READING

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่มีเพื่อน?!...

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่มีเพื่อน?!

ลูกไม่มีเพื่อน

การมีเพื่อน สำหรับเด็กๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กเติบโตและมีพัฒนาการ เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสังคม และทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าควรพูดคุยหรือมีพฤติกรรมกับใครด้วยท่าทีอย่างไร แสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ด้วยการเรียนรู้ที่มาจากการเล่นกับเพื่อน

แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่ลองพาลูกไปเข้าสังคมหรือโรงเรียนที่มีเพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน ก็อาจต้องเจอกับปัญหา ลูกไม่มีเพื่อน หรือลูกไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเด็กคนอื่นได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเด็ก แต่ที่จริงแล้ว หากปล่อยให้ลูกถูกปฏิเสธจากเพื่อนบ่อยเข้า อาจทำให้ลูกเกิดปัญหาในจิตใจ เช่น ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่พอใจสังคม ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ถ้าการถูกปฏิเสธเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อาจทำให้ลูกเกิดภาวะซึมเศร้าได้

แต่ปัญหาเล็กๆ ที่ไม่เล็กนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือได้ ด้วยการพิจารณาพฤติกรรมของลูกก่อนว่ามีอะไรที่ทำให้ ลูกไม่มีเพื่อน หรือเด็กคนอื่นไม่อยากเล่นด้วยแล้วหาทางช่วยเหลือและแก้ไข โดยไม่ใช้วิธีดุด่า แต่ค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจ แล้วลูกจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น

1. ฝึกให้ลูกได้จัดการกับอารมณ์ของตนเอง

havenofriends_web_1

การสอนให้ลูกได้รู้จักอารมณ์ของตนเองเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะลูกจะได้จัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่อาจจะสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์โกรธที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายเวลาที่เล่นอยู่กับเพื่อน เช่น เมื่อลูกเริ่มกำมือแน่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกร้อนผ่าวที่ใบหน้า แบบนี้แปลว่าลูกกำลังโกรธ เมื่อลูกโกรธ ให้ลูกเดินออกมาจากบริเวณนั้น สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ นับหนึ่งถึงสิบช้าๆ เมื่อลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นแล้วค่อยกลับมาเล่นกับเพื่อนต่อได้

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า เราจะไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะโกรธแค่ไหน ก็จะไม่ตะโกน พูดจาไม่ดี หรือทำร้ายร่างกายและจิตใจเพื่อนเด็ดขาด

2. สอนให้ลูกมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

havenofriends_web_2

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน และชอบช่วยเหลือคนอื่นได้ ด้วยการทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นบ่อยๆ เช่น คุณแม่อาจช่วยคุณยายถือของ เมื่อลูกเห็นก็อธิบายให้ลูกฟังว่ากำลังทำอะไรอยู่ ลูกจะค่อยๆ ซึมซับและอยากทำตามในที่สุด

เช่นเดียวกันกับการแบ่งปัน หากลูกกำลังเล่นของเล่นหรือกินขนมอยู่ลองพูดให้เขาได้แบ่งปันพ่อแม่หรือเพื่อนตามความสมัครใจของเขา แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่บังคับ เพราะเด็กจะยิ่งสับสนว่าและเข้าใจว่าการแบ่งปันเป็นเพราะคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่เสียมากกว่า

3. สอนมารยาทการเข้าสังคมให้แก่ลูก

havenofriends_web_3

คงไม่มีใครชอบการพูดจาด้วยน้ำเสียงที่ฉุนเฉียวและเกรี้ยวกราด ดังนั้นการสอนให้ลูกเป็นคนที่พูดจาสุภาพอ่อนโยนไม่ว่าจะกับผู้ใหญ่หรือเด็กด้วยกันก็เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้การอธิบายให้เด็กเข้าใจเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ว่าหากลูกพูดจาไม่เพราะก็จะไม่มีใครชอบ ลองกลับกันถ้าเพื่อนของลูกมาพูดกับลูกแบบนี้ ลูกก็คงไม่ชอบเช่นกัน

4. ฝึกเรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่น

havenofriends_web_4

เช่นเดียวกันกับการฝึกเรียนรู้อารมณ์ของตนเอง การฝึกให้ลูกได้เรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเด็กทำพฤติกรรมบางอย่างแล้วเพื่อนตอบสนองอะไรกลับมา ถ้าลูกไม่เข้าใจก็จะไม่รู้เลยว่าเพื่อนโกรธหรือชอบใจกันแน่ ทางที่ดีคือการสอนให้เด็กได้เรียนรู้อารมณ์ผู้อื่นไปด้วย เช่น สังเกตสีหน้าท่าทางว่าเป็นอย่างไร คำพูดเป็นอย่างไร คิดว่าเพื่อนกำลังโกรธอยู่หรือเปล่า ถ้าเขาไม่พอใจลูกก็ต้องหยุดพฤติกรรมนั้นๆ แล้วกล่าวขอโทษเพื่อน

5. อธิบายให้ลูกยอมรับในความเป็นจริง

havenofriends_web_5

คุณพ่อคุณแม่อาจบอกให้ลูกลองสังเกตว่าเพราะอะไรเพื่อนถึงไม่ยอมเล่นกับเขา หรือเพื่อนไม่ชอบลูกด้วยเหตุผลอะไร หากลูกพยายามปรับตัวแล้ว แต่เพื่อนยังคงไม่ยอมเล่นด้วยอยู่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้เขายอมรับในความจริงว่าเราไม่สามารถไปบังคับให้ใครมาชอบเราได้ทั้งหมด และแนะนำให้ความสนใจคนที่อยากเล่นกับลูกแทนที่จะพยายามฝืนหรือเปลี่ยนใจคนอื่นจะดีกว่า

คุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษาเรื่องการสอนทักษะทางสังคม (social skill) เพิ่มเติมได้ที่นี่

 

 

 

อ้างอิง
edtechcreation
trueplookpanya
เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ
theasianparent

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST