด้านในลำตัวมากที่สุด เพื่อช่วยถ่ายเทน้ำหนัก ยิ่งมีน้ำหนักชิดแกนกลางหลัง ทำให้ลูกรู้สึกว่ากระเป๋าไม่หนักมากนัก
หากโรงเรียนอนุญาตให้ใช้กระเป๋าล้อเลื่อน ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักกดทับกระดูกสันหลังได้
2. จัดวางหนังสือและอุปกรณ์การเรียนให้กระจายทั่วกระเป๋า และเอาของใส่กระเป๋าเท่าที่จำเป็น
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้จัดของภายในกระเป๋าให้กระจายน้ำหนักไปทั่วกระเป๋า เช่น หนังสือเรียนสมุดวางไว้ตรงกลาง ช่องว่างด้านข้างซ้ายขวาใส่กระเป๋าดินสอเล็กๆ หรือร่มพับขนาดเล็กไว้
หรือบางครั้งเป็นเพราะลูกไม่รู้ว่าอะไรเป็นจำเป็นต้องเอาไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยแนะนำและสอนให้ลูกรู้ว่าแต่ละวันมีอะไรที่จำเป็นต้องเอาไปโรงเรียนบ้าง เพื่อลดปริมาณน้ำหนักของที่ไม่จำเป็นออกจากกระเป๋า
3. ซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักสิ่งของติดไว้ประจำบ้าน
ในประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานน้ำหนักกระเป๋านักเรียนไม่เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวเด็ก เมื่อแบ่งตามระดับชั้นเด็กนักเรียน ป.1-ป.2 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3 กิโลกรัม ชั้น ป.3-ป.4 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3.5 กิโลกรัม ระดับชั้น ป.5-6 กระเป๋านักเรียนไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยลูกคุมน้ำหนักกระเป๋าด้วยการหาซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักมาคอยให้ลูกตรวจสอบน้ำหนักกระเป๋าตัวเองบ่อยๆ ถ้าเกินน้ำหนักที่ตกลงกันไว้ ลูกจะได้รู้จักการต้องเลือกของที่ไม่จำเป็นออกจากกระเป๋าเสียบ้าง
4. สอนวิธีการสะพายกระเป๋าที่ถูกต้องให้กับลูก
การสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก คุณพ่อคุณแม่ควรเอากระเป๋าวางบนโต๊ะก่อนให้ลูกสะพายเข้าที่หลัง จะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่หลังได้มากกว่าปล่อยให้เด็กต้องยกกระเป๋าขึ้นจากพื้น แต่หากต้องสะพายกระเป๋าจากพื้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกงอเข่าขณะที่ยกกระเป๋า
และเมื่อสะพายกระเป๋าขึ้นหลัง สายสะพายอยู่บนไหล่ทั้งสองข้างแล้ว ให้ปรับสายสะพายให้แนบชิดกับหลังมากที่สุด ให้ก้นกระเป๋าไม่ควรต่ำกว่าช่วงเอว
ส่วนเวลาวางกระเป๋าสะพาย ก็ควรวางลงกับโต๊ะหรือเก้าอี้มากกว่าก้มลงวางกับพื้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำหนักกดทับกระดูกสันหลังมากเกินไป เช่นกัน
5. หมั่นสังเกตอาการลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรลองเดินตามหลังลูก เพื่อสังเกตท่าเดินของลูกเวลาสะพายกระเป๋าและสังเกตว่ากระเป๋าสะพายของลูกห้อยต่ำเกินไปหรือไม่ ก้นกระเป๋าเลยบั้นเอวหรือไม่ และลูกเดินเอนตัวไปด้านหน้ามากเกินไปหรือเปล่า
หรือหลังกลับมาจากโรงเรียน ถ้าลูกบ่นว่าปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ก็เป็นไปได้ว่ากระเป๋าสะพายของลูกมีน้ำหนักมากเกินไปเสียแล้ว
COMMENTS ARE OFF THIS POST