READING

เมื่อความรุนแรงอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด: 4 เ...

เมื่อความรุนแรงอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด: 4 เทคนิคคุยกับลูกเรื่องความรุนแรงในสังคม

ความรุนแรง

เหตุการณ์รุนแรงในสังคมมักถูกนำเสนอและได้รับความสนใจเมื่อเหตุการณ์นั้นดำเนินมาถึงจุดที่ร้ายแรงและเกิดความสูญเสียที่ยากเกินจะเยียวยา

การให้ลูกได้รับรู้เรื่องราว ความรุนแรง ในสังคม ในแง่หนึ่งก็ช่วยเตือนใจให้ลูกรู้จักภัยอันตรายรอบตัวมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากปล่อยให้ลูกรับรู้เรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากข่าวหรือคำบอกเล่าของคนอื่นเพียงอย่างเดียว อาจสร้างความตื่นตกใจและหวาดกลัวให้ลูก แต่ไม่ทำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นคนที่ควรเล่าและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงให้กับลูก สอนให้ลูกรู้จักระมัดระวัง สังเกตความผิดปกติ และรู้ว่าควรรับมืออย่างไรหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด

แต่คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดถึง ความรุนแรง กับลูกในแง่มุมใดบ้าง เรามีเทคนิคดีๆ มาบอกค่ะ

1. พูดคุยและให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรง

พูดคุย

เด็กๆ มักจะตกใจและฝังใจ เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด เพราะประสบการณ์ยังน้อย จึงไม่เคยเตรียมใจว่าโลกมักมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ

เมื่อไม่เคยคาดคิดว่าจะพบเจอความรุนแรงกับตัว ทำให้เด็กไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร จึงเลือกที่จะเก็บประสบการณ์เลวร้ายไว้กับตัว ไม่กล้าบอกหรือขอความช่วยเหลือจากใคร รวมถืงคุณพ่อคุณแม่

ดังนั้น แทนที่จะรอให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นกับลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกพูดคุยเรื่องความรุนแรงใกล้ตัวได้ เช่น สมมติว่าถ้าลูกเห็นเพื่อนถูกเด็กหลายคนรุมกลั่นแกล้งรังแกจนได้รับบาดเจ็บ ลูกจะทำอย่างไร หรือถ้าลูกถูกคุณครูลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเกินไป ลูกควรทำอย่างไร เพราะการเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ว่าความรุนแรงอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และสอนให้ลูกได้รู้วิธีรับมือที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกสามารถควบคุมสติ ไม่หวาดกลัว และรู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร เพื่ไม่ให้คววามรุนแรงนั้นเกิดขึ้นอีก

2. พูดความจริงกับลูก

ความจริง

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจไม่อยากให้ลูกรับรู้เรื่องราวความรุนแรง เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกหวาดกลัวหรือลูกอาจจะเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ แต่ความจริงแล้ว หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นใกล้ตัวลูก เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นคนแรกๆ ที่บอกความจริงให้ลูกรับรู้ เพื่อปลอบใจ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้ลูกระมัดระวังตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเชื่อใจในคุณพ่อคุณแม่ได้เสมอ

3. เตรียมแผนปลอดภัยร่วมกับลูก

แผน

เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนเกิดเหตุร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวและสร้างแผนผังความปลอดภัยในกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูก และซักซ้อมให้ลูกเข้าใจ เช่น หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่โรงเรียน ลูกควรจะบอกใครเป็นคนแรก หากมีใครพยายามเข้ามาคุกคามหรือทำร้ายลูกตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ ลูกควรขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะการมีแผนการไว้ให้ลูกล่วงหน้า จะช่วยให้ลูกไม่ตกใจกลัวจนไม่รู้จะทำอย่างไรเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้ลูกมีวิธีปกป้องตัวเองเบื้องต้นได้ดีขึ้นอีกด้วย

4. ให้อำนาจลูกปกป้องตนเองและคนอื่นๆ

บอก

นอกจากจะพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับลูก เพื่อให้ลูกปกป้องและดูแลตัวเองได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถส่งเสริมให้ลูกช่วยเป็นหูเป็นตา ไม่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง เช่น อนุญาตให้ลูกตัดสินใจว่าจะช่วยเหลือคนที่ได้รับความรุนแรงอย่างไรโดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือตกอยู่ในอันตราย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่เด็กจะทำได้ คือการบอกให้ผู้ใหญ่เป็นคนให้ความช่วยเหลือ 

การให้อำนาจลูกในการดูแลตัวเองและคนอื่นจะช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงทำให้ลูกรู้ว่าปัญหาความรุนแรงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามอีกด้วย

อ้างอิง
childdevelopmentinfo
commonsensemedia

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST