ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองและสถานการณ์ของประเทศที่ร้อนระอุคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่หลายคนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นชินกับภาพการออกมาแสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในสังคมของเด็กรุ่นใหม่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวอาจจะรู้สึกเป็นห่วงและกังวลใจ ไม่อยากให้ลูกแสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกทางการเมืองมากนัก
รวมถึงบางครอบครัวอาจจะไม่เห็นด้วยที่จะให้ลูกหลานหรือเด็กๆ ในครอบครัวออกไปร่วมชุมนุม จนกลายเป็นการออกคำสั่งและพยายามปิดกั้นความคิดและการแสดงออกของลูกมากเกินไป และเกิดเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัว
เราอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือและทำความเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้นอีกนิด เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนช่วยดูแลการแสดงออกของลูกให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
1. ยินดีที่ลูกสนใจการเมือง

การที่ลูกมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และรู้จักตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่รอบตัว เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะดีใจ เพราะการตั้งคำถาม ทำให้ลูก ได้รู้จักหาข้อมูล นำมาประกอบการคิดและวิเคราะห์ นำไปสู่การหาทางพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น
2. ไม่ควรให้เรื่องการเมืองมากระทบความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

บางครั้งความเห็นของคนในครอบครัวอาจจะไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพยายามโต้เถียงเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด อาจนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งและผิดใจกันในครอบครัว
ทางที่ดีคือทุกคนควรให้เกียรติในการตัดสินใจของกันและกัน ไม่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยอารมณ์หรือท่าทีที่รุนแรง หรือถ้ามีการขัดแย้งกันทางความคิดเกิดขึ้น ก็ควรปล่อยให้อารมณ์เย็นลง เปลี่ยนเรื่องคุย หรือเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เพื่อไม่ให้ความเห็นต่างมากระทบความสัมพันธ์ในครอบครัวมากเกินไป
3. เป็นผู้รับฟังที่ดี

คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจ เมื่อลูกนำข้อมูลหรือเรื่องราวใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง ด้วยการพยายามเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ต่อต้านหรือรีบตัดสินว่าลูกได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีสติและเหตุผล
เพราะการรับฟังของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม มีส่วนสำคัญในการลดความตึงเครียดในครอบครัวได้
4. ให้พื้นที่ในการแสดงออกความคิดเห็นกับลูก

เด็กทุกคนย่อมต้องการพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องใดก็ตาม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของลูกมากเกินไป หรือหากเห็นว่าลูกมีการแสดงออกที่เป็นอันตรายหรือไม่เหมาะสม อาจใช้วิธีพูดและแสดงความไม่สบายใจออกไป โดยไม่ใช้วิธีการห้าม หรือออกคำสั่งหรือไม่ให้ลูกแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ส่วนตัว เพราะจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกถูกปิดกั้น ต่อต้าน และไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST