เด็กมีปัญหา เป็นคำเรียกเพื่อบ่งบอกพฤติกรรมของเด็กที่มีนิสัยใจคอและพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว เก็บกด ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้
และเมื่อพูดถึง เด็กมีปัญหา เราอาจแบ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ ดังนี้
1. ปัญหาทางพฤติกรรม: เช่น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น ชอบทำร้ายตัวเอง หยาบคาย ใช้ความรุนแรง และก่อกวนผู้อื่น
2. ปัญหาทางการเรียนรู้: เช่น ไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีเท่าที่ควร ขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง เข้าใจและจดจำบทเรียนช้ากว่าคนอื่น
3. ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ: เช่น ความเครียด ความกลัว หรือภาวะซึมเศร้า
4. ปัญหาทางสุขภาพ: เช่น โรคซึมเศร้า โรคอ้วน หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
ที่มาและสาเหตุของ เด็กมีปัญหา มักเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู สถานการณ์ทางครอบครัว และสังคมรอบตัวเด็ก
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีส่วนสำคัญที่จะปกป้องลูกน้อยไม่ให้เติบโตเป็นเด็กที่มีปัญหา ด้วย 5 เทคนิคการเลี้ยงดูดังต่อไปนี้
1. เข้าใจธรรมชาติของลูกให้มากที่สุด

พ่อแม่หลายคนมักคิดว่าเด็กดี คือเด็กที่เรียบร้อย น่ารัก ว่านอนสอนง่าย ส่วนเด็กที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบเล่นโลดโผน ไม่ค่อยเชื่อฟัง มักถูกตำหนิว่าเป็นเด็กดื้อ แต่ความจริงแล้ว เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของลูก คอยสนับสนุนและช่วยเหลือเวลาที่ลูกมีปัญหา
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ตัดสินว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี ไม่เชื่อฟัง และไม่ได้ดังใจ ก็จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
2. แสดงความรักและความอบอุ่นอยู่เสมอ

ความรักและความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ครอบครัวมีความแน่นแฟ้นและมั่นคง การแสดงความรักจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ แม้ว่าลูกจะทำอะไรผิดพลาด ก็ยังคงได้รับการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่เสมอ
3. พ่อแม่มีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูก

ทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่จะถูกส่งต่อถึงลูก ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ที่ลูกจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ไม่ว่าลูกจะต้องเจอกับคนหรือสถานการณ์เลวร้ายนอกบ้าน แต่เมื่อกลับเข้าบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นคนที่แสดงออกเชิงบวกและทำให้ลูกสบายใจอยู่เสมอ
4. เลี้ยงลูกด้วยทางสายกลาง

การเลี้ยงลูกโดยยึดทางสายกลาง คือ การเลี้ยงลูกด้วยความยืดหยุ่น ไม่ตึงและไม่หย่อนมากเกินไป เช่น ไม่รักและปกป้องลูกมากเกินไป ไม่เข้มงวด แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยมากเกินไป ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางกายและสุขภาพใจที่ดี มีทักษะชีวิตที่ดี และสามารถปรับตัวกับสังคมที่จะเติบโตต่อไปได้
5. เป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริง

พ่อแม่ที่มีอยู่จริงไม่ได้หมายถึงการเป็นพ่อแม่ที่มีตัวตนหรือมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่หมายถึง การเป็นพ่อแม่ที่ลูกสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ เช่น มีเวลาให้ลูก เปิดใจรับฟังลูก เห็นคุณค่าในตัวลูก และให้โอกาสเมื่อลูกทำผิดพลาด เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เคารพและเห็นคุณค่าในตัวลูก ลูกก็จะเป็นเด็กที่รู้คุณค่าของตัวเอง และเคารพตัวเองด้วยเช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST