เรื่องที่ทำให้คุณแม่กังวลใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องความปลอดภัยของลูกใช่ไหมคะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในแต่ละวัน มีเด็กจำนวนมากเข้าโรงพยาบาล เพราะความเจ็บป่วยที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย และอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง
M.O.M รวบรวม 7 อาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกเข้าโรงพยาบาล มาเพื่อเตือนภัยคุณพ่อคุณแม่ ให้ช่วยกันระมัดระวังและหาทางป้องกันกันดีกว่านะคะ
1. การเจ็บป่วยตามธรรมชาติ
เด็กทารกเป็นวัยที่ร่างกายยังคงอ่อนแอและบอบบาง เมื่อมีความรู้สึกเจ็บป่วยก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ได้ คุณจึงต้องดูแลเอาใจใส่ลูกในวัยทารกอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กวัยนี้พร้อมจะเจ็บป่วยด้วยสาเหตุต่างๆ ที่คุณคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นอาการโคลิก (Baby Colic) หรืออาการที่ทารกร้องไห้จนตัวเกร็งตัวงออย่างไม่มีสาเหตุ โรคผื่นผ้าอ้อม ปวดท้อง หรือท้องอืด
วิธีป้องกัน: คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกจากพฤติกรรมที่ลูกพยายามแสดงออก เช่น พยายามหาความแตกต่างของการร้องไห้ที่เกิดจากความหิว และร้องไห้เพราะอาการปวดท้องให้ได้ เพื่อที่จะได้หาทางแก้ได้อย่างถูกวิธี
2. อุบัติเหตุจากยานยนต์
ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิด ทำให้เด็กมักไม่ค่อยรอบคอบหรือระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
วิธีป้องกัน: คุณแม่ควรบอกลูกให้รู้ถึงอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ และควรให้ลูกนั่งคาร์ซีตทุกครั้ง
3. หกล้ม
การที่เด็กเกิดการพลัดตกหกล้มดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วอันตรายมาก โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดบริเวณศีรษะ หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน: คุณสามารถป้องกันการหกล้มของเจ้าตัวน้อยได้ โดยสอนให้ลูกรู้จักระมัดระวังตัวตลอดเวลา เช่น สอนให้ลูกเก็บของเล่นให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม
4. หัวใจหยุดเต้น
คุณแม่หลายท่านคิดว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันพบได้เฉพาะผู้ใหญ่ แต่ใน
ความจริงแล้ว มีเด็กจำนวนมากเป็นโรคหัวใจเช่นกัน
วิธีป้องกัน: คุณต้องสังเกตอาการของลูก หากลูกเป็นลมและเหนื่อยง่าย มีภาวะชักไม่ทราบสาเหตุ หอบจากการออกกำลังกาย หรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคหัวใจ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
5. สัตว์และแมลงกัด
เด็กมีผิวหนังบอบบาง จึงควรระมัดระวังไม่ให้โดนสัตว์กัด ไม่ว่าจะเป็นแมลงอย่างมดหรือยุง ไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างสุนัข เพราะพิษในแมลงหรือคมเขี้ยวของสุนัขอาจมีอันตรายกับเด็กถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีป้องกัน: คุณสามารถป้องกันแมลงและสัตว์นานาชนิดที่พร้อมจะกัดลูกน้อย ได้ตลอดเวลา เช่น คุณควรกำจัดแหล่งน้ำขัง และห้ามลูกไม่ให้นำอาหารหรือขนมมารับประทานในห้องนอน หรืออย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับสุนัขตามลำพัง
6. ชัก
เป็นอาการที่ร่างกายแข็งเกร็ง กระตุกอย่างรุนแรง และไม่สามารถควบคุมได้ หากปฐมพยาบาลผิดวิธี อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน: สิ่งสำคัญที่สุดคือตั้งสติ อย่าตกใจ และให้ทำตามขั้นตอนดังนี้ นำตัวเด็กไปยังที่โล่ง จับเด็กนอนราบลงกับพื้น จากนั้นคลายเสื้อผ้าที่รัดๆ กันคนมุงออกไปห่างๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท หากพบว่าเด็กมีไข้ ให้พยายามเช็ดตัวเพื่อลดไข้ แต่หากพบว่าร่างกายแข็งเกร็ง อย่าพยายามนวด ง้าง หรือดึง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
7. แพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารมีตั้งแต่แพ้ระดับเบา ไปจนถึงแพ้ระดับรุนแรง มีอาการคันในปาก คันตา น้ำตาไหล ลมพิษ หรือผิวหนังอักเสบ
วิธีป้องกัน: คุณต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารของลูกเป็นพิเศษ และบอกลูกถึงอันตรายถ้าหากรับประทานเข้าไป ในกรณีที่ลูกต้องไปโรงเรียน คุณควรบอกคุณครูว่า ลูกแพ้อาหารอะไรบ้าง และมีวิธีรักษาพยาบาลขั้นต้นอย่างไร
NO COMMENT