READING

เมื่อพูดถึง ‘ของเล่น’ ช่วงวัย 1-3 ขวบ ชิ้นแรกที่ค...

เมื่อพูดถึง ‘ของเล่น’ ช่วงวัย 1-3 ขวบ ชิ้นแรกที่คุณแม่จะนึกถึงคือ…

จากผลสำรวจของคุณแม่ 141 คน ของน้องๆ ในช่วงวัย 1-3 ขวบพบว่า เมื่อพูดถึง ‘ของเล่น’ ชิ้นแรกที่คุณแม่จะนึกถึงคือ…

ตัวแทนคุณพ่อคุณแม่จากแต่ละอันดับ จะอาสามาเล่าให้ฟังเองว่าเพราะอะไรถึงเลือกของเล่นแบบนี้กัน…

1. เล่นกับพ่อแม่

คุณแม่เค้ก กับน้องเอแคลร์ อายุ 1 ขวบ

ตอนเด็กๆ ก็พยายามหาของเล่นมาให้น้องเล่นเยอะ แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าน้องชอบเล่นกับพ่อแม่มากที่สุด มากกว่าของเล่นชิ้นไหนๆ เลย เขาจะเล่นทุกอย่างถ้าพ่อแม่เล่นด้วย และน้องจะอารมณ์ดีมาก เล่นได้นานและสนุกกับมัน พ่อกับแม่ก็สนุกไปด้วย

ทุกวันนี้เวลาจะทำอะไรก็จะให้น้องมีส่วนร่วมด้วยหมด เช่น กินข้าวพร้อมกัน น้องก็จะถือช้อนป้อนแม่บ้าง กินเองบ้าง (หกเลอะเทอะเป็นส่วนมาก) แต่เราจะเห็นรอยยิ้มของลูกค่ะ แต่ลูกจะกินข้าวได้ดี กินเก่ง หรือบางครั้งแค่เล่นจ๊ะเอ๋กัน ร้องเพลงแล้วจับมือลูกเต้นไปด้วยกัน วิ่งไล่กัน ให้คุณพ่ออุ้มลูกหนีหรือจูงลูกหนี แล้วเราวิ่งไล่ตาม เล่นกันเองแบบนี้ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยค่ะ

และถ้าเป็นการอ่านหนังสือด้วยกัน ก็เอามาชี้ภาพให้ลูกดู ฝึกพูดตามเรา เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาให้เขา แล้วเราก็ค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาอื่นๆ เช่น สีหรือจำนวนให้เขา เวลาเล่นเสร็จ ก่อนจะเปลี่ยนไปเล่นของเล่นชิ้นอื่น ก็จะสอนให้เขาเก็บก่อน น้องก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่เราก็พยายามสอนไปเล่นไปค่ะ

2. พ่อแม่ทำให้ลูกเล่น (DIY)

คุณแม่มด กับน้องแฝดมิวนิค & มิลาน อายุ 2 ขวบ 4 เดือน

เราชอบทำเองที่สุดค่ะ มีความสุขที่ได้ทำ แล้วลูกก็ชอบเล่นด้วย เอามาหมุนเล่น อย่างอันนี้จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร เรียก ‘กระบอกหมุนๆ’ ได้มั้ย เพราะทำจากกระป๋องขนม

ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือและตาให้สัมพันธ์กันด้วยนะคะ หมุนด้วยมือแต่ตาต้องมองตามด้วยค่ะ เผื่อใครอยากลองทำบ้างนะคะ ทำตามนี้ได้เลย

 

อุปกรณ์

– กระป๋องทรงกระบอก ยาวนิดนึง
– รูปภาพน่ารักๆ ที่ขนาดพอดีกับกระป๋อง
– กรรไกร
– เทปกาว

 

วิธีทำ
– วัดและตัดรูปภาพให้ความยาวพอดีกับขอบกระป๋อง และมีความกว้างพอที่จะพันรอบกระป๋องได้
– แบ่งกระดาษเป็น 3-4 ส่วน แล้วตัดตามแนวขวาง
– นำกระดาษที่แบ่งไว้มาพันรอบกระป๋อง
– ติดเทปกาวที่กระดาษ (อย่าติดโดนกระป๋อง เพราะจะทำให้หมุนไม่ได้)
– ติดทีละภาพ ให้ภาพเรียงลำดับกัน
– ถ้าต้องการให้เขย่าแล้วมีเสียง ควรใช้กระป๋องโลหะ แล้วใส่เมล็ดถั่วหรือลูกปัดลงไป
– หุ้มปลายกระป๋องและปิดกาวให้เรียบร้อยก่อนนำมาประดิษฐ์

คุณแม่ปอ กับน้องแฝดเอื้อ & ออม อายุ 1 ขวบ 4 เดือน

ส่วนใหญ่ก็ดัดแปลงจากของที่มีในบ้าน ของที่ไม่ใช้แล้วบ้างค่ะ เช่น
1. มักกะโรนีกับขวดเก็บนม ให้ลูกเอามักกะโรนีใส่ขวดเก็บนมทีละตัว

ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือ สายตา และการควบคุม แรกๆ น้องยังทำไม่ได้ แต่พอเล่นไปสักวันสองวันก็เริ่มใส่ได้
2. ตะกร้าใยแมงมุม เอาตะกร้าใส่ผ้าขนาดปานกลางกับเชือกไปรษณีย์มาร้อยให้คล้ายกับใยแมงมุม จากนั้นก็เอาของเล่นที่ลูกชอบใส่ลงไปสัก 4-5 ชิ้น แล้วให้ลูกพยายามเอาของเล่นออกมา

ช่วยฝึกการแก้ปัญหา ความอดทน และความพยายาม
3. กล่องเสียบบัตร เอากล่องใส่นมมาเจาะให้เหมือนกระปุกออมสิน แล้วก็หาบัตรที่ไม่ใช้แล้วมาสัก 10 ใบ ให้ลูกเอาบัตรเสียบลงตรงช่องในกล่อง

ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก
4. แป้งโด ใช้แป้งอเนกประสงค์ สีผสมอาหาร น้ำมันพืช เกลือ ครีมออฟทาร์ทาร์ และน้ำร้อนมาเทรวมกัน คนให้เข้ากัน ปั้นให้เป็นก้อนๆ เอาให้ลูกเล่นแทนดินน้ำมัน

ช่วยฝึกการใช้นิ้วมือและเสริมจินตนาการค่ะ

 

ความรู้สึกของเราคือลุ้นทุกครั้ง ลุ้นว่าลูกจะเล่นไหม ลุ้นว่าความสนใจของเขาจะมีมากน้อยแค่ไหน ทำให้เล่นเขาเล่นสัก 10 นาทีก็เบื่อแล้ว เราก็ให้ช่วยกันเก็บ พรุ่งนี้ก็เอามาเล่นใหม่ ได้เห็นพัฒนาการของเขา จากวันแรกที่เล่นไม่ได้ เล่นไม่เป็น วันที่สองก็เริ่มทำได้ วันที่สามทำได้ดีขึ้น จนทำได้คล่อง มีความสุขทุกครั้งที่ทำให้เขาเล่น พยายามจะหาของมาทำของเล่นชิ้นใหม่ๆ ให้เขา ถ้าเขาเล่นแล้วชอบเราก็มีความสุขค่ะ

3. ของเล่นที่มีเสียงและปุ่มกด

คุณแม่สุ กับน้องภีม อายุ 3 ขวบ 10 เดือน

ตอนน้องยังเล็กๆ กำลังหัดเดิน แม่จะซื้อรถหัดเดินแบบที่มีปุ่มกด มีไฟกะพริบและเสียงดนตรีสีสันสดใสให้เขาค่ะ เพาะมันช่วยให้น้องมีความกระตือรือร้น อยากหัดเดินด้วยตัวเองให้ได้มากขึ้น แล้วบนรถก็จะมีของเล่นน่ารักๆ ติดอยู่ด้วย พอน้องกดไปก็จะมีไฟกะพริบ มีเสียงดนตรี เขาก็จะหันตามเสียง ฟังเสียงแบบต่างๆ ชวนให้เขาอารมณ์ดีตลอด เวลาเล่นเขาจะมีความสุขมาก ยิ้มแย้มตบมือหัวเราะชอบใจใหญ่เลยค่ะ (ยิ้ม)

4. เลโก้-บล็อกไม้

คุณแม่อ๋อย กับน้องแฝดน้ำชา & ชาช่า อายุ 2 ขวบ 10 เดือน

เด็กๆ เขาชอบต่อของเล่น มันช่วยเสริมพัฒนาการทั้งร่างกายและความคิด ทำให้มีสมาธิอยู่นิ่งๆ ได้ อย่างเลโก้ชิ้นใหญ่ๆ เขาจะจินตนาการเองว่าจะทำสูงๆ พอต่อได้สูงก็ยิ่งดีใจ และถ้าสามารถตั้งได้ด้วยจะสนุกชอบใจใหญ่เลยค่ะ

ส่วนบล็อกไม้ เขาชอบเล่นแบบที่เป็นผลไม้มีมีดหั่น ที่บ้านจะมีบล็อกไม้เป็นเตาอบ เป็นรูปทรงเค้ก พวกเขาก็ชอบเล่นกันมาก ผลัดกันเล่น เป่าเค้กบ้าง ขายอาหาร ขายผลไม้ นั่งเล่นกันสองคนเพลินๆ แต่ก็แอบมีแย่งกันเล่นบ้างค่ะ (ยิ้ม)

5. เล่นของใช้ในบ้าน

คุณแม่ไวท์ กับน้องมีดี วัย 1 ขวบ

น้องจะชอบไปแกะเเผ่นรัดเอวของอาม่าเล่น เพราะจะมีเสียงเเคว่กๆ ก็แกะๆ แปะๆ วนไปค่ะ หรือถ้าซนมากก็จะเอาทิชชูมาฉีกเล่น แกะถุงทิชชูเปียก เล่นกล่องกระดาษ สไลด์มือถือของพ่อเเม่ แต่ไม่สนใจมือถือของเล่นเลยสักนิด

และวิธีเล่นของเขาคือรื้อของออกมาแล้วโยนให้เราเก็บ ของในบ้านทั้งนั้นเลยค่ะ (หัวเราะ) อย่างขวดน้ำพลาสติกนี่ชอบมาก จับๆ บีบๆ เเล้วมีเสียงกรอบเเกรบ ได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วย หรืออะไรก็ได้ที่เป็นของใช้ของเรา น้องจะชอบแย่งไปเล่น โดยเฉพาะขวดครีม หลอดครีม กระปุกครีม เขาเปิดเองได้หมด

หรือไม่ก็นั่งเกาะเก้าอี้แบบมีล้อแล้วให้เราเข็น หมุนเปลี่ยนตามทิศที่เขาบอก หรือบางทีก็เข็นเก้าอี้เล่นเอง เพื่อฝึกเดินและทรงตัว เเต่เราต้องเลือกเก้าอี้ที่มั่นคงหน่อย อย่างตัวที่เล่นอยู่ก็มีหกขา ไม่พลิกคว่ำง่าย แล้วเวลาเขาเดินผ่านอะไรก็จะสังเกตรอบๆ แล้วแวะเล่นระหว่างทาง เช่น ไปเปิดลิ้นชัก อันนี้ก็ต้องคอยเดินตามดูเขาไปด้วย แค่ของใช้ในบ้านก็ฝึกพัฒนาการเขาได้หลายด้านแล้ว และยังเป็นการสร้างความรักความอบอุ่นในบ้านด้วยวิธีง่ายๆ แต่ได้ประโยชน์แถมประหยัดอีกด้วยค่ะ

6. ของเล่นลากจูง

คุณแม่บี กับน้องโบเก้ อายุ 1 ขวบ

เขาชอบลากของที่มันมีน้ำหนักถ่วงไว้ เช่น รถของเล่นที่มีเชือกผูก ขอให้เป็นอะไรก็ได้ที่มีสาย น้องจะไปจับมาลากหมด ทีนี้พอยืนและเดินได้ก็ยิ่งชอบค่ะ ถ้าเห็นสายผ้าม่านหลุดมานี่ไม่ได้เลย ต้องเข้าไปจับมาดึงมาลาก บางทีก็ไปดึงเอาสายโทรศัพท์มาจูงเดิน จนเราต้องถอดสายออกให้เขาลาก พามันเดินเล่นไปทั่วบ้าน จะบอกว่าเป็นของที่มีอยู่ในบ้านก็ได้นะคะ แต่หลักๆ แล้วคือ ขอให้ลากได้ไว้ก่อนค่ะ (หัวเราะ)

7. บ้านจำลอง

คุณแม่ปอ กับลูกๆ ทั้งสี่คน จากัวร์ อัลฟ่า เบนซ์ และบีเอ็ม

เล่นได้พร้อมกันหลายคน เขาจะรู้จักแบ่งปันกัน และในบ้านพลาสติกจะมีของเล่นที่เปิดปิด กดมีเสียง เป็นเครื่องครัว ไมโครเวฟ ตู้เย็นจำลองอยู่ในนั้นด้วย พวกเขาก็ชอบเล่นบทบาทสมมุติกัน ได้ฝึกคิดไปด้วย แล้วในบ้านจะมีชั้นหนังสือเล็กๆ ตั้งไว้ให้เขาหยิบอ่านได้ด้วยนะคะ

8. แฟลชการ์ด

คุณแม่เก๋ กับน้องมีโม่ อายุ 2 ขวบ 10 เดือน

เป็นวัยที่เขากำลังเรียนรู้ เพราะแฟลชการ์ดไม่ได้แค่ช่วยกระตุ้นให้ลูกสนุกกับการเรียนรู้นะคะ แต่เขายังได้จดจำคำศัพท์ เรียนรู้เรื่องสี ฝึกออกเสียง ฝึกกล้ามเนื้อมือได้ด้วย โดยการให้เขาลองวาดมือตามเส้น ที่สำคัญคือได้ใช้เวลาพูดคุยต่อยอดไปคำอื่นๆ ได้ด้วยค่ะ


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST