ตอนที่ลูกลูกเป็นเบบี๋ คุณพ่อคุณแม่ก็เฝ้ารอให้ลูกรักส่งเสียงอ้อแอ้ ถึงแม้จะเป็นการสื่อสารที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลยก็ตาม พอลูกโตขึ้นอีกหน่อย จากแค่ส่งเสียงอ้อแอ้ ก็เริ่มเล่นน้ำลาย เป่าปาก และส่งเสียงจากลำคอด้วยท่าทางที่สื่อความหมายมากขึ้น ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นการออกเสียงเลียนแบบคำพูดของคุณพ่อคุณแม่
มันก็ควรจะราบรื่นแล้วใช่ไหมคะ แต่ปัญหาก็คือ ช่วงเวลาที่ลูกควรจะพูดกับคุณพ่อคุณแม่รู้เรื่อง กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ลูกชอบส่งเสียงกรี๊ดมากกว่าไปได้!
ปัญหาเด็กชอบกรี๊ดพบมากในช่วงวัย 1-3 ปี สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการที่เขาถูกขัดใจบ้าง หงุดหงิดบ้าง และเมื่อลูกโตขึ้นพฤติกรรมการเอาแต่ใจและกรี๊ดก็จะลงน้อยลง แต่ทั้งนี้ การรับมือกับการกรี๊ดของลูกก็สำคัญ เพราะอาจส่งผลให้ลูกยึดเอาการกรี๊ดเป็นหนึ่งในวิธีเอาชนะคุณพ่อคุณแม่ต่อไปและส่งผลเสียในระยะยาวได้
แต่ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจที่มาของการกรี๊ดของลูกวัยนี้กันก่อนค่ะ
1. พัฒนาการด้านภาษาของลูกยังไม่ดีพอ
ถ้าลูกอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ่นไป ซึ่งเป็นวัยที่ลูกเริ่มหัดพูดคำง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ การที่ลูกร้องงอแงหรือกรี๊ดอาจเป็นสัญญาณเพื่อบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกกำลังรู้สึกหรือต้องการบางอย่างที่ยากเกินจะสื่อสารด้วยวิธีการทั่วไปได้ เช่น โกรธที่ถูกขัดใจ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำอะไรให้ และไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองออกมาได้ จึงส่งเสียงกรีดร้องออกมานั่นเองค่ะ
2. ลูกเข้าใจว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล!
ทฤษฎีพัฒนาการทางความคิดของ Jean Piaget นักจิตวิทยาด้านกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กวัยแรกเกิดถึงวัยรุ่น กล่าวไว้ว่า เด็กวัยก่อนเข้าเรียนจะมีพัฒนาการทางความคิดที่ยังไม่เป็นแบบผู้ใหญ่ จึงเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล (Preoperational stage) ทำให้เวลาเด็กมีความเอาแต่ใจ เมื่อถูกขัดใจก็จะหงุดหงิด ไม่ชอบ โวยวาย กรี๊ด และเมื่อลูกโตขึ้นพร้อมกับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ที่ถูกต้องและไม่ตามใจมากเกินไป ก็จะทำให้ลูกลดความเอาแต่ใจตัวเองลงได้
3. พื้นฐานอารมณ์ของลูก
คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกว่าทำไมลูกคนอื่นไม่เห็นชอบกรี๊ดเหมือนลูกเรา นั่นเป็นเพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน เพราะพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (Temperament) ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจจะปรับตัวอะไรกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย จึงไม่ค่อยแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา แต่เด็กบางคนปรับตัวยาก สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิดและไม่ชอบใจ จึงส่งเสียงกรี๊ดเพื่อแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ
4. คุณพ่อคุณแม่เป็นฝ่ายใช้อารมณ์ในการจัดการเวลาที่ลูกกรี๊ด
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเผลอและลืมตัวใช้อารมณ์กับลูก เวลาที่ลูกส่งเสียงกรีดร้อง บางครั้งก็พยายามใช้เสียงที่ดังกว่าเพื่อให้ลูกตกใจและเบาเสียงตัวเองลง เมื่อทำบ่อยครั้ง แทนที่จะได้ผลดี กลับทำให้ลูกจดจำวิธีการใช้เสียงเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกไม่พอใจ กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กที่ชอบส่งเสียงกรี๊ดได้ค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST