READING

Triangulation Relationship เมื่อลูกต้องกลายเป็นคนก...

Triangulation Relationship เมื่อลูกต้องกลายเป็นคนกลาง คอยรับมือความรู้สึกของพ่อแม่

Triangulation Relationship

ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา หรือสถานการณ์พ่อแง่แม่งอนของคนรัก อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตคู่

แต่เมื่ออยู่ในฐานะครอบครัว จากสามีภรรยาเป็นพ่อแม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนสองคนเท่านั้น เพราะยังมีลูกที่ต้องเป็นคนกลางในความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัด หรือความสัมพันธ์สามเส้า (Triangulation Relationship) ระหว่างพ่อแม่ลูก ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ การเรียนรู้ และพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้

Triangulation_web_1

Triangulation Relationship คือ สถานการณ์ที่คนสองคนทะเลาะกัน ไม่ยอมสื่อสารหรือปรับความเข้าใจกันเอง ต้องคอยให้บุคคลที่สามทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมความสัมพันธ์อยู่เสมอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบทั้งในกลุ่มเพื่อน สังคมการทำงาน

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่มักเกิดสถานการณ์ชวนอึดอัดเช่นนี้โดยไม่รู้ตัว เริ่มจากพ่อแม่ผิดใจ เข้าใจผิดกัน น้อยใจ หรืองอนกันเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการทะเลาะกันรุนแรง คนที่คอยเป็นคนกลาง อยากสานสัมพันธ์ของคุณพ่อคุณแม่ ก็คือลูก

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะเริ่มส่งผลต่อสภาพจิตใจลูก และอาจทำให้ลูกรู้สึกลำบากใจที่ต้องเลือกว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหนในที่สุด

งานวิจัยเผยว่า ลูกที่ต้องคอยทำหน้าที่เป็นคนกลาง แบกรับความรู้สึกและอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว มักจะต้องเผชิญกับปัญหาดังต่อไปนี้

1. ความรู้สึกไม่ปลอดภัย

Triangulation_web_2

เมื่อลูกต้องตกอยู่ในสถานะคนกลางคอยเชื่อมความสัมพันธ์พ่อแม่อยู่ตลอด จะทำให้ลูกรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในตัวคุณพ่อคุณแม่ หรือรู้สึกขาดที่พึ่ง เนื่องจากในสภาวะปกติคุณพ่อคุณแม่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำ คอยดูแลลูก แต่เมื่อพ่อแม่ทะเลาะหรือไม่คุยกันบ่อยๆ ลูกจะเริ่มรู้สึกว่าบ้านขาดความอบอุ่น รู้สึกขาดความรัก และขาดผู้นำในการดำเนินชีวิต

2. อารมณ์ไม่คงที่

Triangulation_web_3

เกิดจากความเครียดที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างคุณพ่อและคุณแม่บ่อยๆ และเมื่อความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ลูกเริ่มสูญเสียความเป็นตัวเอง มีความวิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตัวเอง และอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเกิด ภาวะซึมเศร้า ได้

3. เข้ากับคนอื่นได้ยาก

Triangulation_web_4

Triangulation Relationship ในครอบครัว ทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการจัดการความขัดแย้งที่เหมาะสม เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เมื่อลูกไปเจอเพื่อนและสังคมใหม่ๆ ก็จะขาดทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

แล้วจะหยุดความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัดในครอบครัวได้อย่างไร

หากจะบอกให้คุณพ่อคุณแม่เลิกทะเลาะกันก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่ออยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การถกเถียง การมีความคิดเห็นไม่ตรงกันนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการไม่สื่อสารกัน และปล่อยให้ลูกมาเป็นคนกลางในการสื่อสารความรู้สึกของแต่ละคน

คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ความประนีประนอม คุยกันด้วยเหตุผล และแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีสติ มีวุฒิภาวะ หลีกเลี่ยงการประชันอารมณ์ และการพูดให้ร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง นอกจากปัญหาภายในครอบครัวจะไม่บานปลายแล้ว ยังเป็นการแสดงตัวอย่างการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่ดีให้ลูกอีกด้วย

 

4 ผลกระทบ เมื่อลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน
อ้างอิง
Kansascityfamilylaw
IMOM

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST