ยอมรับเลยว่ายุคนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเจอกับปัญหาลูกติดโทรศัพท์มือถือ ติดแท็บเล็ต จนสูญเสียเวลาไปกับหน้าจอครั้งละเป็นชั่วโมง และหลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้การดูยูทูบเป็นข้อต่อรองให้เด็กๆ ยอมกินข้าว อาบน้ำ หรือทำอะไรที่ควรทำจริงๆ
องค์กร Common Sense Media ทำการศึกษาพบว่าร้อยละ 59 ของผู้ปกครองบอกว่าเด็กๆ มีอาการติดจอ ในขณะที่ร้อยละ 66 บอกว่าเด็กๆ ใช้เวลามากเกินไปกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์
มีการศึกษาระหว่างปี 2013-2017 พบว่าเด็กๆ วัย 0-8 ปี ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า จากเฉลี่ย 15 นาทีต่อวัน กลายเป็น 48 นาทีต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นการใช้สื่อเช่นนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุมากขึ้น
เราลองมาดูวิธีรับมือกับปัญหานี้กันดีกว่า
ทำไมต้องจำกัดการใช้สื่อ
สมาคมกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน หรือ AAP (American Academy of Pediatrics) บอกว่าการใช้สื่อที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น (ที่เกิดจากการใช้สื่อ) ปัญหาการเรียน ปัญหาการนอนหลับ ความผิดปกติของการกินและโรคอ้วน
นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงได้สำหรับวัยรุ่น
และการที่เด็กๆ ใช้เวลากับหน้าจอมือถือมากเกินไป ยังทำให้ขาดความสมดุลในชีวิต เพราะหมายความว่าเขาจะมีเวลาทำสิ่งอื่นน้อยลง เช่น ฝึกฝนพัฒนาการตามวัย การพบปะสังสรรค์กับเพื่อน กิจกรรมที่ได้ออกกำลังกาย การเล่น การอ่าน และอีกสารพัดกิจกรรมที่ลูกอาจจะพลาดไป เพราะมัวแต่เอาเวลามาจับจ้องหน้าจอ
งานวิจัยด้านระบบประสาทแสดงให้เห็นว่า เด็กเล็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) คือการพูดโต้ตอบกัน แต่การที่เด็กดูคลิปต่างๆ เป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งการได้รับสื่อทางเดียวไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษาในเด็กทารกและเด็กเล็ก และนำไปสู่ปัญหาทางพัฒนาการด้านภาษาได้อีก
แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าใช้มากเกินไป ดูง่ายๆ ก็คือเมื่อเริ่มเห็นว่ามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอยู่ในชีวิตของลูกเยอะเกินไป ลูกเริ่มมีปัญหากับพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพูด เช่น พูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างดาว ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาทางสังคมที่โรงเรียน หรือสังเกตว่าเมื่อลูกมีเวลา เขาอยากจะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างแรก และไม่นึกอยากทำอย่างอื่นเลย
ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นสัญญาณแบบนี้ แสดงว่ามันเริ่มเป็นปัญหาแล้วล่ะ
ควบคุมเวลาใช้จอของเด็กๆ ให้ดีขึ้นด้วย
1. กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน
คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเด็กๆ จะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทีวี มือถือ หรือแท็บเล็ตได้ครั้งละกี่นาทีต่อวันหรือต่อสัปดาห์ โดยเลือกกำหนดจาก
-
ใช้อายุลูกเป็นตัวกำหนด
ก่อนหน้านี้ AAP แนะนำว่าเด็กอายุต่ำกว่าสองปีไม่ควรใช้เวลากับหน้าจออะไรทั้งสิ้น ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่านั้น ควรจำกัดเวลาใช้ไม่เกินสองชั่วโมงต่อวัน แต่ต่อมา AAP ได้ปรับปรุงคำแนะนำดังนี้
• สำหรับเด็กอายุไม่ถึง 18 เดือน: ใช้เฉพาะการแชตวิดีโอเท่านั้น (เช่น กับผู้ปกครองที่เดินทางหรือญาติที่อยู่ห่างไกล)
• เด็กวัย 18-24 เดือน: เด็กสามารถรับชมโปรแกรมที่เลือกมาอย่างดี โดยที่เด็กและผู้ปกครองดูด้วยกัน
• เด็กวัย 2-5 ปี: เด็กสามารถรับชมโปรแกรมที่เลือกมาอย่างดี โดยที่เด็กและผู้ปกครองดูด้วยกันไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
• เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: AAP ไม่ได้กำหนดเวลาตายตัว แต่พ่อแม่ควรตกลงและจำกัดการใช้สื่อและประเภทของสื่อ โดยที่ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการใช้สื่อไม่รบกวนการนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย และพฤติกรรมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ
-
ใช้วันที่ เวลา และสถานการณ์เป็นตัวกำหนด
เช่น บางครอบครัวกำหนดว่าเด็กๆ จะได้ดูทีวีหรือยูทูบก็ต่อเมื่อทำการบ้านเสร็จ หรือหลังอาหารเย็นเท่านั้น หรือจะกำหนดช่วงเวลาที่ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เด็ดขาด เช่น ระหว่างมื้ออาหาร ระหว่างเวลาหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม
-
ใช้สถานที่เป็นตัวกำหนด
บางครอบครัวอาจกำหนดให้เอาทีวีและคอมพิวเตอร์ไว้ในพื้นที่ทั่วไป แทนที่จะไว้ในห้องนอน หรืออาจห้ามเอาเอาแท็บเล็ตและมือถือเข้าห้องนอน เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าควรใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างมีขอบเขต และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอน
2. กฎต้องเป็นกฎ
ไม่ว่าจะกำหนดขอบเขตอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่ความสม่ำเสมอ ไม่ใจอ่อนยอมตามลูก ช่วงแรกๆ ของการปรับพฤติกรรม เด็กๆ อาจงอแงเล็กน้อย แต่ถ้าคุณรักษากฎอย่างเข้มแข็ง เขาจะเริ่มปรับตัวได้
คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใจแข็ง แต่ไม่จำเป็นต้องใจร้ายกับลูก ไม่จำเป็นต้องดุหรือลงโทษรุนแรง เช่น ก่อนที่จะหมดเวลา ให้เตือนลูกว่า “อีก 10 นาทีจะหมดเวลาดูยูทูบแล้วนะจ๊ะ” ถ้าเกิดหมดเวลาแล้วลูกไม่ยอมทำตามข้อตกลง คุณอาจเสนอทางเลือก “หนูจะเก็บเองหรือจะให้คุณแม่เก็บ” ถ้าลูกอาละวาดคุณสามารถใช้วิธี time in/time out หรือรับฟังลูก แต่ยังไงก็ห้ามต่อเวลาเด็ดขาด เมื่อเขาเรียนรู้ว่าการอาละวาดร้องไห้ไม่ทำให้เขาได้ใช้ต่อ เขาก็จะเลิกพฤติกรรมนั้น
3. เปลี่ยนความสนใจของลูก
ถ้าคุณจำเป็นต้องให้ลูกเล่นแท็บเล็ตบ้างในช่วงเวลาที่คุณกำลังยุ่ง เช่น อาบน้ำ ทำความสะอาดบ้าน หรือเตรียมอาหารเย็น ให้หากิจกรรมที่ลูกสามารถทำควบคู่ไปกับคุณแทน เช่น ให้ลูกวาดรูประบายสีรอตอนคุณอาบน้ำ หรือให้ลูกช่วยเด็ดผักตอนที่กำลังเตรียมอาหาร ทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเสริมพัฒนาการของเขามากกว่าการใช้จอ
4. แค่เล่นสนุกก็ลืมใช้จอแล้ว
การเล่น ไม่ว่าจะเล่นอะไรก็ตาม ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เอาการใช้สื่อหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกไป แต่งานของเด็กๆ คือการเล่น ดังนั้น ควรมีเวลาให้เด็กๆ ได้เล่น ไม่ว่าจะเล่นทราย วาดรูประบายสี ยิ่งถ้าคุณมีส่วนร่วมด้วย จะทำให้เขาลืมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปได้เลย
หรือบางครั้งอาจสังเกตว่า ลูกมีความสนใจอะไรในโลกออนไลน์ แล้วเอาความสนใจนั้นออกมาในชีวิตจริงแทน เช่น ลูกชอบเจ้าหญิงเอลซ่า ก็อาจหาของเล่น สมุดวาดภาพระบายสี นิทานเกี่ยวกับเจ้าหญิงเอลซ่า ให้ลูกได้สนุกโดยที่ไม่ได้ใช้ตาดูอย่างเดียว
5. เป็นแบบอย่างที่ดี
ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่ต้องจำกัดการใช้สื่อ คุณเองก็ด้วย การที่พ่อแม่รักษากฎเดียวกัน เช่น ไม่เอามือถือออกมาใช้ช่วงกินข้าว จะทำให้ลูกเห็นคุณเป็นต้นแบบและยอมรักษากฎด้วย
6. ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวสำคัญที่สุด
การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การใช้สื่อที่มีประโยชน์จริงๆ แล้วก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่อยู่กับลูกเวลาที่เขาใช้สื่อ คอยถามและพูดคุยไปด้วย หรือใช้เวลาร่วมกันและพากันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น กิจวัตรแบบนี้ก็มีส่วนช่วยทำให้ลูกติดจอน้อยลง
NO COMMENT