นิสัยขี้อิจฉา มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีพี่หรือน้อง มีสาเหตุมาจากการรู้สึกว่าถูกแย่งความรัก ถูกเปรียบเทียบ และได้รับการปฏิบัติจากคุณพ่อคุณแม่แตกต่างกัน
พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่พอจะสังเกตได้ว่าลูกกำลังรู้สึกอิจฉาพี่น้อง หรือแม้แต่เด็กคนอื่น เช่น ลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ยอมเชื่อฟัง ทำร้ายตนเอง หรือแกล้งคนอื่น เพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ เด็กบางคนมีอาการเจ็บป่วยบ่อย แต่หาสาเหตุของอาการป่วยไม่ได้ เด็กบางคนแสดงออกเป็นอาการหวงของ ต่อต้าน และไม่ให้คนที่ตัวเองรู้สึกอิจฉาเข้าใกล้ เช่น ไม่ยอมเล่นกับน้อง ไม่ยอมให้น้องเข้าใกล้ และอาจเริ่มแยกตัวจากคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัว
หากปล่อยให้ลูกมีนิสัยขี้อิจฉาติดตัวต่อไป ก็มีแต่บั่นทอนความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเข้าสังคมยาก
ดังนั้น M.O.M จึงรวบรวมวิธีแก้ไขปัญหา เปลี่ยนลูกรักขี้อิจฉาให้กลับมาเป็นลูกที่น่ารักของครอบครัวเหมือนเดิมกันค่ะ
1. เข้าใจพฤติกรรมของลูกและอย่าลงโทษรุนแรง

การที่ลูกรู้สึกอิจฉาพี่น้อง อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกทุกคนเท่ากัน ดังนั้นหากปล่อยให้ลูกคนใดคนหนึ่งไม่ได้รับการตอบสนองบ่อยครั้ง หรือเป็นเวลานาน ลูกก็จะรู้สึกขาดความรัก น้อยใจ หรือเกิดความคิดเปรียบเทียบ ทำให้ยิ่งแสดงพฤติกรรมเพื่อเรียกร้องความสนใจ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพยายามแบ่งสนใจและเอาใจใส่ความรู้สึกของลูกแต่ละคนให้เท่ากันที่สุดเท่าที่จะทำได้
และไม่ควรใช้การลงโทษรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่เป็นที่รักและเปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้องมากขึ้น ทางที่ดี คุณควรจะกอดและแสดงความรัก เมื่อต้องให้ลูกหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากความอิจฉา เมื่อลูกอารมณ์เย็นลง จึงอธิบายเหตุผลว่าทำไมคุณถึงไม่อาจตอบสนองเขาทันทีได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณพ่อคุณแม่รักลูกน้อยลงแม้แต่น้อย
2. ให้ลูกๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกทุกคนมีทำกิจกรรมร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น เล่นกีฬาด้วยกัน ทำงานบ้านด้วยกัน และไปเที่ยวด้วยกัน เพราะการที่ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจในความรักของครอบครัว
ถึงแม้ว่าระหว่างที่ลูกๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน อาจทะเลาะกันบ้าง ขัดใจกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่การทำกิจกรรมด้วยกันจะทำให้ลูกสนิทสนม รัก และผูกพันกันมากขึ้น
3. อย่าบังคับให้พี่ต้องดูแลและเสียสละให้น้อง

การที่คุณพ่อคุณแม่คอยสอนให้ ‘พี่’ ต้องดูแลและเสียสละให้น้องเสมอ อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก เพราะความรักระหว่างพี่น้อง ไม่สามารถเกิดขึ้นจากคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ แต่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดี หรือการสอนให้ทั้งพี่และน้องเข้าใจความรักและการเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสมมากกว่า
4. มีวิธีตอบคำถามเชิงเปรียบเทียบของลูก

วันดีคืนดี ลูกอาจจะตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียบว่า ‘แม่รักลูกคนไหนมากกว่ากัน’ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เจอคำถามลักษณะนี้ ควรตั้งสติและตอบคำถามลูกให้ดี
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง เช่น “น้องยังทำได้ ทำไมพี่ถึงทำไม่ได้” หรือ “พี่ทำได้แล้ว น้องก็ต้องทำให้ได้เหมือนกัน” เพราะเป็นการปลูกฝังนิสัยแข่งขันและเปรียบเทียบกันเองให้ลูกไปโดยไม่รู้ตัว
5. สอนลูกให้เห็นใจ เข้าใจ และให้อภัย

สอนให้ลูกเห็นใจคนอื่น เริ่มจากสิ่งของหรือเรื่องง่ายๆ ที่ลูกแบ่งปันให้คนอื่นได้ และคุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมเมื่อลูกรู้จักการให้ ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การให้เป็นความรู้สึกที่ดี
และสอนให้ลูกรู้จักให้อภัย เช่น เมื่อเห็นว่าน้องกำลังขว้างปาข้าวของ และพี่กำลังจะเดินเข้าไปต่อว่าน้อง คุณแม่อาจบอกกับพี่ว่า “น้องกำลังโกรธและปาของอย่างนี้ไม่น่ารักใช่ไหมคะ เดี๋ยวแม่จะไปคุยกับน้องว่าน้องโกรธเรื่องอะไร หนูอย่าโกรธน้องนะคะลูก”
COMMENTS ARE OFF THIS POST